15.11.54

วิปัสสนาภูมิ ๖

การปฏิบัติวิปัสสนาและวิปัสสนาภูมิ 6

การปฏิบัติธรรมมในพุทธศาสนานิยมอยู่ 2 อย่างคือ สมถกัมมัฎฐานอย่างหนึ่ง และวิปัสสนากัมมัฎ
ฐานอีกอย่างหนึ่ง สมถะ เป็นอุบายให้เกิดความสงบใจ และทำให้มีฌานอภิญญา สามารถแสดงฤทธิ์ได้
เป็นต้น แต่ยังต้องเวียนวนอยู่ในวัฏฏสงสาร การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นอุบายเรืองปัญญา สามารถรู้แจ้ง
อริยสัจจ์ 4 ถ้าวาสนาบารมีแก่กล้าจะได้บรรลุมรรค ผล นิพพานในปัจจุบันนี้ก็ได้ เมื่อยังไม่อาจบรรลุ
ธรรมดังกล่าวแล้วนี้ ก็ยังเป็นพลวปัจจัยให้ได้เกิดมาพบพุทธศาสนาอีกจนกว่าจะบรรลุมรรค ผล
นิพพานในอนาคตกาลแน่นอน เพราะผู้ปฏิบัติวิปัสสนาทุกคนเบื้องต้นต้องมีศีล 5 หรือศีล 8 คือศีลของ
คฤหัสถ์ ส่วนบรรพชิตก็อีกประเภทหนึ่ง เมื่อรักษาศีลได้บริสุทธิ์แล้ว จึงจะเข้าถึงวิสุทธิ 7 ข้อแรก
ต่อจากนั้นก็พยายามกระทำจิตให้บริสุทธิ์ด้วยการทำสมาธิชั่วขณะ ๆ หนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ขณิกสมาธิ โดย
การกำหนดรูปนาม ขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา โดยดำเนินทาง มหาสติปัฏฐาน 4
ซึ่งเป็นทางสายเอกทางเดียวที่จะพาผู้ปฏิบัติไปถึงนิพพานได้ ก่อนอื่นโยคี (ผู้บำเพ็ญเพียรเพื่อละกิเลส)
ทุกคนควรศึกษาเรื่องวิปัสสนาภูมิ ให้เข้าใจแจ่มแจ้งก่อนการปฏิบัติ เพราะวิปัสสนาภูมิ 6 หมวดนี้ เป็น
ภูมิเท่ากับเป็นพื้นที่ที่จิตของผู้ปฏิบัติจะต้องโคจรอยู่ในสถานที่เหล่านี้เป็นอารมณ์จึงจะสามารถเกิด
ปัญญาผ่านญาณ 16 ได้ วิปัสสนาภูมิมี 6 ภูมิคือ
1. ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อให้สั้นคือ รูปนาม
2. อายตนะ 12 ได้แก่ อายตนะภายใน 6 อายตนะภายนอก 6 เป็นเครื่องสืบต่อให้เกิด ความรู้
อารมณ์ต่าง ๆ ได้ (จะอธิบายข้างหน้า) ได้แก่รูปนาม
3. ธาตุ 18 ธาตุ หมายถึง สภาพของรูปนามที่ทรงไว้ ซึ่งสภาวะที่ยืนให้พิสูจน์ได้ปรากฏเองตาม
ธรรมชาติเป็นปรมัตถ์มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวะ ไม่มีการประกอบกิจอย่างอื่น ทำแต่หน้าที่ของตน
เท่านั้น แบ่งเป็น 3 พวกคือ
1. ธาตุรับ ได้แก่ทวาร 6 ที่มีอยู่กับรูปนาม
2. ธาตุกระทบ ได้แก่อารมณ์ 6 ที่มีอยู่ทั่วไป
3. ธาตุรู้ ได้แก่จิต 89 ก็เป็นธาตุ
4. อินทรีย์ 22 คำว่า อินทรีย์ หมายถึงธรรมชาติที่เป็นใหญ่ปกครองกิจต่าง ๆ ในหน้าที่ของตน ๆ มี
ตาเป็นต้น ชื่อว่าจักขุนทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของตา และต่อไปก็เป็นโสตินทรีย์ คือโสตะ +
อินทรีย์ = ความเป็นใหญ่ของหู มีหน้าที่รับเสียงอย่างเดียว จะนำไปเปลี่ยนหน้าที่กับตาก็ไม่ได้
5. อริยสัจจ์ 4 เป็นปรมัตถธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เองโดยชอบและพระอริยเจ้าทั้งหลายได้รู้
ตามด้วยเป็นความจริง ที่เป็นจริง ที่ประเสริฐ ไม่วิปริต ได้แก่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธ
องค์ทรงกล่าวว่าสัจจะมี 2 ประเภทคือโลกียสัจจะ 1 โลกุตตรสัจจะ 1
โลกียสัจจะ ได้แก่ ความจริงที่ประกอบทางกาย วาจา ใจ เป็นการรับรองกันโดยสมมติ
บัญญัติ
โลกุตตรสัจจะ ได้แก่ อริยสัจจ์ 4 ซึ่งเป็นธรรมที่พ้นจากเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่ในภพ
คือพ้นจากโลก
6. ปฏิจจสมุปบาท 12 ได้แก่ หลักธรรมว่าด้วยการกำเนิดของชีวิตในภพทั้ง 3 เป็นธรรมชาติที่หา
เบื้องต้นไม่ได้ เป็นสภาวะธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกันไปทั้งในอดีต อนาคต
และปัจจุบัน ย่อมเกี่ยวพันกันดุจลูกโซ่ผลัดกันเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้นามรูปเกิดขึ้นและวนเวียน
อยู่เช่นนั้น ธรรมเหล่านี้คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา
อุปาทาน ภพชาติ ชรามรณะ เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น
---------------------------
วิปัสสนาภูมิที่ 1 คือ ขันธ์ 5
คำว่า ขันธแปลว่ากอง เพราะเป็นที่รวมธรรมชาติทั้งปวงเข้าด้วยกัน กองรูปได้แก่
ปรากฎการณ์ 11 อันมีสภาวะเดียวกันเข้าเป็นหมู่ เป็นกองเดียวกัน ธรรมชาติทั้งปวงนี้มีความไม่เที่ยง ไม่
ยั่งยืน มีปรากฎขึ้นมาแล้วก็ต้องสลายไปเสื่อมไปด้วยวิโรธิปัจจัย คือปัจจัยที่ไม่ถูกกัน ได้แก่ ความร้อน
ความเย็น ที่มากเกินไป เป็นต้น
ขันธ ได้แก่ ขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ปรากฎการณ์
11 ที่มีอยู่ในขันธ์นั้นคือ
1. เป็นสภาพที่เป็นมาแล้วในอดีต
2. เป็นสภาพที่จะเป็นไปในอนาคต
3. เป็นสภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน
4. เป็นสภาพที่มีอยู่ภายใน
5. เป็นสภาพที่มีอยู่ภายนอก
6. เป็นสภาพที่หยาบ
7. เป็นสภาพที่ละเอียด
8. เป็นสภาพที่ไกล
9. เป็นสภาพที่ใกล้
10. เป็นสภาพเลว
11. เป็นสภาพที่ปราณีตของรูป
รวม 11 ประการนี้เป็นกองหนึ่ง จะอธิบายแต่ละขันธ์ต่อไป ซึ่งมีสภาวะต่างกันแต่ละกอง ๆ ดังนี้
1. รูปขันธ์ กองแห่งรูป แยกเป็น 2 คือ มหาภูตรูป 4 และอุปาทายรูป 24 รวมเป็นรูป 28
2. เวทนาขันธ์ กองแห่งเวทนา มีหน้าที่เสวยอารมณ์ มี 3 คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา หรือแยกเป็น 5
ได้แก่ สุขกาย รู้สึกสบาย 1 ทุกข์กาย รู้สึกไม่สบาย 1 อุเบกขา เฉย ๆ คือเป็นกลาง ๆ จะว่า
สุขหรือทุกข์ก็ไม่ชัด 1 โทมนัส ทุกข์ใจ 1 โสมนัส สุขใจ 1 เวทนานี้เป็นเจตสิก เป็นนามชื่อ
เวทนาเจตสิก มีหน้าที่เสวยอารมณ์
3. สัญญาขันธ์ กองแห่งสัญญา ได้แก่สัญญาเจตสิก 1 ดวง มีหน้าที่จำอารมณ์ต่าง ๆ
4. สังขารขันธ์ กองแห่งสังขาร ได้แก่เจตสิก 50 ดวง มีหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้คิดทำกุศล หรือให้
ทำอกุศล และให้บำเพ็ญอรูปญาณ บาลีมีชื่อว่า ปุญญาภิสังขาร ให้ทำบุญซึ่งเป็นความดี 1
อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งจิตให้ทำอกุศล 1 อเนญชาภิสังขาร 1 ปรุงแต่งจิตให้คิดบำเพ็ญ
อรูปฌาณ 1
5. วิญญาณขันธ์ กองแห่งวิญญาณ มีหน้าที่รู้อาราณ์ ได้แก่จิต 89 หรือ 121 ดวง คำว่าวิญญาณ
จิต มโน มนัส (มานสํ) คือใจ หมายถึงธรรมชาติที่มีความรู้แจ้ง เป็นลักษณะ (ใจไม่ใช่หัวใจ
ซึ่งมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย)
สรุปแล้วขันธ์ 5 นี้ได้แก่ รูป-นามนั่นเอง ข้อแรกเป็นรูป ข้อ 2-4 เป็นนาม คือเจตสิกนาม ข้อ 5 เป็นจิต
นาม ขันธ์ 5 นี้เป็นปรมัตถธรรม 3 คือ จิต เจตสิก และรูป เรียกชื่อเต็มว่าจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูป
ปรมัตถ์ คำว่า ปรมัตถ แปลว่าความจริงอย่างเที่ยงแท้ เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ซึ่งไม่วิปริตแปรผัน ไม่
แปรปรวนไปตามกาลเวลา เช่นอาการหายใจเข้าหายใจออกของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นต้น ตั้งแต่
เกิดมาเคยหายใจเข้าออกอย่างไร เวลานี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น และจะต้องเป็นเช่นนี้ต่อไปจนตลอดชีวิตทุกคน
การปฏิบัติวิปัสสนาจึงให้กำหนดลมหายใจให้เป็นการตามรู้สภาวะ ครั้งแรกเริ่มรู้สึกเย็นที่จมูกซึ่งเป็น
ต้นลม กำหนดรู้วาโยธาตุลม คือรู้อาการเคลื่อนไปถึงทรวงอกซึ่งเป็นฐานที่สองเป็นการกำหนดวาโย
ธาตุ ลมจะเลื่อนลงไปถึงท้อง ซึ่งเป็นฐานที่สาม วาโยธาตุนั้นจะกระทบท้องจนพองเห็นคือรู้ได้ด้วยใจ
แล้วก็กำหนดรูปพองที่ท้องก็ได้ เมื่อรู้สึกว่าท้องพองเพราะลมกระทบ ก็รู้ผัสสะการกระทบถูกต้องของ
รูป เมื่อลมกลับออกจากท้อง ๆ ก็ยุบลง การรู้เพียงอาการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของพอง-ยุบ จึงจะเป็น
วิปัสสนา เพราะอาการพอง-ยุบเป็นปรมัตถสภาวะเหมือนลมหายใจ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของขันธ์ 5
แต่ถ้านั่งจ้องดูท้องว่าเมื่อไรจะพองจะยุบ หรือภาวนาว่าพองว่ายุบอยู่เรื่อยไปโดยไม่จับปัจจัยของรูปนาม
และไม่ได้ปัจจุบัน ว่าไปเรื่อย ๆ เพ่งท้องเป็นนิมิตก็เป็นสมถะเท่านั้น
-----------------------------------------
วิปัสสนาภูมิที่ 2 คือ อายตนะ 12
อายตนะคืออะไร? ถ้าจะตอบง่าย ๆ พอเข้าใจ อายตนะคือเครื่องสืบต่อระหว่างรูปกับรูป หรือ
ระหว่างรูปกับนาม ให้ติดต่อกันเกิดความรู้ทางใจขึ้นได้ เป็นต้น เหตุแห่งกายกรรม วจีกรรม
มโนกรรม
อายตนะมี 12 คือ อายตนะภายใน 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านเรียกว่าเป็นทวาร เพราะ
ทำหน้าที่เหมือนประตูคอยรับอารมณ์ต่าง ๆ ที่จะมาจากภายนอกเข้าสู่ประสาทต่าง ๆ ในร่างกายได้
มีชื่อเต็มเรียงลำดับดังนี้
1. จักขวายตนะ = อายตนะ คือ จักขุ อธิบายว่าธรรมชาติใดย่อมเห็น (รูป) ธรรมชาตินั้นชื่อ
จักขุ = ตา
2. โสตายตนะ = อายตนะ คือ โสตะ อธิบายว่าธรรมชาติใดย่อมได้ยิน ธรรมชาตินั้นชื่อ โสตะ
= หู
3. ฆานายตนะ = อายตนะ คือ ฆานะ อธิบายว่าธรรมชาติใดย่อมได้กลิ่น ธรรมชาตินั้นชื่อ ฆา
นะ = จมูก
4. ชิวหายตนะ = อายตนะ คือ ชิวหา อธิบายว่าธรรมชาติใดย่อมทำอารมณ์ให้แก่ ชิวหา
วิญญาณรู้รสทั้ง 6 ได้ รส 6 คือ 1. อมฺพิล รสเปรี้ยว, 2. มธุร รสหวาน, 3. โลนิก รสเค็ม, 4.
กฏุก รสเผ็ด, 5. ติตฺต รสขม, 6. กสาว รสฝาด, ธรรมชาตินั้นชื่อ ชิวหา = ลิ้น
5. กายายตนะ = อายตนะ คือ กายะ อธิบายว่า คือธรรมที่เป็นที่มา (อายะ) แห่งอาสวะ (ที่เกิด
กามาสวะหรือกามราคะ)
6. มนายตนะ = อายตนะ คือ มโน อธิบายว่า สภาพใดย่อมรู้สภาพนั้นจึงชื่อ มโน = ใจ
อายตนะภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น อารมณ์ 6 ก็เรียก เพราะเป็นอารมณ์ของจิต
1. รูปายตนะ = อายตนะ คือรูป อธิบายว่าสิ่งใดย่อมแสดงสี สิ่งนั้นชื่อว่า รูปะ (รูปคือสีต่าง ๆ)
2. สัททายตนะ = อายตนะ คือ เสียง อธิบายว่าสิ่งใดย่อมถูกส่งไปสิ่งนั้นชื่อว่า สัททะ = เสียง
3. คันธายตนะ = อายตนะ คือ กลิ่น อธิบายว่าสิ่งใดย่อมฟุ้งไปได้ สิ่งนั้นชื่อว่า คันธะ = กลิ่น
4. รสายตนะ = อายตนะ คือ รส อธิบายว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมชอบใจ, ยินดีซึ่งวิสัยนั้น วิสัยนั้น
ชื่อว่า รสะ
5. โผฏฐัพพายตนะ = อายตนะ คือโผฏฐัพพะ อธิบายว่าสิ่งใดถูกต้องได้ด้วยกาย สิ่งนั้นจึงชื่อ
ว่า โผฏฐัพพะ = ได้แก่ความเย็น, ร้อน, อ่อน, แข็ง, หย่อน, ตึง ที่มาสัมผัสกาย
6. ธัมมายตนะ = อายตนะ คือธัมมารมณ์ อธิบายว่าธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ๆ
ธรรมชาตินั้นชื่อธรรม
เมื่ออายตนะภายใน 6 กระทบกับอายตนะภายนอก 6 เป็นคู่ ๆ แล้วจะเกิดวิญญาณ 6 คือ
1. จักขุวิญญาณ คือจิตที่รับรู้อารมณ์ทางตา ได้แก่รู้ว่ารูปที่ตาเห็นเป็นรูปอะไร
2. โสตวิญญาณ คือจิตที่รับรู้อารมณ์ทางหู ได้แก่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงอะไร
3. ฆานวิญญาณ คือจิตที่รับรู้อารมณ์ทางจมูก ได้แก่รู้ว่า กลิ่นที่ฟุ้งมาเข้าจมูกนั้นเป็นกลิ่น
อะไร
4. ชิวหาวิญญาณ คือจิตที่รับรู้อารมณ์ทางลิ้น ได้แก่รู้ว่า รสอาหารที่ถูกลิ้นมีรสหวานหรือเค็ม
เป็นต้น
5. กายวิญญาณ คือจิตที่รับรู้ว่ามีสิ่งที่มาถูกต้องกาย ได้แก่รู้ว่าสิ่งที่มากระทบนั้นแข็งหรืออ่อน
, ร้อนหรือเย็น เป็นต้น
6. มโนวิญญาณ คือจิตที่รับรู้อารมณ์ทางใจ ได้แก่รู้ว่าสิ่งที่มากระทบใจนั้นเป็นรูปหรือนามที่รู้
นิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่พ้นจากตัณหาและไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้งปวง ก็ต้องปฏิบัติจน
เกิดมัคคจิตผลจิตนั้นก็จะรู้ได้ทางมโนวิญญาณนี้ ขณะนั้นจิตเป็นโลกุตตรจิต
---------------------------------------------

วิปัสสนาภูมิที่ 3 คือ ธาตุ 18
( ธาตุได้แก่สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน ๆ)
คำแปลในวิสุทธิมรรคปัญญานิเทศ หน้า 275 ท่านสอนผู้ปฏิบัติวิปัสสนาไว้ว่าก็เพราะกำหนด
ความตั้งขึ้นและเสื่อมลง (อุทยัพพยะ) ของชีวิต จนเพิกสันตติได้แล้ว อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตาม
สภาพอันถ่องแท้เพราะใฝ่ใจในการบีบคั้นร่ำไปจนเพิกอิริยาบทได้แล้ว ทุกขลักษณะย่อมปรากฎอัน
ถ่องแท้ เพราะแยกธาตุต่าง ๆ ทำการกระจายฆนะ (ความเป็นแท่งได้แล้ว) อนัตตลักษณะย่อม
ปรากฎอันถ่องแท้ (แก่โยคีผู้กำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนั้น) คือ เห็นไตรลักษณ์
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติพึงมนสิการในขันธ์ 5 อายตะ 12 ธาตุ 18 ให้จงดีจนมีญาณปัญญา รู้ไตรลักษณ์
ว่าที่เป็นอนิจจัง เพราะเกิดขึ้นและเสื่อมไป หรือเพราะมีแล้วกลับไม่มี (คือไม่เที่ยงแปรเป็นอื่นได้) ก็
ขันธ์ 5 นั่นแหละชื่อว่าทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร? เพราะว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์เพราะบีบคั้นร่ำไป
ชื่อว่าทุกขลักษณะเพราะพระบาลีว่า สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาเพราะเหตุไร? เพราะ
ไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใครที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามคำสั่งได้) ชื่อว่า อนัตตลักษณะ
ธาตุ 18 คือ (มีชื่อต้นเหมือนอายตนะภายนอก 6 ภายใน 6 และวิญญาณ 6) จัดเป็นหมวดได้ 6
หมวด คือ
หมวด 1
1. จักขุธาตุ ธาตุคือตา เรียกว่า จักขุปสาทรูป
2. รูปธาตุ ธาตุคือรูป เรียกว่า รูปารมณ์ ได้แก่สีต่าง ๆ ที่ปรากฎให้ตาเห็น (เป็นรูป)
3. จักขุวิญญาณธาตุ คือความรู้อารมณ์ทางตา ได้แก่ จักขุวิญญาณจิต 2 ดวง (เป็นนาม)
หมวด 2
4. โสตธาตุ คือหู เรียกชื่อเต็มว่า โสตปสาทรูป (เป็นรูป)
5. สัททธาตุ คือเสียง เรียกชื่อเต็มว่า สัททารมณ์ (เป็นรูป)
6. โสตวิญญาณธาตุ คือ ความรู้อารมณ์ทางหู ได้แก่โสตวิญญาณจิต 2 ดวง (เป็นนาม)
หมวด 3
7. ฆานธาตุ คือจมูก เรียกชื่อว่า ฆานปสาทรูป
8. คันธธาตุ คือกลิ่น เรียกชื่อว่า คันธารมณ์ (เป็นรูป)
9. ฆานวิญญาณธาตุ ความรู้อารมณ์ทางจมูก ได้แก่ ฆานวิญญาณจิต 2 ดวง (เป็นนาม)
หมวด 4
10. ชิวหาธาตุ คือลิ้น เรียกชื่อว่าชิวหาปสาทรูป
11. รสธาตุ คือรส เรียกชื่อว่ารสารมณ์ (เป็นรูป)
12. ชิวหาวิญญาณธาตุ คือความรู้อารมณ์ทางลิ้น ได้แก่ชิวหาวิญญาณจิต 2 ดวง (เป็นนาม)
หมวด 5
13. กายธาตุ คือ ร่างกาย เรียกชื่อว่า กายปสาทรูป
14. โผฎฐัพพธาตุ คือสิ่งที่มาถูกต้องกาย ได้แก่ ความเย็น, ความร้อน, อ่อน, แข็ง, ที่เรียกว่า
โผฎฐัพพารมณ์ (เป็นรูป)
15. กายวิญญาณธาตุ คือความรู้อารมณ์ทางกาย ได้แก่ กายวิญญาณจิต 2 ดวง (เป็นนาม)
หมวด 6
16. มโนธาตุ ธาตุคือ ใจ จิต ได้แก่ สัมปฎิจฉนจิต 2 ดวงและปัญจทวาราวัชชนจิต 1 ดวง (เป็น
นาม)
17. ธัมมธาตุ คือสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ได้แก่เจตสิก 52 สุขุมรูป 16 นิพพาน 1 และบัญญัติ (เป็นทั้งรูป
และนาม)
18. มโนวิญญาณธาตุ คือความรู้อารมณ์ทางใจ ได้แก่มโนวิญญาณจิต 76 ดวง (เป็นนาม)
ธาตุ 18 นี้ เมื่อย่อลงแล้วย่อมได้แก่ รูป กับ นาม นั่นเอง จะเรียกว่ารูปธาตุนามธาตุก็ได้ จัดเป็นพวกได้ 3
จำพวก คือ
1. ธาตุรับ 6 ได้แก่ ทวาร 6
2. ธาตุกระทบ 6 ได้แก่ อารมณ์ 6
3. ธาตุรู้ 6 ได้แก่จิต 89
คำว่าธาตุ เป็นคำเรียกสภาวะที่เป็น นิรชีพ ไม่มีชีวิต พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาเรื่องธาตุ เพื่อถอนชีว
สัญญาความสำคัญว่ามีชีพจากโลกียธาตุทั้งหลาย อันสัตว์ทั้งหลายหลงยึดถือไว้ ดุจภาระ (ของหนัก) อัน
ชนทั้งหลายขนไปแบกหามไปอยู่ (ไปในสังสารทุกข์)
------------------------------------------
วิปัสสนาภูมิที่ 4 คือ อินทรีย์ 22
อินทรีย์ หมายถึงความเป็นอิสระ เป็นใหญ่ในกิจอันเป็นหน้าที่ของตน ๆ กิจแห่งอินทรีย์
ทั้งหลาย คือ โดยเป็นอินทรีย์ปัจจัย โดยบาลีว่า จักฺขุนฺทริยสฺส ตาว จกฺขายตนํ จกฺขุ วิญฺญาณธาตุยา ตํ
สมฺปยุตฺตกานญฺจ ธมฺมานํ อินฺทฺริยปจฺจเยน ปจฺจโยติแปลว่า จักขายตนะเป็นปัจจัยโดยเป็นอินทรีย์
ปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น อินทรีย์ 22 นี้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าเป็นธรรมเนื่องในอัตตภาพ คือ มีอยู่ในร่างกาย การที่จะได้อริยภูมิย่อมมี
เพราะการกำหนด รู้ธรรมภายในของตนเอง เป็นอารมณ์ดังนี้
อินทรีย์ 22 คือ
1. จักขุอินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของตา มีหน้าที่เห็นรูป (เห็นสีต่าง ๆ) ที่มากระทบจักขุ
ปสาท
2. โสตินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของหู มีหน้าที่ได้ยินเสียง คอยรับเสียงที่มากระทบโสต
ปสาท
3. ฆานินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของจมูก มีหน้าที่รู้กลิ่นต่าง ๆ ที่มากระทบ ฆานปสาท
4. ชิวหินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของลิ้น มีหน้าที่รู้รสที่มากระทบาชิวหาปสาท
5. กายินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของกาย มีหน้าที่รับสัมผัสที่มากระทบกายปสาท
6. มนินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของใจ = จิต 89 มีหน้าที่ยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปใน
อำนาจของตน (รู้อารมณ์)
7. อิตถินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของอิตถีภาวะ มีหน้าที่แสดงกิริยาอาการของหญิง เช่นมี
กิริยาวาจาเรียบร้อย
8. ปุริสินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของปุริสภาวะ มีหน้าที่แสดงกิริยาอาการของชาย เช่น มี
กิริยาวาจาองอาจห้าวหาญ
9. ชีวิตินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของชีวิตคอยเลี้ยงสหชาตธรรมไว้ ได้แก่ คอยรักษาชีวิตของ
รูปนามไว้
10. สุขินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของสุขเวทนา มีหน้าที่ให้เกิดความสุขทางกาย
11. ทุกขินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของทุกขเวทนา มีหน้าที่ให้เกิดความทุกข์ทางกาย
12. โสมนัสสินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของโสมนัสเวทนามีหน้าที่ให้เกิดความสุขทางใจ
13. โทมนัสสินทรีย์ ความเป็นใหญ่ของโทมนัสเวทนา มีหน้าที่ให้เกิดความทุกข์ทางใจ
14. อุเปกขินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของอุเบกขาเวทนา มีหน้าที่ให้เกิดความวางเฉยเป็นกลาง
ระหว่างสุข-ทุกข์
15. สัทธินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของสัทธาเจตสิก มีหน้าที่ให้เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใสใน
บุญกุศล
16. วิริยินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของวิริยเจตสิก มีหน้าที่ให้เกิดความเพียรพยายามปฏิบัติธรรม
เป็นต้น
17. สตินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของสติเจตสิก มีหน้าที่ให้เกิดความระลึกได้ในอารมณ์ที่เป็น
ปัจจุบัน-อดีต
18. สมาธินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของเอกัคคตาเจตสิก มีหน้าที่ให้เกิดความตั้งมั่นอยู่ใน
อารมณ์เดียว
19. ปัญญินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของปัญญาเจตสิก มีหน้าที่ให้เกิดความรู้ทั่วไปตามความ
เป็นจริงแห่งสภาวะธรรมทั้งที่เป็นโลกียธรรมและโลกุตตรธรรมทั้งหลายที่ทำลายอวิชชา
เป็นต้น (ข้อ 15 ถึง 19 เรียกพละ 5 ด้วย)
20. อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ในโลกุตตระจิตบรรลุโสดาปัตติมรรค ละ
สังโยชน์ 3 ได้
21. อัญญินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของโลกุตตรจิตซึ่งบรรลุโสดาปัตติผลแล้วก็บำเพ็ญให้
ติดต่อกันไปจนบรรลุอนาคามีและได้บรรลุอรหัตตมรรคญาณ
22. อัญญาตาวินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ในโลกุตตรจิตปหานสังโยชน์ 10 ได้ บรรลุอรหัตตผล
เป็นพระอรหันต์ไม่มีกิจที่จะปฏิบัติอีกต่อไป ดังมีคำรับรองในวิสุทธิมรรค หน้า 79 บรรทัด
ที่ 5 ว่า
สํเวคพหุโล ภิกฺขุ ฐิโต อินฺทฺรียสํวเร
อินฺทฺริยานิ ปริญิญาย ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสตีติ
ภิกษุผู้ทราบ (ในธรรม) อย่างนี้อยู่ จักเป็นผู้มากไปด้วยความสังเวช ตั้งอยู่ในอินทรีย์สังวรณ์ กำหนดรู้ใน
อินทรีย์ทั้งหลาย แล้วทำที่สุดทุกข์ได้แล
------------------------------------------
วิปัสสนาภูมิที่ 5 คือ อริยสัจจ์ 4
ในวิสุทธิมรรคหน้า 76-105 กล่าวถึงอริยสัจจ์ไว้มากมาย ในที่นี้จักบรรยายโดยย่อ ๆ พอเข้าใจ
เพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติวิปัสสนาเท่านั้น
อริยสัจจ์ 4 คือ 1. ทุกขอริยสัจจ์ 2. ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์ 3. ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ 4. ทุกขนิโรธคา
มินีปฏิปทาอริยสัจจ์ ชื่อว่า สัจจะ อันมาในลำดับแห่งอินทรีย์นั้น
1. ทุกขอริยสัจจ์ ตามนัยพระสูตร เป็นสภาวะทุกข์ได้แก่ทุกข์ 12 กอง มีชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณ
ทุกข์ โสกทุกข์ ปริเทวทุกข์ ทุกขทุกข์ โทมนัสทุกข์ อุปายาสทุกข์ อัปปิเยหิสัมปโยคทุกข์ ปิเยหิวิปปโยค
ทุกข์ ยัมปิจฉังนลภติตัมปิทุกข์ สังขิเตนปัญจุปาทานักขันธาทุกขา โดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์
อธิบายตามนัยพระอภิธรรม ทุกขอริยสัจจ์ ได้แก่ จิต 81 ( เว้นโลกุตตรจิต 8) และเจตสิก 51 (เว้นโลภะ)
รูป 28 รวมเป็นทุกข์ 160 เหล่านี้แหละได้ชื่อว่าทุกข์ทั้งนั้นตรงกับที่ทราบกันแล้วว่ารูปนามขันธ์ 5 นี้เอง
เมื่อยึดมั่นถือมั่นก็เป็นอุปทานขันธ์เป็นทุกขอริยสัจจ์
2.ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์ ตามนัยแห่งพระสูตรแสดงว่าตัณหามี 3 คือ 1. กามตัณหา 2. ภาวะตัณหา
3. วิภวตัณหา
1.กามตัณหา ได้แก่ความยินดีติดใจเพลิดเพลินในอารมณ์ 6 คือรูป เสียง กลิ่น รส
โผฎฐัพพะ และธัมมารมณ์ ๆ คืออารมณ์ที่เกิดแก่ใจทางมโนทวาร มีทั้งรูปทั้งนามแต่ว่าไม่ประกอบด้วย
สัสสตทิฎฐิ ที่มีความเห็นผิดว่า สิ่งทั้งหลายนั้นเที่ยง ยั่งยืน ไม่แปรผันแลไม่ประกอบด้วย อุจเฉททิฎฐิ ที่
มีความเห็นผิดว่าตายแล้วสูญ ไม่ต้องมาเกิดอีกเพราะคำว่าสมุทัย แปลว่าเหตุให้เกิด
อีกนัยหนึ่ง กามตัณหานั้นจำแนกเป็น 2 ประการ คือ ปรารถนาในกิเลสกามประการ
หนึ่ง และปรารถนาในวัตถุกามประการหนึ่ง วัตถุกามนั้นได้แก่ทรัพย์สิน แก้ว แหวน เงินทอง ของใช้
ต่าง ๆ รวมทั้งบริวารด้วย
อธิบายตามนัยพระอภิธรรม ท่านแสดงว่า ได้แก่ โลภเจตสิก ดวงเดียวเท่านั้น โลภะมี
ลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
1. อารมฺมณคหณ ลกฺขโณ มีการถือมั่นซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ
2. อภิสงฺค รโส มีการติดในอารมณ์เป็นกิจ
3. อปริจาค ปจฺจุปฺปฏุฐาโน มีการไม่บริจาคเป็นอาการปรากฏ
1. สํโยชนีย ธมฺเมสุ อสฺสาททสฺสน ปทฎฐาโน มีการดูด้วยความยินดีในสังโยชน์เป็นเหตุใกล้

2. ภวตัณหา ซึ่งเป็นตัณหาลำดับที่ 2 นั้น ท่านแปลไว้ว่า ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ใน
ที่นี้จะขยายความให้กว้างออกไปพอให้เข้าใจได้ง่าย ๆ คำว่า ภว คือ ภพ หรือภูมิที่ผู้ตายแล้วจะไปเกิด
ตัณหา แปลว่าความอยากได้ หรืออยากพ้นอย่างรุนแรง รวมความว่ามีความยินดีติดใจในอารมณ์ 6 ที่
ประกอบด้วยความเห็นว่า ถ้าได้ไปเกิดในภพใดภพหนึ่งซึ่งตนพอใจมีกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพ คือได้
เกิดเป็นอรูปพรหมก็จะดี คงไม่มีทุกขเวทนาเพราะไม่มีรูปร่างเป็นต้น หรือติดใจในฌานสมาบัติหรือติด
ใจในตัวตน คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นตัวเป็นตน ตายแล้วก็จะมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เป็นสัตว์ชนิดใด
ตายแล้วก็จะเกิดเป็นชนิดนั้นอีก ไม่แปรผันมีความเป็นผิดชื่อว่า สัสสตทิฎฐิ
3. วิภวตัณหา ตัณหาลำดับที่ 3 นี้ ชื่อว่าวิภวตัณหา ท่านแปลว่าความไม่อยากเป็นนั่น
เป็นนี่ หมายความว่ามีความยินดีติดใจในอารมณ์ 6 ที่ประกอบด้วย อุจเฉททิฎฐิ คือติดใจในความเห็นว่า
ตัวตนในโลกนี้มีอยู่แต่ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้ตลอดไป เมื่อตายแล้วก็สูญสิ้นไปหมด ไม่ต้องมาเกิดอีก
จะทำอะไรก็ไม่ต้องคิดว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ไม่ต้องกลัวผลของกรรม ทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป
ไม่มีบุญ ไม่มีบาปแต่อย่างใด พระนิพพานก็เป็นเมืองแก้วที่ล้วนแล้วไปด้วยความสุขสนุกสนาน ควรแก่
การที่จะไปอยู่ที่นั่น เพราะแปลคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งนั้นเป็นความสุขที่อิง
อามิสไป หาใช่เป็นสันติสุข คือความสุขซึ่งเกิดจากความสงบจากกิเลสไม่
ตัณหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ท่านแสดงไว้ในพระอภิธรรมว่าอารมณ์ 6 นี้เองเป็นต้นเหตุให้
ตัณหาเกิด ตัณหาคือความปรารถนา ความอยากได้ที่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอยังพร่องอยู่เป็นนิตย์ เมื่อมี
ความปรารถนาอยากได้เกิดขึ้นก็มีปริเยสนทุกข์ คือทุกข์ในการแสวงหา ขณะที่แสวงหาอยู่ย่อมได้สิ่งที่
ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง อปฺปิเยหิสมฺปโย โคทุกฺโข เป็นทุกข์เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจฉะนั้น
จึงสรุปได้ว่าตัณหานี้เป็นตัวการ เป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ ยังมีตัณหา 6 คือ ตัณหาที่เกิดจากอารมณ์ 6
เรียกว่า รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฎฐัพพตัณหา และธัมมตัณหา มีชื่อตามอารมณ์ 6
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ และธัมมารมณ์นั่นเอง เมื่ออธิบายต่อไปจะได้ตัณหา 108 ดังนี้
วิธีนับตัณหา 108
ตัณหามี 3 คือกามตัณหา 1 ภวตัณหา 1 วิภวตัณหา 1 ตัณหานี้มีอารมณ์เป็น 6 ทั้งนั้นจึง
นำมาคูณกัน อารมณ์ 6 คูณด้วยตัณหา 3 = 18 ตัณหา 18 นี้มีอยู่ในตัวเราซึ่งเรียกว่าอัชฌัตติกะ คือภายใน
และยังมีอยู่ที่ผู้อื่นอีก ซึ่งเรียกว่าพหิทธะภายนอกตัวเราอีก 18 เมื่อนำมารวมกันจึงเป็น 36 ตัณหา 36 นี้ มี
ได้ทั้ง 3 กาล คือ มีในอดีตกาล 36 จะมีในอนาคตกาล 36 และมีในปัจจุบันกาลนี้ 36 เมื่อนำมารวมกันจึง
เป็นตัณหา 108 พอดี

3.ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ สัจจะที่ 3 ท่านแปลว่าความดับทุกข์ ท่านแยกเป็นนิ + โรธ = ไม่มีที่ปิด
ล้อมถือเอาความว่าไม่มีที่คุมขัง คือออกจากสังสารวัฎฎ์ได้ เป็นความดับที่ไม่มีเหลืออยู่เลย
แม้แต่น้อย ทุกข์จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาอีกได้ เพราะดับตัณหาได้ดังคำบรรยายต่อไปนี้
(จะไม่ยกบาลีมา) ธรรมอันใดเป็นที่ดับสนิทไม่มีราคะอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ 1 การสละละเสีย
ซึ่งตัณหา 1 การทิ้งเสียหรือการส่งคืนซึ่งตัณหา 1 การหลุดพ้นจากตัณหา 1 อนาลโย ความหมด
ห่วงใยในตัณหาไม่ติดอยู่ในตัณหา 1 เหล่านี้แหละชื่อว่าทุกขนิโรธอริยสัจจ์
4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ สัจจะที่ 4 เรียกว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะเหตุที่
ดำเนินไปสู่ทุกขนิโรธ และเป็นปฏิปทาแห่งการบรรลุทุกขนิโรธด้วย หมายถึงการปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่ง
ความดับทุกข์นั้น ต้องดำเนินคามอริยมัคค์มีองค์ 8 บางแห่งท่านเรียกว่าอัฎฐังคิกอริยมัคค์ มรรคมีองค์ 8
คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจจ์ 4
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือดำริในการออกจากกาม ดำริในการไม่พยาบาท และดำริ
ในการไม่เบียดเบียน
3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต 4
4. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบคือ เวันจากกายทุจริต 3
5. สัมมาอาชีวะ มีความเป็นอยู่ชอบ คือ ละมิจฉาอาชีวะ หาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ
6. สัมมาวายามะ ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ในการละอกุศล และพยายามสร้าง
กุศล และรักษากุศลธรรมไว้ไม่ให้เสื่อม
7. สัมมาสติ เป็นผู้ประกอบความเพียรในการเจริญสติปัฎฐานทั้ง 4
8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ จนจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว จิตสงบปราศจากอกุศลธรรม
บรรลุฌานทั้ง 4 อันมีปฐมฌาน 1 ทุติยฌาน 1 ตติยฌาน 1 และบรรลุจตุตฌาน 1 ซึ่งไม่มี
ทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติ
ปริสุทธิเพราะอุเบกขาอยู่ นี่เรียกว่าสัมมาสมาธิ (ฌานตามจตุกนัย) อธิบายคำว่าสมาธิ สมาธิ
มี 3 คือ
1. ขณิกสมาธิ เป็นสมาธิชั่วขณะ ๆ
2. อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่ใกล้จะได้ฌาน
3. อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่สงบแน่นิ่งในอารมณ์เดียวจนถึงฌาน
อธิบายขณิกสมาธิ เป็นสมาธิชั่วขณะหนึ่ง ๆ ซึ่งมีรูป-นาม คือขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ พระโยคี
บุคคลเมื่อจะปฏิบัติวิปัสสนาพึงตั้งสติตามดูที่กายกับใจ =รูป-นาม ใจคิดถึงอะไรก็กำหนดรู้ตามไป ใจ
ไปถึงไหน ก็ตั้งสติกำหนดที่นั่น กำหนดครั้งหนึ่งเรียกว่าได้ขณิกสมาธิทันที อำนาจของ ขณิกสมาธินี้จะ
ทำให้เกิดปัญญาได้ เช่น มีอารมณ์ภายนอกมากระทบทวารทั้ง 6 ก็กำหนดรู้อารมณ์นั้น ๆ หรือมี
ความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อยชา ซึ่งเป็นเวทนา ก็กำหนดรู้เวทนานั้น ๆ จนเกิดปัญญารู้แจ้งในไตรลักษณ์รู้ว่า
เวทนานี้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่เที่ยง ย่อมดับไปเป็นอนิจจังและเปลี่ยนแปรไปไม่คงที่ ซึ่งเป็นลักษณะของ
ทุกขังและไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาใคร ใจเราอยากจะให้หายเดี๋ยวนี้ ก็ไม่หาย เมื่อกำหนดไป ๆ ก็
หายไปเองโดยไม่มีกำหนดเวลา-นาทีที่แน่นอน เพราะเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตนบุคคล เราเขาไม่มีสาระ
แก่นสารเมื่อมีรูป-นามขึ้นมา จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม ต้องเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้นเพราะ
เป็นสามัญลักษณะซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสังขารทั้งปวง
------------------------------------------
วิปัสสนาภูมิที่ 6 คือ ปฏิจจสมุปบาท 12
ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร ปฏิจจสมุปบาทคือธรรมที่เป็นปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลาย มีชรามรณะ
เป็นต้น เป็นลักษณะ มีการผูกพันทุกข์ไว้เป็นกิจ (รสะ) มีความเห็นทางผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน คือเป็นผล
ปรากฎ ส่วนธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยทั้งหลายนั้น ๆ พึงทราบว่าชื่อปฏิจจสมุบันธรรม พระผู้มีพระภาค
เจ้าเมื่อทรงแสดงปฏิจจามุปบาทในพระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชรามรณะ มีเพราะปัจจัย คือชาติ จึง
มีการเรียงลำดับตั้งแต่ต้นได้ดังนี้
สังขารทั้งหลาย มีเพราะปัจจัยคือ อวิชชา
วิญญาณ มีเพราะปัจจัยคือ สังขาร
นามรูป มีเพราะปัจจัยคือ วิญญาณ
สฬายตนะ มีเพราะปัจจัยคือ นามรูป
ผัสสะ มีเพราะปัจจัยคือ สฬายตนะ
เวทนา มีเพราะปัจจัยคือ ผัสสะ
ตัณหา มีเพราะปัจจัยคือ เวทนา
อุปาทาน มีเพราะปัจจัยคือ ตัณหา
ภพ มีเพราะปัจจัยคือ อุปาทาน
ชาติ มีเพราะปัจจัยคือ ภพ
ชรา มรณะ โสกปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาส มีเพราะปัจจัยคือ ชาติ
ก็แลปฏิจจสมุปบาทนี้นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ตถตา คือความมีเพราะปัจจัยอย่างนั้น เพราะ
ความมีขึ้นแห่งธรรมนั้น ๆ ก็เพราะปัจจัยทั้งหลายอันไม่ขาดไม่เกินนั่นเทียว ที่ตรัสเรียกว่า อวิตถตา
ความไม่มี ที่จะไม่มีเพราะปัจจัยอย่างนั้นก็เพราะเมื่อปัจจัยทั้งหลายถึงความพร้อมกันเข้าแล้ว เป็นไม่มี
ละที่ธรรมทั้งหลายอันเกิดเพราะปัจจัยนั้นจะไม่มีขึ้น แม้แต่ครู่หนึ่ง ยามหนึ่งคือต้องเกิดจนได้ การที่ทรง
ตรัสเรียกว่า อนัญญถตา ความไม่มีธรรมอื่นเพราะปัจจัยอื่น ก็เพราะธรรมที่เป็นผลอย่างหนึ่งจะไม่
เกิดขึ้นเพราะปัจจัยของธรรมที่เป็นผลอีกอย่างหนึ่ง ที่ทรงตรัสเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ความที่สิ่งนี้เป็น
ปัจจัยของสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็จะเกิดขึ้น ก็เพราะความเป็นปัจจัย หรือเพราะเป็นประชุมแห่งปัจจัยของธรรมที่
เป็นผลทั้งหลาย มีชรามรณะเป็นต้น
---------------------------------------------

อานิสงส์แห่งการปฏิบัติวิปัสสนา
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอานิสงค์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน 4 ไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้ตลอด 7 ปี ผู้นั้นพึงหวังผล 2 อันใดอันหนึ่ง
คือ บรรลุพระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ 1 หรือเมื่อวิบากขันธ์ที่กิเลสมีตัณหาเป็นต้น เข้ายึดไว้ยัง
เหลืออยู่ (ก็ได้) เป็นพระอนาคามี 1 (คือผู้นั้นคงจะได้อรหัตตผล หรืออนาคามีผล ในปัจจุบันชาตินี้
แน่นอน) ถ้าผู้นั้นมีบารมีแก่กล้า(ก็จะใช้เวลาไม่ถึง 7 ปี จึงมีพุทธานุสาสนีต่อไปว่า)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย 7 ปีจงยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้ ตลอดเวลา 6 ปี (หรือ)
ตลอดเวลา 5 ปี 4 ปี 3 ปี 2 ปี 1 ปี ตลอด 7 เดือน (ลดลงมาจนถึงกึ่งเดือน) หรือตลอด 7 วัน ก็ย่อมได้รับ
ผลเช่นเดียวกัน ตามวาสนาบารมีของผู้ปฏิบัตินั้น ๆ เพราะหนทางนี้ เป็นที่ไปอันเอก (เป็นที่ไปของ
บุคคลเดียว) เพื่อความหมดจดโดยวิเศษของสัตว์ทั้งหลายเพื่อข้ามพ้นความโศก และความร่ำไรเสีย เพื่อ
ความอัสดงค์ (ดับไป) แห่งเหล่าทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูก เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 อย่างด้วยประการฉะนี้
เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงสอนให้เจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 เพราะเหตุว่า มรรคมีองค์ 8
ซึ่งเป็นทางดำเนินไปสู่พระนิพพานนั้นต้องเริ่มต้นที่สติปัฏฐานมีสติเป็นประธาน ในการกำหนด
พิจารณารูปนามเพื่อให้เห็นปัจจัยให้เกิดรูปนาม เพื่อให้เห็นความเกิดดับของรูปนามเพื่อให้เห็นไตร
ลักษณ์แห่งรูปนามคามความเป็นจริงของสภาวะธรรมซึ่งมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และเป็น
อสุภะความเห็นถูกต้องเช่นนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในมัคคสัจจ์, การดำริในสติปัฏฐาน 4
เป็นสัมมาสังกัปปะ, การพูดในเรื่องสติปัฏฐาน 4 เป็นสัมมาวาจา เจรจาชอบ, การทำงานทางใจในขณะ
เจริญสติปัฏฐาน 4 เป็นสัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ, มีความเป็นอยู่ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน 4 โดย
สัมมาอาชีวะ เป็นอยู่ชอบ, มีความเพียรเจริญสติปัฏฐาน 4 โดยสม่ำเสมอเป็นสัมมาวายามะ เพียรชอบ,
ความระลึกอยู่ในสติปัฏฐาน 4 เป็นสัมมาสติ ระลึกชอบ, การที่จิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน 4 เป็นสัมมาสมาธิ
ความตั้งใจมั่นโดยชอบ, มรรคมีองค์ 8 ย่อมเกิดพร้อมกัน คือเกื้อหนุนกันส่งเสริมกัน ดังปรากฎในสัง
ยุตตนิกายว่า สมฺมาทิฏฐิสฺส สมฺมาสงฺกปฺโป โหติฯ เป็นต้น เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นกับบุคคลใด สัมมา
สังกัปปะย่อมเจริญในบุคคลนั้น ๆ ฯลฯ และจะอุดหนุนกันไปเป็นสายจนครบ โดยประการฉะนี้ เมื่อ
เจริญมรรคมีองค์ 8 เป็นมัคคสมังคีเมื่อใด ก็จะแจ้งในอริยสัจจธรรมเมื่อนั้น ท่านจะเป็นผู้ชนะข้าศึก
จำนวนมหาศาล คือกิเลส 1500 กับตัณหา 108 ได้ ท่านจะปิดประตูอบายได้แม้จะยังไม่บรรลุพระ
นิพพาน ในชาตินี้ ก็ได้ไปสู่สุคติแน่นอน
กิเลส 1500
กิเลส 1500 คืออะไร องค์ธรรมของกิเลส 1500 ตัณหา 108 คือโลภกิเลส โทสะกิเลส โมหะ
กิเลสทั้ง 3 นั่นเอง แต่ท่านขยายไปตามลักษณะที่เกิดประกอบจิตให้เป็น 10 คือมีโลภะ โทสะ โมหะ
มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ รวมเป็น 10
วิธีนับจิต 89 หนือ 121 นับเป็น 1 เพราะมีสภาวะอย่างเดียวกันคือรู้อารมณ์เหมือนกัน ส่วน
เจตสิกนับเต็มจำนวนมี 52 นำนิปผันนรูป 18 กับลักษณะรูป 4 มาบวกเข้าด้วยกันอีกรวมเป็น 75 คูรด้วย
กิเลส 10 เป็น 750 ซึ่งเป็นอัชฌัตติกภายในร่างกายเราเอง มีที่เป็นพหิทธะ ภายนอกอีก 750 รวมกันเป็น
1500 พอดีแต่ยังมีข้อสงสัยอยู่ สำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่านิปผันนรูป 18 คือรูปอะไร นิปผันนรูปเป็นรูปปรมัตถ์
แท้ ๆ คือเป็นรูปที่เกิดจากกรรม จิต อุตุ อาหาร ได้แก่ มหาภูตรูป 4 คือปฐวี อาโป เตโช วาโย ปสาทรูป 5
คือจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท และกายปสาท รวมเป็นปสาทรูป 5 เป็นรูปที่มีความ
ใส คล้ายกระจกที่สามารถให้ภาพมาปรากฏได้ แล้วบวกด้วยวิสัยรูป 4
วิสัยรูป คือรูปที่เป็นอารมณ์ของจิต หรือรูปที่เป็นโคจรของจิตมี 4 คือ
1. วัณณรูป ได้แก่ สีต่าง ๆ
2. สัททรูป ได้แก่ เสียงต่าง ๆ
3. คันธรูป ได้แก่ กลิ่นต่าง ๆ
4. รสรูป ได้แก่ รสต่าง ๆ (รวมเป็น 13 แล้วบวกด้วย) ภาวรูป 2 คือ 1. อิตถีภาวะ ความเป็น
หญิง 2. ปุริสภาวะ ความเป็นชาย (รวมเป็น 15) และหทัยรูป 1 ชีวิตรูป 1 อาหารรูป 1 รวม
เป็นนิปผันนรูป 18 ในรูป 28 ที่เหลืออีก 10 รูปนั้น ท่านจัดแบ่งเป็นอนิปผันนรูป 10 ซึ่ง
ไม่ใช่รูปปรมัตถ์แท้ เป็นแต่อาศัยนิปผันรูปเกิด
เช่น ลักษณะรูป 4 เป็นสภาวะของนิปผันนรูปเท่านั้น คือเมื่อนิปผันนรูป 18 เกิดขึ้นโดยสมุฎ
ฐาน 4 อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมมีลักษณะรูป 4 นี้ ปรากฏแก่รูปนั้น ๆ ด้วย ได้แก่ 1. อุปจยะ การเกิด
ของรูป 2. สันตติ ความสืบต่อเติบโต 3. ชรตา ความชราของรูป 4. อนิจจตา ความดับของนิปผันนรูป
ทั้งหลาย ลักษณะรูป 4 นี้ ย่อมมีปรากฎอยู่ในรูปทั้งปวง
เมื่อนำจิต เจตสิก และรูปซึ่งเป็นสิ่งที่กิเลสอาศัยเกิดได้ มารวมกันได้ 75 กิเลสมี 10 มาคูณกัน
จึงเป็น 750 ที่ภายในตัวเรามีอยู่ประจำและมีอยู่ภายนอกตัวเราอีก 750 นำมารวมกันเข้าเป็น 750+750 =
1500 พอดี
วิธีที่จะละกิเลส 1500 ตัณหา 108 ได้นั้นก็มีทางเดียว คือปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนผ่านญาณ
16 หลาย ๆ ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นพระโสดาบัน ตัดสังโยชน์ได้เด็ดขาด 3 ข้อคือ 1. สักกายทิฎฐิ 2.
วิจิกิจฉา 3. สีลัพพตปรามาส ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เป็นการปิดประตูอบายได้แน่นอน ซึ่งมีคติว่า ผู้ปฎิบัติถ้า
บรรลุธรรมเบื้องต้นเพียงโสตาปัตติมรรค โสตาปัตติผลนี้จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฎสงสารเพียง 7 ชาติ
เท่านั้นก็จะสามารถปฏิบัติจนบรรลุพระนิพพานได้ เป็นการประเสริฐกว่าการได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน หรือการได้เป็นท้าวสักกเทวราชซึ่งเป็นใหญ่ในเทวโลก ก็ไม่ประเสริฐเท่าเป็น
พระโสดาบันผู้ซึ่งมีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ดังมีหลักฐานรับรองไว้ว่า
ปฐพฺยา เอกรชฺเชน สคฺคสฺส คมเนน วา
สพฺพโลกาธิปจฺเจน โสตาปตฺติผลํ วรํ ฯ
แปลว่า การได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ดี หรือการเป็นใหญ่ในสวรรค์ก็ดี
การได้บรรลุโสตาปัตติผล ประเสริฐกว่าดังนี้
-----------------------------------------------
การนั่งสมาธิ
(นั่งกำหนด)
ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติควรทราบหลักเกณฑ์ในวิธีนั่งไว้ก่อน ว่าควรจะนั่ง
อย่างไร? มีพระบาลีกล่าวไว้ว่า นิสีทติ ปลฺลงกํ อาภุชิตฺวา, อุชุ ํ กายํ ปณิธาย, ปริมุขํ สตึ อุปฎฺฐฺเปตฺวา
แปลว่า นั่งคู้บรรลังก์ กายตั้งตรง ตั้งสติไว้เฉพาะหน้า
การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เท่าที่สังเกตุดูต้องนั่งตัวตรงจึงจะดี คือนั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้า
ซ้าย ให้นิ้วชี้และหัวแม่เท้าขวาพ้นขาซ้ายตามรอยพับขา ส่วนอีก 3 นิ้วจะอยู่ในช่องขาซ้ายที่งอพับเข้ามา
ไว้ก่อน แล้วยืดกายให้ตรง เหยียดแขนตรงไปหาเข่าให้มือกุมเข่าทั้ง 2 ข้าง อย่าแหงนหน้ามาก แล้วยก
มือซ้ายกลับมาวางหงายลงตรงระหว่างข้อเท้าและเหนือขึ้นไปหน่อยพอสบาย ๆ แล้วยกมือขวาจากเข่า
มาวางหงายทับลงบนมือซ้ายให้หัวแม่มือชนกันพอจดกัน ไม่ต้องเกร็งให้แน่นนัก ท่านี้หลังจะตรง
กระดูกสันหลังจะอยู่ในที่ของตนไม่โค้งงอซึ่งจะทำให้นั่งได้ทนไม่เมื่อย และไม่ชาด้วย มีอีกอย่างหนึ่งที่
ควรทำคือ เมื่อนั่งลงเรียบร้อยแล้ว ใช้มือจับเข็มขัดหรือขอบกระโปรงที่รัดหน้าท้องอยู่แน่นพอดีนั้น ให้
เลยขึ้นมาเหนือท้องตรงที่คอดอยู่จะทำให้นั่งสบายไม่อึดอัด แล้วเริ่มทำความรู้ตัวดูรูปนั่ง กำหนดว่า นั่ง
หนอ ๆ
เรื่องอาสนะ แต่ก่อนข้าพเจ้าเคยไปจ้างเขาเย็บเบาะใส่นุ่นแบบที่นอนมานั่ง เมื่อใช้แล้วจึงทราบ
ว่าไม่ดี ความหนาทำให้ร้อนและตัวเอนไปมา ในเมื่อนั่งทิ้งน้ำหนักตัวไม่เสมอกัน สู้ใช้ผ้าซ้อนกันแบบ
ง่าย ๆ ไม่ได้ นั่งสบายและเก็บง่ายด้วยอย่างแบบที่สำนักวิเวกอาศรม เมื่อนั่งเรียบร้อยพึงหลับตาตั้งสติไว้
ที่หน้าท้อง เมื่อหายใจเข้าลมจะเข้าไปในปอด บริเวณหน้าท้องก็ขยายพองขึ้นด้วย เวลาหายใจออกลม
ออกจากปอด ปอดแฟบลง ทำให้หน้าท้องยุบลงด้วย ให้กำหนดรู้อาการพอง-ยุบของท้องด้วยว่า (ภาวนา
ในใจไม่ต้องออกเสียง)พองหนอ-ยุบหนอ ๆ ๆมิใช่ให้ก้มมองด้วยตา เพื่อให้รู้ปรมัตถสภาวะซึ่ง
ปรากฏเองตามธรรมชาติ อย่าพยายามสูดลมเข้าให้แรงจะเหนื่อย ปล่อยให้เป็นไปเองถ้าไม่ชัดจิตจับ
ไม่ได้ เพราะแรกทำจะมีอาการเกร็งตัว คอยจดจ้องดูเลยไม่ปรากฏชัด ให้เลื่อนมือที่ซ้อนกันไว้ขึ้นมา
แตะที่ท้องเบา ๆ ก็จะรู้อาการพอง-ยุบของท้องได้ดี นั่งกำหนดครั้งแรกอย่าให้นานเกิน 30 นาที จะเกิด
การเบื่อหน่ายหรือปวดเมื่อยร่างกายจนรู้สึกว่าเป็นการทรมานมากไปต่อเมื่อปฏิบัติอยู่หลายวันจนเกิด
สมาธิ เกิดปิติ เกิดปัญญา ท่านวิปัสสนาจารย์ก็จะเพิ่มเวลานั่งให้เอง
การนั่งกำหนดแบบนี้เป็นการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ข้อแรกคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อนั่ง
กำหนดได้เวลาพอสมควรแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบทเป็นเดินจงกรมบ้างควรทำสลับกัน นั่งครึ่งชั่วโมง
เดินครึ่งชั่วโมง เมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเดิน คือรูปเคลื่อนไป ๆ ดังคำบาลีในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า
คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ เมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเดี๋ยวนี้เราเดิน
สมฺสิญฺชิเต ปสาริเต สมฺปชานการี โหติ ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการคู้อวัยวะเข้า และเหยียด
อวัยวะออก
สงฺฆาฏิปตฺตจีวรธารเณ สมฺปชานการี โหติ ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการทรงผ้าสังฆาฏิ
บาตร และจีวร
อสิเต ปิเต ขายิเต สายิเต สมฺปชานการี โหติ ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการกิน ดื่ม เคี้ยว และ
ลิ้ม
อุ จฺ จารปสฺสาวกมฺเม สมฺปชานการี โหติ ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการถ่ายอุจจาระและ
ปัสสาวะ
ที่ยกคำบาลีมาให้เห็นเป็นพยานว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้มีสติสัมปชัญญะ คือ ให้ระลึกได้
ก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด ก่อนนั่ง ก่อนนอน ก่อนยืน ก่อนเดิน และมีสัมปชัญญะรู้สึกตัวอยู่ในขณะ
เคลื่อนไหวอิริยาบถนั้น ๆ เพื่อมิให้โมหะเข้า เมื่อโมหะเข้าแล้วโลภะความชอบใจในอิริยาบถหรือรส
อาหาร หรือในเครื่องอุปโภค บริโภคนั้น ๆ ก็จะตามมา หรือเกิดความไม่ชอบใจซึ่งเป็นลักษณะของ
โทสะก็เกิดไม่ชอบใจขึ้นมาได้เพราะเป็นกิเลสพวกเดียวกัน
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้กำหนดทุกอิริยาบถ เริ่มตั้งแต่ตื่นนอน พอรู้ตัวตื่น ก็กำหนด ตื่น
หนอ ๆ” “อยากลืมตาหนอหรืออยากลุกขึ้นหนอตามที่ใจคิดจะทำเป็นการกำหนดนามก่อน เพราะ
ใจคิดก่อนทำเมื่อลืมตาขึ้นหรือลุกขึ้น รูปจึงเคลื่อนไหวไปตามที่ใจต้องการจะทำ ขณะที่กำหนดรูปแล้ว
จะเดินไปไหนจะทำอะไรก็ตามต้องกำหนดทุกอย่าง ถ้าทำอยู่นานก็อยากเปลี่ยนอิริยาบถ อย่ารีบเปลี่ยน
ตามใจอยากเป็นการตามใจให้ตัณหาและทิฏฐิเกิด จงพิจารณาให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาว่าอยากเปลี่ยน
อิริยาบถเพราะเหตุใด จงคิดดูหาคำตอบให้ได้ว่า ทำไมจึงต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ จะได้คำตอบในทันที
นั้นเองว่า เพราะอิริยาบถเก่านั้นเกิดไม่สบายเรียกว่า เป็นทุกข์เสียแล้ว จึงต้องการเปลี่ยนไปหาอิริยาบถ
ใหม่โดยคิดว่าอิริยาบถใหม่ดีกว่า เป็นสุขกว่า ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดผิด ท่านเรียกว่าวิปัลลาสธรรม
วิปัลลาสธรรมเป็นธรรมที่เห็นผิดไปจากความจริง องค์ธรรมของวิปัลลาสธรรมมี 3 อย่างคือ
1. ทิฏฐิวิปัลลาส ได้แก่ ความเห็นผิด
2. จิตวิปัลลาส ได้แก่ รู้ผิด
3. สัญญาวิปัลลาส ได้แก่ ความจำผิด
อารมณ์ของวิปัลลาสมี 4 คือ
1. อัตตวิปัลลาส สำคัญว่า นามรูปนี้เป็นตัวตน
2. สุขวิปัลลาส สำคัญว่า นามรูปนี้เป็นสุข
3. สุภวิปัลลาส สำคัญว่า นามรูปนี้เป็นสิ่งสวยงาม
4. นิจจวิปัลลาส สำคัญว่า นามรูปนี้เที่ยง
อารมณ์ทั้ง 4 อย่างนี้ เป็นอารมณ์ที่ถูกตัณหาและทิฏฐิยึดครองไว้จึงทำให้วิปริตผิดจากความเป็นจริง
อารมณ์ของวิปัลลาส 4 อย่างนี้ เมื่อนำองค์ธรรม 3 มาคูณ จะได้วิปัลลาสทั้งสิ้น 12 ประการ
วิปัลลาสธรรมทั้ง 12 ประการนี้ เกิดขึ้นเพราะไม่ได้กำหนดรู้ความจริงของรูปนาม ฉะนั้นจึง
ต้องเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งรูปนามตามความเป็นจริง โดยปฏิบัติตามนัยของสติปัฏฐาน 4
จึงจะละได้ดังนี้
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สามารถละ สุภวิปัลลาสได้
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สามารถละ สุขวิปัลลาสได้
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สามารถละ นิจจวิปัลลาสได้
4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สามารถละอัตตวิปัลลาสได้
เพราะฉะนั้นโยคีผู้ปฏิบัติ อยากเปลี่ยนอิริยาบถพึงพิจารณาในใจว่า เปลี่ยนเพื่อแก้ทุกข์ หาได้
เปลี่ยนเพื่อหาความสุขไม่ เพราะอิริยาบถที่เปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ บังทุกข์ไว้ เช่น นั่งพักเดียวเมื่อย ก็
เปลี่ยนเป็นนอน ถ้าบังคับให้นอนทั้งวันทั้งคืน ก็จะรู้ว่า การอยู่ในอิริยาบถเดียวทนไม่ได้หรือทนได้ยาก
ซึ่งเป็นลักษณะของสภาวะทุกข์ที่มีประจำอยู่ในรูปนามทั้งปวง แต่สำคัญผิดคิดว่า รูปนามเป็นสุขเป็น
ของสวยงาม น่ารัก น่าปรารถนา ด้วยความเห็นผิดนี้จึงทำให้เกิดตัณหา มีความปรารถนาในรูปนาม ซึ่ง
เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อเกิดปัญญารู้ชัดว่ารูปนาม เป็นทุกข์แท้ ๆ จึงจะละวิปัลลาสที่เคยเห็นว่าเป็นสุข
ได้ เป็นการเห็นแจ้งในอริยสัจข้อแรก คือทุกขสัจจะ
สันตติปิดบังอนิจจัง สันตติ หมายถึงการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วจนไม่เห็นเงื่อนต่อของ
รูปนาม รูปนามมีความเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ท่านอุปมาว่า ชั่วลัดนิ้วมือเดียว รูปนามเกิดดับถึงแสน
โกฏิขณะ จะยกตัวอย่างให้เห็นได้เพียงรูปเท่านั้น เช่นกระแสไฟฟ้าหรือจุดเทียนดู เมื่อจุดไฟที่ไส้เทียน
ความร้อนทำให้ไขมันที่หุ้มไส้อยู่ละลายไปสู่ไส้ ทำให้เกิดสว่างขึ้นขณะหนึ่ง แล้วจะดับลงเล็กน้อยดูให้
ดี ๆ จะเห็นไฟวับ ๆ นิด ๆ อาศัยไขมันที่มีอยู่ละลายต่อเนื่องกันอยู่ไม่ขาดสาย แสงไฟจึงสว่างอยู่ได้จน
เทียนหมดเล่มฉันใด รูปก็เกิดดับสืบต่อกันตลอดไปต่อเมื่อขาดปัจจัย 4 คือกรรม จิต อุตุ อาหาร ก็จะ
แตกดับไปเป็นการทำลายสันตติ ด้วยการมีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้อารมณ์ปัจจุบันให้ทัน ให้รู้ว่าขณะนี้
กำลังดูนามอะไร หรือดูรูปอะไรอยู่ นามรูปนั้น เป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน เช่นพองกับยุบ เป็นต้น
มิใช่รูปเดียวกันแต่เกิดติดต่อกัน เป็นแต่ไม่เที่ยง บางครั้งก็พองเร็ว ยุบเร็ว บางครั้งก็ยุบลงไปนานจนท่าน
วิปัสสนาจารย์ต้องให้เพิ่มกำหนด นั่งหนอ ถูกหนอลงในระหว่างที่กำหนดพองหนอ ยุบหนออยู่ อีก
ระยะหนึ่งเพื่อมิให้เป็นกังวลคอย หรือในขณะนั้นใจคิดถึงเรื่องอื่น ๆ ไม่อยู่ในรูปพอง รูปยุบ เช่น เกิด
โทสะไม่ชอบใจขึ้นมาก็ต้องกำหนดว่าเกิดโทสะหนอ ๆจนจิตหายโทสะแล้ว จึงกลับมากำหนดพอง
ยุบต่อไป พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในธรรมบทว่า
โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ
แปลว่า อนึ่ง บุคคลใด ไม่เห็นความเกิดขึ้นและดับไป (ของรูปนาม) พึงมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของผู้เห็น
ความเกิดขึ้นและดับไป (ของรูปนาม) เพียงวันเดียวประเสริฐกว่า
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจนเกิดปัญญา รู้แจ้งว่ารูปนามเกิดดับจึงละความเห็นว่าเที่ยงได้ ฆนบัญญัติ
หรือฆนสัญญา ปิดบัง อนัตตาไว้จึงเห็นว่าเป็นตัวตน ตัวสัตว์ ตัวฉัน ตัวเขา ความจริงตัวตนไม่มี ไม่แต่
รูปกับนามเท่านั้น
คำว่า ฆนะ หมายความว่าความเป็นกลุ่มก้อน เช่นเมฆ อาศัยไอน้ำและฝุ่นละอองรวมตัวกัน ทำ
ให้แลเห็นว่าเป็นก้อนเล็กก้อนใหญ่ลอยไปมามองเห็นได้ ในร่างกายคนก็เช่นเดียวกัน อาศัยธาตุ 4 คือ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประชุมกัน แล้วมีอากาศธาตุและวิญญาณธาตุร่วมด้วย ทำให้บัญญัติกัน
ว่า เป็นสัตว์ เป็นคน เป็นตัว ตน เรา เขา เรียกว่าเป็นอัตตา (ตัวตน) ความจริงไม่มีตัวตน คน สัตว์ เราคิด
สมมติบัญญัติกันเอง มีวิธีพิจารณาแยกรูปธาตุ นามธาตุ ให้แยกจากกันได้ดังนี้ คือ ถ้าเราพูดถึงหมู เราก็
รู้ว่าเป็นสัตว์ 4 เท้าที่เรากินเนื้อกันอยู่ทุกวัน ๆ ถ้าจะผ่าแยกออกเป็นส่วน ๆ แล้ว คำว่า ตัวหมูก็หายไป
และย่อยต่อไปจนถึงเนื้อเป็นปุยละเอียดวางอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเนื้อหมู ส่วนเนื้อขาวก็แยกไปเคี่ยวจน
เป็นน้ำมัน ความสำคัญว่าหมูก็หายไป ถ้าไม่เห็นในเวลาทำ ข้อนี้ฉันใด เมื่อโยคีบุคคลปฏิบัติอยู่ขณะนั่น
ก็ต้องรู้ว่าเป็นรูปนั่ง ไม่ใช่เรานั่ง เวลาเดินก็รู้ว่ารูปเดิน เดินไปได้โดยอาศัยธาตุทั้ง 4 มีกำลังดีอยู่ ถ้าธาตุ
4 วิปริตก็เดินไม่ได้ เช่น คนเป็นอัมพาต เพราะธาตุลมเสีย เหลือเพียงธาตุดิน, น้ำ และธาตุไฟเท่านั้น เมื่อ
ขาดธาตุลมจึงเคลื่อนไหวไม่ได้ ท่านผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติก็จะไม่ทราบความจริง หลงติดฆนสัญญา
ความสำคัญว่าเป็นก้อน เป็นแท่ง (ในวัตถุต่าง ๆ และในตัวตน) เป็นปึกแผ่นแน่นหนาและมีสาระแก่น
สาร และสำคัญว่ารูปนามเที่ยงเป็นสุขและมีตัวตน
เมื่อได้ปฏิบัติไปจนเกิดปัญญา พิจารณารูปนามแยกออกจาฆนสัญญาได้ จนทำลายฆนสัญญา
ให้แตกได้เป็นการรู้ด้วยภาวนามยปัญญา ๆ นี้เกิดขึ้นมาในขณะนั่งกำหนดอยู่ในขณะนั้นเอง จึงจะ
เรียกว่าได้ถึงวิปัสสนาญาณที่หนึ่งคือ นามรูปปริเฉทญาณ รู้จักการแยกรูปนามด้วยปัญญารู้ว่าขันธ์ 5 นี้
ไม่มีตัวตน มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ปัญญามี 3 อย่างคือ

1. สุตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ยินพระเทศน์ หรือผู้อบรมสั่งสอนในเวลาศึกษา
เล่าเรียนหรืออ่านหนังสือแล้วเกิดความรู้ขึ้นมาเข้าใจและจำได้
2. จินตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นด้วยการนึกคิด หรืออนุมานเอา ด้วยการเทียบเคียง
เอาตามวัตถุต่าง ๆ เป็นต้น
3. ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิก่อนจนจิตสะอาดปราศจากมลทิน
คือนิวรณ์ทั้ง 5 แล้วเจริญวิปัสสนาพิจารณารูป-นาม จนเกิดปัญญาเพิกสันตติ คือ ความเกิด
ดับสืบต่อของรูปนามให้ขาดได้รู้ว่ารูปนามมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่นิดหนึ่งแล้วก็ดับไป รู้ทุกข์
และเหตุให้เกิดทุกข์และรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าเห็นไตรลักษณ์ เป็นการรู้
สภาวะธรรม และขจัดความมืดคือโมหะ ซึ่งทำให้หลงได้ ตลอดจนส่งให้ถึงความปรากฏ
แห่งมรรคผล-นิพพานได้ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา
--------------------------------------------------
การเดินจงกรม
การเดินจงกรม เป็นการปฏิบัติกรรมฐานตามแบบสติปัฏฐาน ในหมวดอิริยาบถปัพพะ มีคำบาลี
ว่า คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติปชานาติ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ตัวว่าเดินอยู่ คือให้มีสติสัมปชัญญะระลึกได้ก่อนทำ
และขณะที่ยกเท้าก้าวไปแต่ละก้าวก็ให้รู้สึกตัวอยู่ว่า การที่ก้าวเท้าไปได้หรือหยุดได้หันกลับได้ ด้วย
อำนาจของธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประชุมกันและเกื้อกูลกัน จึงทำให้ร่างกาย
เคลื่อนไปได้ ประโยชน์ของการเดินจงกรม เป็นการช่วยปรับอินทรีย์ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนาให้สามารถ
ผ่านญาณ 16 ได้ เพราะการนั่งสมาธิอย่างเดียวจะเกิดนิวรณ์คือ ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน เมื่อเปลี่ยน
อิริยาบถเป็นเดินเสียบ้าง ก็ทำให้เกิดวิริยะขึ้นมา พอดีกันกับสมาธิ ไม่ยิ่งไม่หย่อนกัน ทำให้สมาธิมีกำลัง
มากขึ้น ท่านวิปัสสนาจารย์จึงสอนให้เดินนั่งสลับกันและทำให้อาหารย่อยง่ายมีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บ
ไข้บ่อย ๆ และเดินได้ทนนานเป็นชั่วโมง โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลียเลย ด้วยอำนาจของวิริยะ สมาธิ
สติสัมปชัญญะ และศรัทธาที่เป็นสมังคี คือประชุมพร้อมกันด้วยดีในอิริยาบถปัพพะ ผู้ปฏิบัติจึงเกิด
ปัญญา เห็นแจ้งในไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ทุกขํ อนัตตา รู้ว่าไม่มีตัวตน คน สัตว์ จึงละสักกายทิฏฐิได้
และละวิจิกิจฉาซึ่งเป็นความสงสัยได้ด้วย จะอธิบายโดยละเอียดต่อไป
การเดินจงกรมช่วยปรับอินทรีย์ 5 ให้เสมอกัน
การเจริญวิปัสสนา สำคัญที่ต้องปรับอินทรีย์ 5 ให้เสมอกัน อินทรีย์ 5 คือ
1. สัทธินทรีย์ ความเป็นใหญ่ของสัทธาเจตสิกทำให้เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใสในการ
ปฏิบัติวิปัสสนา
2. วิริยินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของวิริยเจตสิก ทำให้เกิดความเพียรพยายามปฏิบัติไม่
ท้อถอย
3. สตินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของสติเจตสิก ทำให้เกิดความระลึกได้ในขณะกำหนด ทำให้
ได้อารมณ์ปัจจุบัน ไม่เผลอ
4. สมาธินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของสมาธิ ทำให้เกิดอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ด้วย
อำนาจของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกับจิตทุกดวง
5. ปัญญินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ของปัญญาเจตสิก ทำให้เกิดความรู้ทั่วไปตามความเป็น
จริงแห่งสภาวธรรมทั้งที่เป็นโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม
ธรรมทั้ง 5 นี้เป็นกำลังใหญ่ที่อุดหนุนให้การทำการงานทุกอย่างได้บรรลุผลสำเร็จ ทั้งทางโลก
และทางธรรมท่านจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพลธรรม 5 ธรรมที่เป็นกำลังสำคัญ การปฏิบัติธรรมต้องอาศัย
ธรรมทั้ง 5 นี้เป็นใหญ่ก็จริง แต่ต้องปรับให้พอเหมาะ คือ
สัทธา ได้แก่ความเชื่อต้องประกอบด้วยปัญญาเป็นคู่หนึ่งจึงจะปฏิบัติได้ผง ไม่งมงาย
วิริยะ ได้แก่ความเพียร พยายามปฏิบัติไม่ท้อถอย ถ้ามีมากก็ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ซึ่งเป็นพวก
นิวรณ์ 5 นิวรณ์ 5 นี้เป็นธรรมที่มีประจำในจิตใจของทุกคน คอยกั้นใจไม่ให้ทำความดี จึงต้องมีสมาธิมา
เป็นผู้กำกับให้จิตใจตั้งมั่นไม่ให้ตกลงไปในความไม่พอใจหรือในกามฉันทะหรือธรรมอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่
อารมณ์ของวิปัสสนา นี่เป็นคู่ที่ 2 ถ้าสมาธิมากไปก็จะเฉยไป ความรู้สึกตัวจะหมดไป ต้องลุกขึ้นมาเดิน
จงกรม เพื่อให้เกิดวิริยะ ท่านวิปัสสนาจารย์ผู้ชำนาญในการแต่งอินทรีย์จึงจะสอนโยคีผู้ปฏิบัติให้ผ่าน
ญาณ 16 ได้
ความสำคัญของวิริยะกับสมาธิจึงสัมพันธ์กันดังนี้ ในอินทรีย์ 5 นี้ที่สำคัญคือ สติ ความระลึกได้
ก่อนทำ ก่อนพูด ฯลฯ เท่านั้น ยิ่งมีมากเท่าใดยิ่งดี ดังมีคำบาลีรับรองว่า สติสพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติจำ
ปรารถนาในที่ทั้งปวงดังนี้
การเดินจงกรม ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคบาลี ภาค 3 ว่าด้วยปัญญานิเทส หน้า 251 บรรทัดที่ 5 ว่า
ต โตเอกปทวารํ อุทฺธรณ อติหรณ วีติหรณ โวสฺสชฺชน สนฺนิกฺเขปน สนฺนิรุมฺภน วเสน ฉ
โกฏฐาเส กโรติฯ ตตฺถ อุทฺธรณํ นาม ปาทสฺส ภูมิโต อุกฺขิปนํฯ อติหรณํนาม ปุรโต หรณํฯ วีติ
หรณํ นาม ขาณุกณฺฏก ทีฆชาติ อาทีสุ กิญฺจิเทว ทิสฺวา อิโตจิโต ต ปาทสญฺจารณํฯ โวสฺสชฺชนํ
นาม ปาทสฺส ปุน ปาทุทฺธรณกาเล ปาทสฺส ปฐวียา สทฺธึ อภินิปฺปีฬนํฯ ตตฺถ อุทฺธรเณ ปฐวีธาตุ
อาโปธาตูติ เทฺว ธาตุโย โอมตฺตา โหนฺติ มนฺทา อิตราเทฺว อธิมตฺตา โหนฺติ พลวติโย ฯปฯ ตถา
สนฺนิกฺเขปน สนฺนิรุมภเนสุฯ เอวํ ฉ โกฏฐาเส กตฺวา เตสํ วเสน ตสฺมิ วโยวุฑฺฒตฺถคมรูเป
ติลกฺขณํ อาโรเปติ ฯ กถํฯ
แปลอย่างเอาใจความว่า ขณะที่ก้าวเท้าไปแบ่งบทเดียวหรือก้าวเดียวให้เป็น 6 ส่วนหรือ 6 ระยะดังนี้คือ
1. อุทธรณะ ยกส้นเท้าขึ้น เรียกว่า ยกส้นหนอ
2. อติหรณะ ยกเท้าจะก้าวไปข้างหน้า เรียกว่า ยกหนอ
3. วีติหรณะ เมื่อเห็นตอ หนาม หรืองู (ในขณะนั้น) แล้วย้ายเท้าไปข้างนั้นข้างนี้ เรียกว่า ย้าย
หรือย่างหนอ
4. โวสสัชชนะ เมื่อลดเท้าต่ำลงเบื้องล่าง (ยังไม่ถึงพี้น) เรียกว่าลงหนอ
5. สันนิกเขปนะ วางเท้าทาบลงที่พื้นดินแล้วเรียกว่า เหยียบหรือถูกหนอ
6. สันนิรุมภนะ เมื่อจะยกเท้าก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง ต้องกดเท้าอีกข้างหนึ่งไว้กับดิน
เรียกว่า กดหนอ
ใน 6 ส่วนนี้ (พึงมีสติ สัมปชัญญะ พิจารณา โดยเห็นว่าเป็นไปได้ด้วยธาตุ 4) คือ เมื่อยกเท้าขึ้น ธาตุทั้ง 2
คือธาตุดินกับธาตุน้ำ มีกำลังน้อย (ต่ำ) ส่วนธาตุไฟและธาตุลม มีกำลังมากกว่า ในการย่างเท้าและย้าย
เท้าก็เช่นเดียวกัน (กับการยกเท้าขึ้น)
ส่วนการหย่อนเท้าลงนั้น ธาตุทั้ง 2 คือธาตุลมกับธาตุไฟมีกำลังน้อย ธาตุดินกับธาตุน้ำ มีกำลัง
มากกว่าในการเหยียบและกดก็เช่นเดียวกัน เมื่อทำเป็น 6 ส่วนอย่างนี้แล้ว จงยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์
ดังต่อไปนี้ (ไม่ได้ยกบาลีมา) ธาตุที่ให้รูปไหวในขณะที่ยกเท้าขึ้น รูปยกเท้านั้นจะดับลง ในส่วนนี้เอง
ไม่ถึงส่วนย่างเท้า เหตุนั้นอุปาทายรูปแห่งธาตุเหล่านั้นอันใดก็ดี ธรรมทั้งปวงนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยง เป็น
ทุกข์ เป็นอนัตตา
โดยทำนองเดียวกัน ธรรมทั้งหลายอันเป็นไปในส่วนย่างเท้า ก็ดับไปในส่วนย่างเท้านั้นเอง ไม่
ถึงส่วนย้ายเท้า ฯลฯ จงพิจารณาโดยนัยนี้ทั้ง 6 ระยะว่า สังขารทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นก็แตกดับไป เหมือน
เมล็ดงาที่ซัดลงในกระเบื้องร้อน ๆ (ที่ตั้งอยู่ตรงเตาไฟ) ย่อมแตกดังเปรี๊ยะ ๆ ดับไปฉะนั้น
เหตุนั้น สังขารทั้งหลายจึงชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะไม่เที่ยงจึงชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นทุกข์ จึงชื่อ
ว่าเป็นอนัตตา เป็นการเห็นแจ้งด้วยปัญญา
ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ท่านอธิบายไว้เช่นนี้ โยคีอย่าเข้าใจผิดว่าไม่เหมือนกับการเดิน 6 ระยะ ที่
ท่านอาจารย์ในสำนักวิเวกอาศรมสอน ที่ท่านเริ่มสอน ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอนั้นถูกแล้ว เพราะ
เป็นการฝึกหัดเบื้องต้น ต้องหัดเป็นระยะ ๆ ไปตามกำลังของสมาธิและปัญญาที่เกิดขึ้นมาในขณะปฏิบัติ
ซึ่งมีสมาธิและวิริยะหย่อนกว่ากันอย่างไร ควรเดินจงกรมระยะไหนดี จึงจะเกิดปัญญาญาณจนครบ 16
ญาณได้
นอกจากนี้ท่านยังสอนให้พิจารณาแบ่งวันหนึ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ กลางวันและกลางคืน โดย
พิจารณาว่า รูปอันเป็นไปในกลางวัน ก็ดับไปในกลางวันนั้นเองไม่ถึงกลางคืนเหตุนั้นรูปนั้นจึงชื่อว่า
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จากนั้น ทำคืนและวันให้เป็น 6 ส่วนโดยแบ่งเป็นเช้า กลางวัน เย็น และกลางคืน ก็แบ่งเป็นยาม
ต้น ยามกลาง ยามปลาย แล้วยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เช่นเดียวกันกับพิจารณาวันเป็น 2 ส่วน
ความเกิดขึ้นและเสื่อมไปในรูปนั้น มีวิธีพิจารณาหลายอย่าง เช่นแบ่งร้อยปีเป็น 3 ส่วน หรือ
เป็น 10 ส่วนบ้าง เช่น มันททสกะ 10 ปี แห่งเด็กอ่อนเป็นต้น แล้วไตร่ตรองเพื่อยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ โดยว
โยวุฑฒัตถคมะ ด้วยอำนาจทสกะเหล่านั้น ในรูปนั้น ๆ ดังนี้ว่ารูปอันเป็นไปในทสกะแรกย่อมดับไป
ในทสกะนั้นเองไม่ถึงวัยที่ 2 คือขิฑฑาทสกะ 10 ปีแห่งการเล่นสนุก ฉะนั้นรูปในวัยแรกนั้นจึงชื่อว่าไม่

เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จงพิจารณาเช่นนี้ ไปจนถึงทสกะที่ 10 ว่า รูปอันเป็นไปในทสกะที่ 10 ก็ดับ
ไปในทสกะที่ 10 นั้นเอง ในถึงภพใหม่ เหตุนั้น แม้รูปที่เป็นไปในทสกะที่ 10 ก็ชื่อว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นอนัตตาเรียกว่า ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในวโยวุฑฒัตถคมะ
มีวิธีแบ่งโดยอาการ 6 แห่งรูปนี้ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ได้อีกวิธีหนึ่งโดยเป็นคู่ ๆ คือยกรูปขึ้นสู่ไตร
ลักษณ์โดยอาการ (เคลื่อนไหวร่างกาย) ก้าว, ถอย, แล เหลียว, คู้ เหยียด อีกว่า รูปอันเป็นไปในตอนก้าว
ก็ดับไปในตอนก้าวนั้นเองไม่ถึงตอนถอย ฯลฯ จนถึงรูปอันเป็นไปในตอนคู้ ก็ดับไปในตอนคู้นั่นเอง
ไม่ถึงตอนเหยียด เหตุนั้นรูปนั้นจึงชื่อว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
การพิจารณาโดยอุบายวิธีต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาหลายวิธีนั้น แล้วเกิดความยินดีพอใจในผลของ
การปฏิบัตินั้นโดยคิดว่าเราสามารถเห็นแจ้งได้แล้วว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไร ในร่างกายเรานี้ไม่มีอะไร มี
แต่รูปกับนามเท่านั้น” “นี่เป็นความเห็นแจ้งของเรา เรารู้แล้ว ไม่ต้องเพิ่มความรู้จากใครอีกแล้วถ้ามี
ความรู้สึกเช่นนี้ก็ยังชื่อว่า ยังเต็มไปด้วย มานะ ทิฏฐิ ยังเพิกทิฏฐิไม่ได้ เพราะยังมีความยินดี พอใจอยู่ ยัง
มีอัตตาอยู่เพราะยังมีความรู้สึกว่า ฉันทำฉันกินฉันนั่งฉันนอนฉันทำวิปัสสนาอยู่
ก็เมื่อพิจารณาเห็นไตรลักษณ์จนรู้แจ้งว่า รูปนามสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มี
ตัวตน คน สัตว์ เรา เขา แล้ว จะมาภูมิใจในความรู้ในไตรลักษณ์เพื่ออะไรเล่า ความจริง สังขารทั้งหลาย
นั่นเอง เห็นแจ้งสังขารทั้งหลาย พิจารณา วิเคราะห์ดู กำหนดดู แยกดูซึ่งสังขารทั้งหลายเองมิใช่ตัวเรา
เป็นผู้ดู ผู้รู้เอง เมื่อพิจารณาอยู่เช่นนี้จึงจะชื่อว่าเป็นการเพิกมานะและทิฏฐิได้ ไม่หลงยินดีใน
สภาวะธรรมที่กำหนดในขณะปฏิบัติวิปัสสนาอยู่ได้เด็ดขาดผู้ปฏิบัติจะหลุดพ้น เป็นการละวิปัลลาสได้
จะเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ 4 คือบรรลุมรรค ผล นิพพานในชาตินี้แน่นอน
------------------------------------------------

ปุจฉา-วิสัชนา
ปุจฉา อยากปฏิบัติวิปัสสนาบ้าง จะทำเองตามตำรา ไม่ต้องไปหาครูบาอาจารย์จะได้ไหม?
วิสัชนา ได้ แต่จะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะการปฏิบัติควรมีกัลยาณมิตร คือผู้ที่เคยปฏิบัติ
มาแล้วช่วยแนะนำให้ เพราะความรู้จากตำรา กับ ความรู้จากการปฏิบัติต่างกันมาก
เหมือนน้ำตาลกับเกลือถ้าไม่ชิมดูก็ไม่รู้ และผู้ปฏิบัติจะต้องมีศีลบริสุทธิ์ก่อนแล้วจึงนั่ง
สมาธิ มีสติ สัมปชัญญะให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ ๆ
ปุจฉา ศีลคืออะไร? มีเท่าไร อะไรบ้าง?
วิสัชนา ศีลคือความสำรวม กาย วาจา โดยอาศัยใจเป็นเหตุให้เกิดการเว้นจากกายทุจริต วจี
ทุจริต และมิจฉาชีพ เรียกว่ามีเจตนา เจตสิกเกิดขึ้นประกอบจิตให้เกิดวิรัติคือการงด
เว้นจากความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจาให้ได้ ในขณะที่มีอารมณ์อันจะเป็นเหตุให้
กระทำทุจริตมาปรากฎเฉพาะหน้า ก็งดเว้นได้ ด้วยอำนาจของสติสังวร 1 ปาฏิโมกข์ 1
ขันติสังวร 1 ฌานสังวร 1 ศีลมี 2 ประเภท
1. ศีลของคฤหัสถ์ 2. ศีลของบรรพชิต (สังวร คือ การสำรวมทางกาย วาจา ใจ)
ปุจฉา สมาธิคืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร?
วิสัชนา สมาธิคือ อาการที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้ ชั่วขณะหนึ่ง ๆ เรียกว่า สมาธิ ๆ มี
3 อย่าง คือ ขณิกสมาธิ ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ได้นาน จนข่มกิเลสนิวรณ์ไว้ได้ จนไม่ยินดียิน
ร้าย เรียกว่าอุปจารสมาธิ ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ได้แนบแน่น จนไม่หันไปหา
อารมณ์อื่น ๆ และข่มนิวรณ์ให้สงบได้นาน ๆ จะเข้าถึง ฌานจิตด้วยอำนาจของ
เอกัคคตาเจตสิก ฌานจิตมีองค์ 5 คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และ
ปัญจมฌาน มีชื่อว่า อัปปนาสมาธิ
ประโยชน์ของสมาธิคือ
1. ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน (ด้วยการปราบนิวรณ์ 5 ได้) เป็นการหาที่พึ่งให้จิตใจได้
พัก ย่อมได้รับความสุขอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเกิดด้วยอำนาจของฌาน
2. เป็นบาทของวิปัสสนา ทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญาได้เร็วขึ้น
3. เป็นเหตุแห่งอภิญญา และสมาบัติ 8 แม้พระพุทธเจ้าก็เคยศึกษามาก่อนแล้ว
4. เมื่อตาย ย่อมเกิดในสุคติ คือ สวรรค์ หรือในพรหมโลก เป็นรูปพรหม หรืออรูป
พรหม ตามสมควรแก่ฌานที่ตนได้ ในปัจจุบันจะเป็นผู้มีทรัพย์ มีอายุยืน และมี
ความสุข

ปุจฉา คำว่า กรรมฐาน คืออะไร?
วิสัชนา คำว่า กรรมฐานแยกออกเป็น กรรม+ฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งการงานทางจิต ฝึกจิตให้
สงบ คำว่ากรรม หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา ใจ ทั้งที่เป็นส่วนกุศลคือ ทำความดี
และอกุศลคือ ทำชั่ว แต่ในที่นี้ มุ่งเฉพาะการทำความดีอย่างเดียว มีการงานที่เป็นการ
กระทำให้จิตสงบและเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน การงานที่
เป็นการกระทำให้จิตสงบและเกิดความสงบระงับกิเลสนิวรณ์ได้เรียกว่า สมถกรรม
ฐาน
ปุจฉา สมถกรรมฐาน คืออะไร? มีอะไรเป็นอารมณ์?
วิสัชนา สมถะแปลว่า ความสงบ หมายถึงการทำสมาธิให้จิตตั้งมั่นอยู่ได้ในอารมณ์เดียวได้
นาน ๆ จนจิตสงบจาก โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นกิเลสที่ประกอบกับจิตอยู่เสมอ และ
ข่มนิวรณ์ 5 ซึ่งเป็นธรรมที่กั้นจิตไม่ให้ทำความดีได้ ในเมื่ออบรมสมาธิให้แนบแน่น
กับอารมณ์จนถึงขั้นอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตแนบแน่นกับอารมณ์ถึง
ที่สุดก็เข้าถึง ฌานหรือเรียกว่า ฌานจิตฝึกได้ตามใจชอบ จะให้ตาทิพย์ หูทิพย์ก็
ได้ แต่ต้องทำจนได้อภิญญา จึงจะแสดงฤทธิ์ได้ตามความปรารถนา
อารมณ์ของสมถกรรมฐานมี 40 อย่างคือ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 อา
หาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัฏฐาน 1 อัปปมัญญา หรือพรหมวิหาร 4 อรูปกรรมฐาน
4 รวมเป็น 40 ท่านให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งมาเพ่งทุกวัน ๆ ละไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง
ควรเป็นเวลาเดียวกัน เรียกว่า บริกรรม หรือบริกรรมภาวนาแล้วจึงจะถึง อุปจารภาวนา
และอัปปนาภาวนา คำว่าภาวนา แปลว่าการทำให้เจริญขึ้น หมายถึงการทำบ่อย ๆ
นั่นเอง เมื่อมีนิมิตเกิดขึ้นจากการบริกรรมภาวนาเรียกว่าบริกรรมนิมิต หมายถึงทำ
สมาธิด้วยการบริกรรม บริกรรมมีนิมิต คือ เครื่องหมายที่เป็นอารมณ์จนเกิดมโนภาพ
เมื่อเพ่งไปนาน ๆ จนภาพนั้นติดตา เรียกว่า เกิดอุคคหนิมิต จะลืมตา หรือหลับตาก็เห็น
ได้ชัดเจน
เมื่อเพ่งต่อไปจนสามารถขยายภาพนั้นให้ใหญ่ขึ้น ๆ ได้ หรือย่อภาพนั้นให้
เล็กลง ๆ จนถึงที่สุดได้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต
การทำสมถะกรรมฐาน จึงเป็นการเพ่งวัตถุเป็นบัญญัติอารมณ์ ปัญญาไม่เกิด
เกิดแต่ความสุข จากการเผากิเลสได้ชั่วคราว คำว่า ฌาน เรายังนำมาใช้ในการเผาศพ
เรียกว่า ฌาปนกิจฌาปนสถาน = การเผา ที่เผา คำว่าอุปจาร อัปปนา หมายถึง ขีด
กำหนดของการทำสมาธิเท่านั้น เมื่อนำไปประกอบกับการทำสมาธิ ก็เรียกว่าอุปจาร

สมาธิ ประกอบกับภาวนาก็อุปจารภาวนา สรุปแล้วการภาวนาเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ
สมาธินั้นมีอยู่ทุกวันแม้แต่จะเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ทำงานทุกอย่าง ก็ต้อง
ประกอบด้วยความตั้งใจทุกขณะเรียกว่า ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะหนึ่ง ๆ
ปุจฉา วิปัสสนา คืออะไร?
วิสัชนา คำว่า วิปัสสนาเป็นชื่อของปัญญาซึ่งเกิดจากการกระทำสมาธิชั่วขณะ ๆ หนึ่งแต่ทำ
ติดต่อกันนาน ๆ จนเกิดปัญญารู้ไตรลักษณ์คือรู้อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา ซึ่งมีขันธ์ 5 คือ
รูปนามของตนเอง เป็นอารมณ์และประกอบด้วย มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ซึ่งเรียกว่า
อัชฌัตติอารมณ์ = อารมณ์ภายใน และพหิทธอารมณ์ = อารมณ์ภายนอกได้แก่ รูป-นาม
ของผู้อื่นซึ่งมาปรากฎทางทวารทั้ง 6 ที่เป็นปัจจุบันชั่วขณะที่เห็น ที่ได้ยิน หรือได้กลิ่น
อะไร ก็ให้มีสติรู้ทันว่า สิ่งนั้นเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป และจะเกิดสืบต่อกันดุจลูกคลื่น
หรือ กระแสไฟฟ้าที่เกิดดับสืบต่อกันอยู่ไม่ขาดสาย จนเกิดปัญญาขึ้นมาเองจากการทำ
ภาวนา เรียกว่า ภาวนามยปัญญา เห็นว่า (รู้ด้วยใจ) รูป-นามไม่เที่ยง มีการเกิดดับอยู่
ตลอดเวลา = สิ้นไป เพราะเป็นอนิจจัง เป็นทุกขังคือ แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และ
เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ๆ ไม่ใช่ตัวตน คน สัตว์ ไม่มี
สาระ แก่นสารอะไร
ประโยชน์ของการเห็นว่ารูป-นาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ ย่อมทำลาย
ความเห็นผิดคือ สักกายทิฏฐิ ที่คิดว่ารูป-นาม เที่ยง เป็นสุข เป็นตัวฉัน ตัวเขาเสียได้
เป็นอุบายให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
อารมณ์ของวิปัสสนามีเพียงอย่างเดียว คือรูป-นาม ที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น รูป
คือ รูปขันธ์ อันประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 และรูปที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง 6 ที่เรียกว่า รูปา
รมณ์ เป็นต้น คือเมื่อตาเห็นรูป ๆ นั้น ก็เป็นอารมณ์ให้จิตเข้าไปรับรู้ ซึ่งเรียกว่าเกิดจักขุ
วิญญาณ คือรู้อารมณ์ทางตาก่อนที่จะรู้อารมณ์ทางตาครั้งหนึ่งต้องมีส่วนประกอบ
หลายอย่างคือ
1. ต้องมีประสาทตาดี
2. ต้องมีแสงสว่างพอ
3. ต้องมีรูปารมณ์ คือสีต่าง ๆ ปรากฏขึ้น
4. ต้องมีมนสิการ คือความตั้งใจที่จะดู
เมื่อทุกอย่างมีพร้อมแล้ว การเห็นรูปจึงเกิดด้วยความรวดเร็ว จะมีการเกิดดับ
ติดต่อกันถี่ยิบจนนับไม่ถ้วน การรู้อารมณ์ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องมีสิ่งที่เป็น

อายตนะภายนอกมากระทบทวารนั้น ๆ ก่อนจึงจะเกิดความรู้ขึ้นได้ และต้องมีปสาท
รูปดีด้วย ทุกทวาร เมื่อรูปกระทบตาครั้งหนึ่งหรือหูได้ยินเสียงครั้งหนึ่ง ขันธ์ 5 เกิด
พร้อมกันทุกครั้ง เพราะเมื่อตา กับรูปกระทบกันเกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรม 3 ประการ
นี้เกิดผัสสะ ๆ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ๆ เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คือความพอใจ อยาก
ได้หรือไม่อยากได้ ตัวสังขารในขันธ์ 5 ก็คอยปรุงแต่งจิตอยู่ให้ จิตสั่งไปทางกาย วาจา
ให้ทำหน้าที่แสดงออกมา ถ้าการกระทำทางกายก็ดี ก็เรียกว่า กายสุจริต ทำไม่ดี
เรียกว่า กายทุจริต การกระทำกรรม จึงว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลกรรมใดที่ทำแล้ว
ให้ผลเป็นสุขก็เป็นผลของกุศล จะวนเวียนอยู่เช่นนี้จนตลอดชีวิต ท่านจึงสอนให้
อบรมจิตให้มีสมาธิ และปัญญาชั้นสูงด้วยการเจริญวิปัสสนา จนสามารถบรรลุ มรรค-
ผล นิพพานได้ ดังคำบาลีที่มาในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค
สตฺ ตานํ วิสุทธิยา โสกปริเทวานํ สมติ กฺ กมาย ทุกขฺโท มนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย
ญายสฺส อฺธิคมาย นิพฺพานสสฺ สจฺฉิกิริยา ย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฐานา
แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์
ทั้งหลาย เพื่อระงับ ความโศก ความคร่ำครวญ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุ
อริยมรรค เพื่อความเห็นแจ้งแห่งนิพพาน มีทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องปฏิบัติตามสติปัฏ
ฐาน 4 สติปัฏฐาน 4 คือธรรมเป็นที่ตั้งอยู่ของสติ มีสติเข้าไปตั้งอยู่ในกาย ในเวทนา ใน
จิต และในธรรม คือ
1. กายานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณากายทั้งภายใน ภายนอก มีอาราปานปัพพ
เป็นต้น
2. เวทนานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์
3. จิตตานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณาจิตว่าขณะนี้จิตมี ราคะหรือมีโทษะก็รู้ทัน
และกำจัดได้
4. ธัมมานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณาธรรม มีนิวรณ์ 5 เป็นต้น
ปุจฉา การพิจารณา หรือการกำหนดรู้อิริยาบถ ของผู้ปฏิบัติธรรมทำให้เกิดปัญญาได้
อย่างไร?
วิสัชนา การกำหนดอิริยาบถใหญ่ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน อิริยาบถน้อยคือ ในการคู้อวัยวะเข้า
และเหยียดอวัยวะออก ก้ม เงย แลเหลียว เป็นต้น จะทำให้เกิดปัญญาได้ ต้อง
ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะและมนสิการให้ถูกต้อง โดยกำหนดในสติปัฏฐานทั้ง 4
คือ 1. กายานุปัสสนา 2. เวทนานุปัสสนา 3. จิตตานุปัสสนา 4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏ
ฐาน การกำหนดอิริยาบถต้องปฏิบัติในข้อ 1 คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการ
กำหนดรูป เช่น เดิน มีบาลีว่า คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ เมื่อเดินก็มีสติรู้ชัดว่า
เดินอยู่ คือ รูปเดินนี้เกิดจากจิตคิดจะเดิน อาการเดินก็เกิดขึ้น พูดง่าย ๆ ว่า จิตสั่งให้รูป
เคลื่อนไป รูปนั่ง นอน ก้ม เงย คู้ เหยียด ก็เช่นเดียวกัน เกิดจากจิตสั่ง เรียกว่า จิตชรูป
คือรูปที่เกิดจาก จิต มีจิตเป็นสมุฏฐาน มิใช่เกิดขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีเหตุผล เกี่ยวกับ
การหัวเราะ ร้องไห้ ร้องเพลง เขียนหนังสือ ฯลฯ ล้วนแต่เกิดจากจิตชรูปอุดหนุน
อิริยาบถทั้ง 4 ให้ตั้งมั่นได้ให้เคลื่อนไหวได้ ที่สำคัญคือ จิตชรูปมีหน้าที่สามัญเป็น
ประจำ โดยการทำให้เกิดการเต้นของหัวใจและการหายใจเข้า-ออก ทำการสูบฉีด
โลหิตไปเลี้ยงร่างกายได้ รูปนามมีความสัมพันธ์กันตลอดเวลา มีการเกิดดับสืบต่อกัน
ไม่ขาดสาย ท่านจึงสอนให้กำหนดจิตขณะที่คิดจะเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้เกิดปัญญา
เห็นไตรลักษณ์ (ดูเรื่องการเดินจงกรม)
ปุจฉา เหตุใดจึงมีผู้กล่าวว่า การปฏิบัติสมาธิภาวนาจะได้มหากุศล และเป็นทางหลุดพ้นได้
วิสัชนา การทำสมาธิภาวนามี 2 อย่าง เรียกว่า สมถภาวนา อย่างหนึ่ง เป็นอุบายสงบใจ
วิปัสสนาภาวนาอย่างหนึ่ง สมถภาวนา มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ได้แก่ กสิณ 10 อสุภะ 10
อนุสสติ 10 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถานะ 1 อัปปมัญญา หรือพรหมวิหาร 4
อรูปกรรมฐาน 4 รวมเป็น 40 ประการ เป็น (จะชอบใจประการใด) อารมณ์ของสมถะ
เมื่อผู้ปฏิบัติชอบใจบทใด บทหนึ่งก็ได้โดยการตั้งสติระลึกอยู่ที่อารมณ์นั้น ๆ จนจิต
สงบจากนิวรณ์ ทั้ง 5 ได้ก็ใช้ได้แต่การทำสมถภาวนา พ้นทุกข์ไม่ได้ ได้แต่เป็นบาทคือ
ฐานของวิปัสสนาให้ได้ดีขึ้น ต้องปฏิบัติวิปัสสนาจึงจะพ้นทุกข์ได้
ส่วนการทำวิปัสสนาภาวนา ที่จะบรรลุ มรรค ผล นิพพานได้นั้น วิธีปฏิบัติก็มี
อยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้วตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นการปฏิบัติวิปัสสนาทั้งหมด
ปุจฉา นิวรณ์ คืออะไร? เป็นข้าศึกของผู้ปฏิบัติธรรมอย่างไร? มีอะไรแก้ได้
วิสัชนา นิวรณ์ คือธรรมที่กั้นจิตไม่ให้กระทำความดี มี 5 ข้อที่เป็นข้าศึกของผู้ทำสมาธิ
1. กามฉันทะ ได้แก่ใจที่คิดถึงอารมณ์ที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ
หรือคิดถึงอาหารที่มีรสอร่อย ซึ่งตนเคยลิ้มรสมา สิ่งเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในใจ เวลาทำ
สมาธิก็จะเกิดขึ้นมากลุ้มรุมจิต ทำให้จิตไม่สงบ ต้องแก้ด้วยคิดถึงร่างกายเป็นอสุภะ
เสีย
2. พยาปาทะ คือความพยาบาท อาฆาต แค้นเคือง คิดจะประทุษร้ายผู้ที่
ตนไม่พอใจ ต้องแก้ด้วยปรับใจให้เกิดเมตตา

3. ถีนมิทธะ ได้แก่ ความง่วงเหงาหาวนอน จิตหดหู่ ท้อถอยไม่อยาก
ปฏิบัติธรรม ต้องแก้ด้วยอนุสสติ ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ฯลฯ
4. อุทธัจจะ กุกกุจจะ ได้แก่การฟุ้งซ่านจับอารมณ์ไม่มั่นและรำคาญใจ
ในสิ่งที่ทำไปแล้วและที่ยังไม่ได้ทำ คิดสับสนวุ่นวายท่านจึงให้เพ่งกสิณก็จะสงบได้
ชั่วคราว ต้องปราบด้วยองค์ฌานจึงจะหายขาดได้
5. วิจิกิจฉา ความสงสัยเคลือบแคลงในพระรัตนตรัยในอดีต อนาคต ใน
สิกขา เช่นสงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ? พระธรรม เป็นธรรมที่ป้องกันผู้ปฏิบัติมิให้
ตกไปในที่ชั่วได้จริงหรือ? พระสงฆ์ (อริยสงฆ์) มีจริงหรือ เป็นต้น มิใช่สงสัยในการ
เรียนวิชาทางโลก หรือสงสัยว่าเรื่องนี้ใครเป็นคนก่อ ฯลฯ อาวุธที่จะปราบนิวรณ์ได้
เด็ดขาดคือ ต้องทำสมาธิสมถะและวิปัสสนาจนได้องค์ฌานทั้ง 5 คือวิตก วิจาร ปีติ สุข
เอกัคคตา ก็จะปราบได้
องค์ฌาน 5 คือ
1. วิตก ได้แก่การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐานไว้ปราบถีนมิทธะได้
2. วิจาร ได้แก่การเคล้าคลึงอารมณ์ประคองจิตให้อยู่ในกรรมฐานไว้ปราบ
วิจิกิจฉาได้
3. ปีติ ได้แก่ความอิ่มใจ จะมีแต่เมตตาเปี่ยมในใจไว้ปราบพยาบาทได้
4. สุข ได้แก่ความสบายอกสบายใจ ใจคอสงบเยือกเย็นได้ปราบอุทธัจจกุก
กุจจะ
5. เอกัคคตา ได้แก่ความที่จิตเป็นหนึ่งเพ่งอยู่ในอารมณ์เดียวมีสมาธิไม่คิดไป
ถึง รูป รส กลิ่น เสียง จึงปราบกามฉันทะได้
ปุจฉา มีผู้สงสัยว่า การบำเพ็ญสมาธิภาวนา จำเป็นต้องสวดมนต์ก่อนหรือไม่?
วิสัชนา ไม่จำเป็นต้องสวดมนต์ก่อนก็ได้ เพราะพุทธโอวาทที่ตรัสแก่พระสาวกทั้งหลายทรง
สรรเสริญปฏิบัติบูชาว่า สามารถดำรงศาสนาให้ตั้งมั่นอยู่ตลอดกาลนานได้ และธุระใน
ศาสนาก็มี 2 คือ
1. คันธถุระ ได้แก่การเรียนพระไตรปีฏกแล้วทรงจำไว้ได้ กล่าวสอนผู้อื่นได้
เรียกว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่พึงทำ
2. วิปัสสนาธุระ ได้แก่การพิจารณาความเกิดขึ้นและเสื่อมไปของร่างกาย
ตามสภาวะของรูปนามตามความเป็นจริง โดยดำเนินทางมรรคมีองค์ 8
ให้ติดต่อกันไปไม่ขาดสาย จนเกิดปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ 4 และรู้ใน
ความเป็นอนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา จนสามารถยังมัคคญาณ ผลญาณให้บังเกิด
ขึ้นได้ มีโสดาปัตติมัคคเป็นต้นไป จนถึงอรหัตตมัคคอรหัตผลเป็นที่สุด
ซึ่งสำคัญกว่าคันถธุระมาก
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การศึกษาเล่าเรียนก็ดี ควรท่องบ่นทรงจำไว้ให้ได้ แต่ถ้า
ปฏิบัติสมาธิภาวนาไปจนได้อุคคหนิมิต จะลืมตา หรือหลับตาก็เห็นนิมิตนั้น ๆ ท่านก็
ต้องระวังรักษาไว้ไม่ให้เสื่อม จึงไม่ต้องสวดมนต์แม้การปฏิบัติวิปัสสนาก็ต้องกำหนด
ตั้งแต่รู้สึกตัวตื่นนอน ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอทุกอิริยาบถ ถ้า
เผลอโมหะก็เข้ามาครอบงำจิตได้
สรุปแล้ว เมื่อเริ่มต้นทำสมาธิภาวนาครั้งแรกควรเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์
และสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 โดยแบบมีเจตนางดเว้นจากทุจริตทั้งมวลต่อหน้า
พระพุทธรูปก็ได้ ไม่ต้องไปขอต่อพระสงฆ์ให้ลำบาก
สวดมนต์ไหว้พระเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติธรรมเหมือนกัน เพราะขณะ
สวดมนต์ใจต้องเป็นสมาธิอยู่ตลอดเวลา ถ้าเผลอก็สวดผิด เมื่อสวดมนต์นานก็ได้สมาธิ
มากเหมือนกันเพราะขณะนั้นจิตสงบจากกิเลสได้ชั่วคราว ก็จัดว่าเป็นการดี ถ้ามีเวลา
สวดมนต์แม้นั่งอยู่ในรถประจำทางก็สวดได้
ปุจฉา คำว่า รูป-นาม คืออะไร ขอคำกำจัดความสั้น ๆ ที่จะจำได้ง่าย ๆ ?
วิสัชนา คำว่า รูป ตามปรมัตถทีปนีฏีกา แสดงว่า รุปฺปตีติ = ธรรมชาติใด ย่อมแตกสลายได้
เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่ารูปฺ รุปฺปติ รูปํ สีตุณฺหาทิวิโร ธิปจฺจเยหิ วิการมาปชฺช
ติ อาทิยตีติ วา อตฺโถ ฯ เตนาห ภควา สีเตนปิ รุปฺปติ อุณฺเหนปิ รุปฺปตีติ อาทิ ฯ
ธรรมชาติที่เรียกว่า รูป นั้น เพราะเหตุว่าเป็นธรรมชาติที่แตกสลายได้ และ
ย่อมถึงซึ่งการผันแปรกลับกลอก ด้วยปัจจัยที่เป็นข้าศึก มีความร้อนและเย็นเป็นต้น
สภาวะของรูปนี้ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป จะเกิดขึ้นมาได้เพราะมีเหตุปัจจัย
หลายอย่าง รูปที่มีชีวิต คือ คนและสัตว์ เกิดขึ้นมาโดยมี กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็น
ปัจจัย รูปที่ไม่มีชีวิตได้แก่ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น เกิดจากอุตุ คือฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน
นั่นเอง เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นหรือจะพูดว่า เกิดจากธาตุทั้ง 4 คือดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ได้ นาม
มี 2 อย่างคือ จิต(ใจ) และเจตสิก เรียกว่า จิตนาม เจตสิกนาม
จิต เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ คือรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 มีตา หู จมูก ลิ้น กาย
ใจ (มโน) ท่านเรียกว่า ทวารเป็นประตูรับอารมณ์ นั่นเอง จิตเกิดโดยมี หทัยวัตถุรูป
กรรมและอารมณ์ เป็นปัจจัย

เจตสิก เป็นธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด คือจิตเกิดเมื่อใด เจตสิกจะเกิดด้วยทุกครั้ง
และทำให้จิตเปลี่ยนแปลงไปได้ต่าง ๆ เปรียบง่าย ๆ คือจิตเหมือนน้ำใส เจตสิกเหมือน
สีจะผสมกันสนิทเป็นอันเดียวกัน ท่านจัดไว้ 4 ข้อคือ
1. เอกุปฺปาทะ เกิดพร้อมกับจิต
2. เอกนิโรธ ดับพร้อมกับจิต
3. เอการมฺพน มีอารมณ์อันเดียวกับจิต
4. เอกวตฺถุก มีที่อาศัยเกิดแห่งเดียวกันกับจิต
คำว่ารูป นาม นี้ ท่านว่าเป็นนิสสัตตะ คือไม่ใช่สัตว์บุคคลและนิรชีพ คือไม่มี
ชีวิต เป็นการประชุมพร้อมของธรรมชาติที่ท่านเรียกว่า สภาวะคือสิ่งที่เกิดขึ้นมา
ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ มารวมกันพอเหมาะพอดีก็เกิดขึ้นมาเอง คำว่า สภาวะกับ
สภาวธรรมเป็นคำเดียวกัน
ปุจฉา คำว่าธรรม หมายความว่าอย่างไร?
วิสัชนา คำว่าธรรม มีความหมายหลายอย่าง จำง่าย ๆ ว่า คำว่าธรรม คือความเป็นเอง เป็น
ธรรมดาสภาพ ดังบาลีว่า กุสลาธมฺมา = ธรรมที่เป็นกุศล อกุสลาธมฺมา = ธรรมที่เป็น
อกุศล เป็นคำกลาง ๆ เมื่อนำไปใช้ประกอบกับคำใดก็มีความหมายให้รู้ชัดเจนขึ้น
ปริยัติธรรม ดังบาลีว่า อิธ ภิกฺขุ ธมฺมํ ชานาติ สุตฺตํ เคยฺยํ เวยฺยา กรณํ ฯ เป็นอาทิ สรุป
แล้วหมายถึงโลกียธรรม แลโลกุตตรธรรม คือธรรมที่พ้นจากโลกด้วย แสดงว่าเป็น
สภาพที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ท่านให้หัวข้อไว้ ดังนี้
1. สภาพหรือสภาวะ, ธรรมดา ความเป็นเอง 2. ปัญญา ความรอบรู้ 3.
บุญกุศล 4. บัญญัติ คือการแต่งตั้ง 5. อาบัติ ดังบาลีว่า ปาราชิกา ธมฺมา 6. ปฏิบัติธรรม
7. ปรมัตถธรรม สภาพของนาม-รูป ไม่มีการผิดแปลกแปรผันแต่อย่างใด เป็นธรรมที่
เป็นประธานในอัตถบัญญัติ และนามบัญญัติทั้งปวง 8. วิการ คือ การเปลี่ยนแปลงดัง
บาลีว่า ชาติ ธมมา ชราธมมา มรณาธมฺมา 9. คุณ ความดี 10. ปัจจัย, เหตุ และสิ่งที่เกิด
แต่เหตุ ยังมีอีกมากมาย จำง่าย ๆ ว่าหมายถึงความทรงไว้ซึ่งสภาพธรรมดา ๆ ไม่
เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล เช่นความหิว ความอิ่ม ก็เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง เรียกว่า
เป็นไปด้วยเหตุ เพราะขาดอาหารเป็นเหตุ เมื่อได้กินอาหารแล้วก็เกิดความอิ่มขึ้นมาเอง
เช่นนี้แหละเรียกว่าสภาวะ

ปุจฉา คำว่า กรรม หมายความว่าอย่างไร?
วิสัชนา คำว่า กรรม หมายความว่า การทำมาจากกรฺธาตุ ในการกระทำหมายถึงการทำงาน
ทั้งสิ้น ทำบุญเรียกว่า กุศลกรรม ทำบาป เรียกว่า อกุศลกรรม ทำกลาง ๆ เรียกว่า
อัพพยากตธรรม คือเป็นการกระทำที่ให้เกิดผลนั่นเอง ทำทุกอย่างเป็นกรรมหมด เช่น
จักสาน เรียกว่า หัตถกรรม งานศิลป เรียกว่า ศิลปกรรม ค้าขาย เรียกว่า พานิชยกรรม
เป็นต้น
บางคนเข้าใจผิด คิดว่า กรรมเป็นคำที่ไม่ดี เช่นคำว่า เวรกรรม ส่วนคำว่า
ธรรมเป็นความดีเข้าใจผิดกันมานาม ขอให้หายข้องใจกันเสียที คำที่มาจากบาลี
มักจะมีคำว่า ธรรมต่อท้ายคำที่เป็นนามทั่วไป ส่วนคำที่เป็นกริยา คือแสดงอาการทำ
แล้วก็มี กรรมต่อท้ายเสมอ
ปุจฉา การพิจารณา หรือการกำหนดรู้อิริยาบถของผู้ปฏิบัติธรรม จะทำอย่างไรจึงจะรู้รูป-
นาม
วิสัชนา ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติกำหนดอิริยาบถใหญ่ น้อยให้ทันปัจจุบันเพื่อให้ละอัตตา ตัวตน
คน สัตว์ ที่คิดว่าเป็นตัวฉัน ตัวเขา ตัวเรา ให้ออกไปจากจิตใจ โดยให้พิจารณาว่า
ร่างกายของคน หรือสัตว์นั้น เกิดจากการประชุมพร้อมกันของธาตุ 4 คือ
1. ปฐวี ธาตุดิน ซึ่งมีลักษณะแข็งหรืออ่อนสัมผัสถูกต้องได้
2. อาโปธาตุ ธาตุน้ำ มีลักษณะไหลและเกาะกุม
3. เตโชธาตุ ธาตุไฟ มีลักษณะร้อนและเย็น
4. วาโยธาตุ ธาตุลม มีลักษณะเคลื่อนไหว หรือเคร่งตึง
รวมเรียกว่า รูป และมีอากาศธาตุ และมีวิญญาณธาตุซึ่งได้แก่จิตใจ เรียกว่า
นาม รูปและนามนี้มีปัจจัยมห้เกิดจึงเกิดขึ้นได้ รูปจะเกิดต้องอาศัยสมุฏฐาน 4 คือ
กรรม จิต อุตุ อาหาร นามจะเกิดได้ต้องอาศัยหทัยวัตถุที่เกิดอยู่ในรูป จิตดวงแรก
เรียกว่าปฏิสนธิจิต มีรูปธรรมที่ปรากฏในขณะแรกเกิดพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณ (จิต)
เรียกว่า กัมมชรูปต่อจากนั้น อุตุชรูปจะเกิดขึ้นให้ความอบอุ่นร่างกาย, และ
อาหารชรูปจะอุดหนุนให้รูปกายเจริญเติบโตขึ้น มีกำลัง ลุก เดิน ยืน นั่ง นอน
เคลื่อนไหวร่างกายได้ทุกอย่าง ที่เรียกว่า อิริยาบถใหญ่ ๆ นั้นมี 4 ได้แก่ นั่ง นอน ยืน
เดิน อิริยาบถย่อย ๆ ได้แก่ การก้ม เงย คู้แขน เหยียดแขนหรือขา เหลียวหน้า เหลียว
หลัง เป็นต้น การที่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือทำอาการต่าง ๆ ได้ก็เพราะ นามคือจิตสั่ง
เรียกว่า จิตชรูปคือรูปที่เกิดจากจิต มีจิตเป็นสมุฏฐาน มิใช่เกิดขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มี
เหตุผล จิตชรูปนี้ทำหน้าที่อุดหนุนอิริยาบถทั้ง 4 ให้ตั้งมั่นก็ได้ และที่สำคัญคือทำให้
เกิดการเต้นของหัวใจ และทำให้หายใจเข้า-ออกได้ ร่ายกายจึงดำรงอยู่ได้ รูป-นาม มี
ความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลาโดยการเกิดดับสืบต่อกันไม่ขาดสายเหมือน
กระแสไฟฟ้า ที่ให้แสงสว่างได้ก็เพราะมีวงจรของไฟฟ้าเชื่อมโยงอยู่ เมื่อผู้ปฏิบัติรู้ว่ามี
แต่รูปนาม เมื่อกำหนดรู้อิริยาบถรูปกับนามเท่านั้นที่เกิดขึ้นมา ไม่มีตัวฉันตัวเขา ที่
แท้จริงเลย สมมุติกันขึ้นมาเองว่านายดำ นายแดง จะเป็นใครก็ตามก็ต้องอาศัยการ
เปลี่ยนอิริยาบถในชีวิตอยู่เป็นประจำทุกวัน เพราะจะทนอยู่ในอิริยาบถเดียวไม่ได้
เพราะมีการปวดเมื่อยร่างกาย ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อแก้ทุกข์ จะห้ามไม่ให้ปวด ไม่ให้
เมื่อยก็ไม่ได้ เพราะไม่มีตัวตนที่จะทำตามคำสั่งของใคร ๆ ท่านจึงว่าเป็น อนัตตาไม่
มีตัวตน ไม่มีสาระแก่นสาร และเป็นอนิจจังไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นมาแล้วก็เสื่อมไปดับไปมี
การแปรปรวนไม่คงที่ เป็นการเห็นไตรลักษณ์
ปุจฉา พระนิพพาน คืออะไร? มีกี่อย่างอะไรบ้าง
วิสัชนา พระนิพพาน มีวจนัตถว่า วานโต นิกฺขนฺตนฺติ = นิพพานํ แปลว่าธรรมชาติใด ย่อม
พ้นจากเครื่องร้อยรัดที่เกี่ยวโยงไว้คือตัณหาฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า นิพพาน ๆ มา
จากคำว่า นิวานะมีอธิบายว่าธรรมดาสัตว์โลกทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมเวียนเกิดเวียน
ตายกันมาแล้วมากมาย จนไม่สามารถคำนวณได้ว่ากี่ชาติเพราะอาศัยตัณหาคือความ
ยินดีติดใจในอารมณ์ ติดใจในอัตภาพที่ได้มีชีวิตอยู่ และไม่อยากตาย ก็เพราะตัณหา
นี่เองเป็นเครื่องร้อยรัดเอาไว้ ตัณหาจึงได้ชื่อว่า วานะ = เครื่องร้อยรัด เมื่อเติม นิ
ข้างหน้า ก็แปลว่า ออกจากตัณหา แล้วแปลงวะเป็นพะตามอักขระวิธี สังโยคพะเข้าอีก
ตัวหนึ่งด้วย จึงเป็นนิพพาน
นิพพาน ท่านจัดไว้ 3 ประเภท คือ
นิพพาน 1. ท่านจัดโดยประเภท สภาวลักษณะแล้วมีอย่างเดียวคือ สันติลักขณะ
หมายถึงสงบจากกิเลสและขันธ์ 5 ความสุขของพระนิพพานนั้นเป็นสันติสุข เป็น
ความสุขที่เกิดจากความพ้นทุกข์ = พ้นจากการเกิด
นิพพาน 2. ท่านจัดโดยประเภทของผู้ได้นิพพานแล้วหมายถึงพระอรหันต์ทั้งหลายถ้า
ยังมีชีวิตอยู่ เรียกว่า สอุปาทิเส สนิพพานคือนิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ 5 อย่าง
หนึ่ง พูดง่าย ๆ ว่า ปฏิบัติจนหมดกิเลสแล้ว แต่ยังไม่ตาย อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าอนุปาทิ
เสสนิพพานคือนิพพานของพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตแล้ว เรียกว่าปรินิพพานดับ
หมดทั้งกิเลสและเบ็ญจขันธ์ ไม่มีนิมิตเครื่องหมายใด ๆ ให้เป็นผลปรากฏ เช่น
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
นิพพาน 3. เมื่อว่าโดยอาการเป็นอยู่ คือการเข้าถึงในขณะปฏิบัติวิปัสสนานั้นมี 3 อย่าง
คือ
1. อนิมิตตนิพพาน ภาวะของนิพพานนั้น ย่อมปรากฏแก่พระโยคาวจรเห็นว่า นาม
รูปนั้นไม่เที่ยง เรียกว่า อนิจจานุปัสสนาย่อมเข้าถึงนิพพานที่ไม่มีนิมิต
เครื่องหมายใด ๆ
2. อัปปณิหิตนิพพาน คือ ภาวะของนิพพานนั้นไม่มีอารมณ์ที่น่าพอใจ น่าปรารถนา
เลย ย่อมปรากฏโดยความเป็นทุกข์ เห็นว่ารูปนามขันธ์ 5 นี้เป็นที่ตั้งของทุกข์แท้ ๆ
เป็นภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้แล้วพิจารณาอารมณ์นั้นต่อไปจนบรรลุมัคคผล มีนิพพาน
เป็นอารมณ์ เรียกว่า ทุกขานุปัสสนา
3. สุญญตนิพพาน คือ ภาวะของนิพพานนั้น ว่างจากกิเลสและอุปาทาน ขันธ์ 5 ย่อม
ปรากฏแก่ผู้เจริญวิปัสสนา โดยความเป็น อนัตตาเห็นว่า รูปนามขันธ์ 5 ไม่ใช่
ตัวตน คน สัตว์ หญิง ชาย ไม่มีสาระแก่นสาร ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ๆ ไม่มีใค
เป็นเจ้าของ แล้วตามเห็นอนัตตาด้วย อนัตตานุปัสสนาชื่อว่าเข้าถึงนิพพาน ที่
เรียกว่า สุญญตนิพพาน
ปุจฉา จิตกับวิญญาณ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?
วิสัชนา จิตกับวิญญาณ เป็นสภาพธรรมอันเดียวกัน ดังปรากฏในบาลีมหาวรรคว่า ยํ จิตฺตํ
มโน มานสํ หทยํ ปณฺฑรํ มนายตนํ มนินฺทริย์ วิญฺญาณํ วิญฺญาณกฺขนฺโธ
ตชฺฌา มโนวิญฺญาณธาตุ อิทํ จิตฺตํ มโนวิญญาณ ศัพท์เหล่านี้เป็นชื่อของจิตทั้งนั้น
ดังมีวจนัตถะว่า อารมฺมนํ จินฺเตตีติ = จิตฺตํ ธรรมชาติใด ย่อมรู้อารมณ์ คือได้รับ
อารมณ์อยู่เสมอ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต อีกอย่างหนึ่ง จินฺเตนฺติ สมฺ ปยุตฺตธมฺมา เอ
เตนาติ = จิตฺตํ แปลว่า สมฺปยุตฺตธรรม คือ เจตสิกทั้งหลาย ย่อมรู้อารมณ์โดยอาศัย
ธรรมชาตินั้น ฉะนั้นจึงชื่อว่า จิตหรือแปลว่าคิดก็ได้ดังในอัฎฐสาลินีอรรถกถา
อธิบายว่า
1. ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต
2. ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า มโน
3. ธรรมชาติใดย่อมได้รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน ธรรมชาตินั้นชื่อว่า หทัย
4. ธรรมชาติใดชื่อ ฉันทะที่มีในใจนั้นเอง ธรรมชาตินั้นชื่อว่า มานัส
5. เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงได้ชื่อว่า ปัณฑระ
6. มนะนั่นแหละเป็นอายตนะ คือเป็นเครื่องต่อ จึงได้ชื่อว่า มนายตนะ
7. มนะนั่นแหละเป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า มนินทรีย์
8. ธรรมชาติใดที่รู้แจ้งอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือรู้ทางทวาร 6
ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิญญาณ
9. วิญญาณนั่นแหละเป็นขันธ์ (เป็นกอง) จึงชื่อว่า วิญญาณขันธ์
10. มนะนั่นแหละเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ จึงชื่อว่า มโนวิญญาณ
ธาตุ
ดังนี้จะเห็นว่าท่านเปลี่ยนใช้ตามอำนาจของจิตที่ประกอบกิจการตามหน้าที่ได้ต่าง ๆ
กันทั้ง 10 ชื่อ ตามความเหมาะสมเท่านั้นเอง สภาวะของจิตที่แท้จริงคือ รู้อารมณ์ คิด
อารมณ์ และจำอารมณ์ ต่อจากสัญญา แล้วเก็บประทับไว้ในจิต
ปุจฉา คำว่าวิญญาณกับคำว่า จิต ต่างก็แปลว่า รู้อารมณ์เหมือนกันก็ทราบแล้ว แต่เหตุไรจึงมี
ชื่อต่างกันในบางแห่ง
วิสัชนา คำว่า วิญญาณ แปลว่า รู้อารมณ์ทวารทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นการเฉพาะทวาร
ใดทวารหนึ่ง เช่น มีรูปคือสีต่าง ๆ มากระทบตา เกิดความรู้ขึ้นว่าเป็นรูปอะไรก็เรียกว่า
จักขุวิญญาณ เมื่อมีคลื่นเสียงมากระทบโสตประสาทเกิดความรู้ขึ้นว่าเป็นเสียงอะไร
เรียกว่า โสตวิญญาณ ฯลฯ จนครบ 6 ทวาร คือ มโนวิญญาณ นอกจากนี้ยังนำมาใช้เป็น
ชื่อขันธ์หนึ่งในขันธ์ 5 คือเป็นการรวมธรรมะเป็นกอง ๆ เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ซึ่ง
ได้แก่จิต 89 คือ 121 ดวง
ส่วนคำว่า จิต หมายความว่ารู้อารมณ์เหมือนกันแต่ใช้ในการรู้อารมณ์ทั่ว ๆ
ไปทั้งหมด
ปุจฉา โยคีคนหนึ่งถามว่า จะพิจารณาขันธ์ 5 อย่างไร เขาแยกไม่ออก ได้ยินท่านเจ้าคุณ
พระเทพสิทธิมุนีเทศน์ทางวิทยุก็จำไม่ได้ ท่านก็ย้ำบ่อย ๆ ว่า ให้รู้จักขันธ์ 5
วิสัชนา เมื่อตาเห็นรูปครั้งหนึ่ง หรือหูได้ยินเสียงครั้งหนึ่ง จะมีขันธ์ 5 อายตนะ ธาตุ และ
อินทรีย์บางข้อเกิดพร้อมด้วยทุกครั้ง ดังนี้
ตาเป็นอายตนะภายใน รูปเป็นอายตนะภายนอกกระทบกัน ทันใดนั้นจะเกิด
จักขุวิญญาณซึ่งเป็นดวงจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นรู้ว่ารูปคนหรือรูปอะไร แต่สภาวะของจิต
คือวิญญาณทุกดวง นั ้นเมื่อเกิดขึ้น ต้องมีเพื่อนเจตสิกเกิดพร้อมกันอีก 7 ดวงคือ ผัสสะ
เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ เกิดร่วมด้วยทุกครั้งและตอนจะรู้
ชัดว่าเป็นรูปอะไรนั้น จะต้องมีแสงสว่างเพื่อให้รู้สีว่ารูปอะไร เพราะรูปารมณ์ คือ สี
ต่าง ๆ ประสาทตาก็ต้องดีด้วย ถ้าคนจักขุประสาทเสียก็มองไม่เห็นสีพร้อมทั้งต้องมี
มนสิการ คือความใส่ใจในอารมณ์นั้นด้วย จึงจะเกิด อ้อ? ขึ้นมาได้ครั้งหนึ่ง รูปนาม
(จิตเจตสิก) จะต้องทำงานร่วมกันมากมายดังนี้ อาศัยการเกิดดับ สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว
เราจึงไม่รู้ว่า ขันธ์ 5 เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำงานร่วมกันได้อย่างไร
ปุจฉา ไม่มีสังขารเกิดร่วมด้วย มิขาดไปขันธ์หนึ่งหรือ?
วิสัชนา ผัสสะและเจตนาทำหน้าที่เป็นสังขารขันธ์ด้วยเมื่อจักขุวิญญาณจะเกิด ผัสสะและ
เจตนาเข้ามาทำหน้าที่ปรุงแต่งจิต เพราะเจตนาและผัสสะเจตสิกนี้สำคัญมาก ผัสสะ
คือการกระทบอารมณ์ก็จริง แต่ต้องมีหน้าที่ประสานอารมณ์ วัตถุ และวิญญาณขันธ์
ธรรม 3 ประการนี้เข้าด้วยกันอีกมิใช่กระทบเฉย ๆ เจตนา ก็ทำหน้าที่แสวงหาอารมณ์
จัดแจงขวนขวายให้สำเร็จตามตั้งใจ สัญญา ความจำได้จะทำหน้าที่บอกชื่อหรือ
เรื่องราวให้รู้ชัดและ เวทนา ก็ทำหน้าที่เสวยอารมณ์จะชอบใจหรือไม่ชอบใจในสิ่งนั้น
หรือในอารมณ์นั้น ๆ ขันธ์ 5 ข้อ 1 คือ รูป อีก 4 ข้อเป็นนามจึงต้องรู้จักก่อนจึงจะเข้า
ปฏิบัติวิปัสสนาได้ผลตามความปรารถนาเพราะรูปนามเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา
โดยตรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

OK