16.11.54

๙ ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา

ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา
บางตอนจากหนังสือ ลักษณะของพระพุทธศาสนา
โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
 โพสท์ในลานธรรมเสวนา > ชีวิตกับธรรมะ  กระทู้ 15712 โดย สาธร เมื่อ  08 ก.ค. 48 - 21:28
เมื่อมีคนถามพวกเราชาวพุทธ ว่า พุทธศาสนา ต่างกับศาสนาอื่น อย่างไร หรือ มีลักษณะอย่างไร เราอาจไม่สามารถอธิบายให้กับผู้สนใจได้อย่างครบถ้วนในแง่มุมต่างๆ ผมขอฝากธรรมะเกี่ยวกับลักษณะของพระพุทธศาสนา ที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้แสดงไว้ได้อย่างงดงาม เพื่อเสริมสร้างศรัทธาและกำลังใจแก่ชาวพุทธให้หมั่นศึกษาปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงแก่นธรรมของพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไปครับ ...
..ลักษณะที่ ๑ ของพระพุทธศาสนา เมื่อพูดอย่างทั่วๆ ไป ก็คือ ลักษณะที่เป็นสายกลาง มนุษย์เรานั้นมักมีความโน้มเอียงที่จะไปสุดโต่ง ความสุดโต่งมีอยู่สองอย่าง คือ สุดโต่งในทางความคิดอย่างหนึ่ง และสุดโต่งในทางปฏิบัติอย่างหนึ่ง
ในทางปฏิบัติ มนุษย์มักจะหันไปหาความสุดโต่ง เช่นในสมัยหนึ่งคนทั้งหลายพากันเพลิดเพลินมัวเมาในการหาความสุขทางเนื้อหนัง ให้ความสำคัญแก่การบำรุงบำเรอร่างกายมาก และในยุคนั้นคนก็ไม่เห็นความสำคัญของจิตใจเลย ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่าเป็น กามสุขัลลิกานุโยค
พอเปลี่ยนไปอีกยุคสมัยหนึ่ง คนบางพวกก็มีความรู้สึกเบื่อหน่าย รังเกียจความสุขทางร่างกายทางเนื้อหนัง แล้วก็เอียงไปทางด้านจิตใจอย่างเต็มที่ บางทีถึงกับทรมานร่างกาย ยอมสละความสุขทางร่างกายโดยสิ้นเชิง เพื่อจะประสบผลสำเร็จในทางจิตใจ แล้วก็กลายเป็นการเสพติดทางจิตไปอีก พวกนี้อาจจะถึงกับทำการทรมานร่างกาย บำเพ็ญทุกกรกิริยา อย่างที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างแม้แต่ในสังคมปัจจุบัน คือในยุคเดียวสมัยเดียวก็จะมีความสุดโต่งทั้งสองอย่างนี้ แยกกันออกไปเป็นคนละขั้ว นี้เป็นการเอียงสุดในด้านปฏิบัติ
พระพุทธศาสนานั้นถือว่า การเอียงสุดทั้งทางร่างกาย เห็นแก่ร่างกาย บำรุงบำเรอร่างกายอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้อง การเสพติดทางจิตใจ ไม่เห็นความสำคัญของร่างกายเลย โดยสิ้นเชิง จนกลายเป็นการทรมานร่างกายไป ก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน พระพุทธศาสนาจึงบัญญัติข้อปฏิบัติที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง หรือ ข้อปฏิบัติที่เป็นสายกลาง คือ ความพอดี นี้ก็เป็นแง่หนึ่ง
อีกด้านหนึ่งก็คือ การเอียงสุดในทางความคิด ซึ่งคนทั่วไปมักจะมีความโน้มเอียงที่จะเป็นเช่นนั้น เช่นอย่างง่ายๆ ก็คือ เรื่องวัตถุกับจิตว่าอะไรมีจริง พวกหนึ่งจะเอียงสุดว่าวัตถุเท่านั้นมีจริง อีกพวกหนึ่งก็เอียงสุดว่าจิตเท่านั้นมีจริง จนกระทั่งในปรัชญาตะวันตกได้มีการบัญญัติกันว่า เป็นพวกวัตถุนิยมกับพวกจิตนิยม แต่ในพระพุทธศาสนานั้นเราจะเห็นว่า ท่านไม่ได้บัญญัติอย่างนั้น คือ มิใช่เป็นจิตนิยม หรือเป็นวัตถุนิยมไปสุดทางแต่อย่างเดียว แต่ในพระพุทธศาสนามีทั้งนามและรูป ซึ่งท่านเรียกรวมเข้าด้วยกันเป็นคำเดียวว่า นาม-รูป ท่านเห็นคามสำคัญของทั้งจิต และทั้งวัตถุ มีทั้งสองอย่าง แต่มีอย่างอิงอาศัยเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อีกตัวอย่างหนึ่ง คนพวกหนึ่งมีความเห็นว่า สิ่งทั้งหลายเที่ยงแท้ มีอัตตาที่คงอยู่ตลอดไป กลายเป็นทิฏฐิที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็มีความเห็นเอียงไปสุดทางตรงข้าม บอกว่าอย่างนั้นไม่ใช่ ทุกอย่างขาดสูญหมด คนเราเกิดมาเป็นเพียงประชุมธาตุสี่ ตายแล้วก็ขาดสูญไป พวกนี้เป็นอุจเฉททิฎฐิ บางพวกบัญญัติว่าทุกสิ่งมีทั้งนั้น อีกพวกหนึ่งว่าไม่มีอะไรมีจริงเลย พวกที่ว่ามีทั้งหมดเขาเรียกว่า สัพพัตถิกทิฏฐิ พวกที่ว่าไม่มีอะไรสักอย่างก็เป็น นัตถิกทิฏฐิ นี้เป็นตัวอย่าง
คนเรานี้มีความโน้มเอียงที่จะคิดเห็นเอียงสุด หรือไปสุดโต่งในแนวความคิดเกี่ยวกับสัจธรรม อย่างที่กล่าวมานี้ แต่พระพุทธศาสนาสอนว่า ความจริงหรือสัจธรรมนี้ มิใช่จะเป็นไปตามความโน้มเอียงของความพอใจของมนุษย์ ที่มองอะไรไปสุดทางโน้นสุดทางนี้ ความจริงนั้นเป็นกลางๆ หรือว่าให้ถูกก็คือ ต้องสอนต้องพูดให้พอดีกับความจริง
เพราะฉะนั้น การสอนความจริงแต่พอดีๆ ให้ตรงตามความจริงนั้น หรือสอนให้พอดีกับความจริง ก็เลยกลายเป็นคำสอนที่เป็นกลาง พระพุทธศาสนาสอนความเป็นกลางในทางปฏิบัติ ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ส่วนในแง่ของความจริง หรือทัศนะเกี่ยวกับสัจธรรมก็เป็นกลางอีกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นกลางๆ เรียกว่า มัชเฌนธรรมเทศนา หรือ มัชเฌนเทศนา
พระพุทธเจ้านั้น ก่อนตรัสรู้ ได้ทรงไปศึกษาในสำนักความคิดเห็นเกี่ยวกับสัจธรรมและทดลองข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อจะให้เข้าถึงจุดหมาย พระองค์ใช้เวลาไปในการทดลองนี้นานถึง ๖ ปี แล้วก็ได้เห็นว่า ที่ปฏิบัติกันอยู่นั้นมักจะไปเอียงสุดเสียทั้งสิ้น ในที่สุด พระองค์จึงทรงค้นพบทางสายกลางขึ้นมา เป็น มัชฌิมาปฏิปทา และทรงแสดงหลักธรรมที่เป็นกลาง คือ มัชเฌนธรรมเทศนา
มัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติกลางๆ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป พอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความมีชีวิตที่ดีงาม ส่วนมัชเฌนธรรมเทศนา ก็ได้แก่หลักธรรมที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นหลักธรรมที่แสดงความจริงเป็นกลางๆ ตามเหตุปัจจัยซึ่งไม่เป็นไปตามความปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย แต่พอดีกับความเป็นจริงที่ว่า สิ่งทั้งหลายนั้นอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้น ผลเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มิใช่ดำรงอยู่โดยลำพังตัวมันเอง อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าเป็นหลักสายกลาง เป็นอันว่า หลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นสายกลาง ทั้งในทางปฏิบัติและในทางความคิด มีมัชฌิมาปฏิปทา และมัชเฌนธรรมเทศนา
อีกอย่างหนึ่ง สายกลางนั้นมีความหมายว่า พอดี นั่นเอง ตรงกับที่เรานิยมใช้กันในปัจจุบันว่า ดุลยภาพ หรือสมดุล ในพระพุทธศาสนานั้น ข้อปฏิบัติต่างๆ มักจะมีลักษณะอย่างนี้ คือมีความพอดีหรือความสมดุล ระบบที่กล่าวถึงเมื่อกี้ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เราเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ข้อปฏิบัติที่พอดี ก็เป็นลักษณะที่มีดุลยภาพ หรือสมดุลอย่างหนึ่ง แต่เป็นความพอดีของระบบทั้งหมด หรือความพอดีในระบบรวม
ทีนี้ในการปฏิบัติแม้แต่ที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยลงมา ก็จะมีความสมดุลหรือดุลยภาพนี้อยู่เรื่อยเหมือนกัน เช่นในการที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา เราจะต้องปฏิบัติหลักธรรมย่อยๆ หลายอย่าง หลักธรรมหรือข้อปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้ จะต้องกลมกลืนพอดีกัน จึงจะได้ผลสำเร็จ ถ้าข้อปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ นั้น ไม่สมดุลกัน ไม่พอดีกัน ก็จะเกิดความขัดแย้ง หรือความบกพร่อง ความขาดความเกิน ความเขวออกนอกทาง และก็จะปฏิบัติไม่สำเร็จ
เรื่องที่ท่านเน้นบ่อยๆ ก็คือเรื่อง อินทรีย์ ๕ ซึ่งสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมจะมีการเน้นว่า ต้องมี สมตา สมตา ก็คือสมดุล หรือความพอดี กันระหว่างองค์ประกอบ ที่เรียกว่า อินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรม ๕ อย่างนี้ต้องมีสมตา มีความสมดุลพอดีกัน ศรัทธาต้องมีความพอดีกับปัญญา ถ้าศรัทธาแรงไปก็เชื่อง่าย งมงาย ปัญญามากไป ไม่มีศรัทธามาช่วยดุลให้ ก็อาจจะเป็นคนที่ขี้สงสัย คิดฟุ้งไปหมด เห็นอะไรก็ชิงปฏิเสธเสียก่อนไม่รู้จักจับอะไรให้ลึกลงไป หรือระหว่างวิริยะกับสมาธิ วิริยะคือความเพียร ถ้าความเพียรมากไป สมาธิน้อยก็จะกลายเป็นเครียดและฟุ้งซ่าน ถ้าความเพียรน้อยสมาธิมาก เพลินสบายก็ติดในสมาธิ อาจจะทำให้เกียจคร้านไปก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีความพอดีระหว่างวิริยะกับสมาธิ มีความพอดีระหว่างศรัทธากับปัญญา โดยมีสติเป็นเครื่องควบคุม อันนี้เรียกว่า สมตา
ข้อปฏิบัติต่างๆ ในพระพุทธศาสนา จะต้องมีความสมดุลอันนี้ ทีนี้แม้แต่ข้อปฏิบัติแต่ละอย่าง ก็จะต้องมีความพอดีเหมือนกัน คือมีความพอดีในการปฏิบัติแต่ละอย่างๆ เช่น จะรับประทานอาหาร ก็ต้องมีความรู้จักประมาณ รู้จักพอดีในอาหาร ถ้ารับประทานอาหารไม่พอดีก็เกิดโทษแก่ร่างกายแทนที่จะได้สุขภาพ แทนที่จะได้กำลัง ก็อาจจะเสียสุขภาพ และอาจจะทอนกำลังทำให้อ่อนแอลงไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้มีความรู้จักประมาณในการบริโภค
โดยทั่วไปจะเห็นว่า หลักพระพุทธศาสนาในทุกระดับมีเรื่องของความพอดี หรือความเป็นสายกลางนี้ ฉะนั้น ความเป็นสายกลาง คือ ความพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย ที่จะให้ตรงกับความจริง ไม่ให้ไปสุดโต่ง เอียงสุด ซึ่งจะพลาดจากตัวความจริงไปนั้น จึงเป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา
ลักษณะที่ ๒ มีหลักการเป็นสากล
ลักษณะที่ ๒ คือ เรื่องของความเป็นสากล พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง คือความเป็นสากล เป็นสากลทั้งความคิดและการปฏิบัติเหมือนอย่างที่เป็นสายกลางทั้งความคิดและการปฏิบัติ
ในแง่ความคิดในที่นี้ หมายถึง เรื่องสัจธรรม หรือคำสอนเกี่ยวกับสัจธรรม พระพุทธศาสนานั้นสอนความจริงเป็นกลางไม่ขึ้นต่อบุคคล กลุ่ม เหล่า พรรคพวก แม้แต่ตัวพระพุทธศาสนาเอง เช่น ท่านสอนว่า การฆ่าสัตว์เป็นบาป การทำปาณาติปาต เริ่มแต่ฆ่าคนเป็นต้นไปเป็นบาป ก็สอนเป็นกลางๆ ว่า ไม่ว่าฆ่าคนไหนก็ตามเป็นบาปทั้งนั้น ไม่ได้จำกัดว่า นับถือศาสนาไหน ไม่มีแบ่งพรรคแบ่งกลุ่มแบ่งประเภทว่า ถ้านับถือศาสนาอื่น เป็นพวกของมารร้าย แล้วก็ฆ่าได้ไม่บาป แต่ถ้าเป็นพวกชาวพุทธด้วยกัน ฆ่าไม่ได้เป็นบาป อย่างนี้ไม่มี ท่านสอนความจริงเป็นสากลเป็นกลางๆ อันนี้เป็นลักษณะที่ชัดเจน คือการสอนความจริงเป็นกลางๆ และสอนอย่างเป็นกลาง คือสัจธรรมเป็นความจริงอย่างไร ก็ต้องเป็นความจริงอย่างนั้น ไม่สามารถแบ่งเป็นพวกเป็นประเภท เป็นหมู่เป็นเหล่าได้
ในทางปฏิบัติก็เหมือนกัน เช่นสอนให้คนมีกรุณาอย่างสากล เมื่อสอนว่าการทำปาณาติบาตเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นโทษ เพราะมีความจริงอันเป็นสากลว่า สัตว์ทั้งหลาย รักสุข เกลียดทุกข์ ด้วยกันทั้งหมดแล้ว ก็สอนให้เผื่อแผ่ความกรุณาแก่สัตว์ทั้งหลายทั่วกันหมด ชาวพุทธจะต้องมีกรุณาต่อสรรพสัตว์ ตั้งต้นแต่มนุษย์ ก็ต้องมีกรุณาต่อมนุษย์ทุกคนเหมือนกัน ไม่ได้มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งเหล่าแบ่งชาตินั้น แบ่งศาสนา และในแง่สัตว์โลกด้วยกัน ก็ให้เผื่อแผ่ความกรุณานี้แก่สัตว์ทุกประเภท ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของความเป็นสากลอย่างหนึ่ง
นอกจากนั้น พระพุทธศาสนาแสดงธรรมเหล่านี้ เป็นกลางๆ ไม่บังคับให้ทำ และไม่ขู่ด้วยการลงโทษ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ไม่บังคับใคร สอนให้รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น การกระทำแล้วเกิดผลดี หรือผลเสียก็เป็นไปตามธรรมดาของมันเอง เป็นเรื่องทุกคนสามารถพิจารณาด้วยสติปัญญาของตนเอง ความเป็นสากลนี้ ว่าที่จริงก็เป็นสายกลางอย่างหนึ่ง คือ สอนเป็นกลางๆ ตามความเป็นจริง
ลักษณะที่ ๓ ถือสำคัญทั้งสาระและรูปแบบ
ลักษณะที่ ๓ พระพุทธศาสนาประกอบด้วยองค์ ๒ อย่างที่สมพอดีกัน คือประกอบด้วยธรรมกับวินัย หลักธรรมกับวินัยนี้ ได้บอกแต่ต้นแล้วว่า เป็นชื่อหนึ่งของพระพุทธศาสนา บางครั้งเราเรียกพระพุทธศาสนาว่า ธรรมวินัย ซึ่งต้องมีทั้งสองอย่างจึงจะเป็นพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ ถ้ามีอย่างเดียวก็ยังไม่ครบ
ในโลกปัจจุบันนี้ หรือในโลกที่ผ่านมาก็ตาม มักจะมีการถกเถียงกันอยู่เสมอว่า บุคคลกับระบบ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน บางคนบอกว่าบุคคลสำคัญ ระบบไม่สำคัญ บางคนบอกว่าระบบสิสำคัญ บุคคลไม่สำคัญ ระบบเป็นอย่างไร คนก็เป็นไปตามนั้น
คนพวกหนึ่งบอกว่า ปัจเจกชนสำคัญ สังคมเกิดจากปัจเจกชน สังคมจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ปัจเจกชน ถ้าทำปัจเจกชนให้ดี สังคมก็ดีไปเอง อีกพวกหนึ่งบอกว่า สังคมสิสำคัญ ปัจเจกชนถูกหล่อหลอมโดยสังคม ทำสังคมให้ดีแล้ว ปัจเจกชนก็ดีไปตาม
ในแง่สาระกับรูปแบบ พวกหนึ่งบอกว่า สาระสำคัญ รูปแบบไม่สำคัญหรอก เนื้อหาสำคัญกว่า รูปแบบเป็นเพียงเปลือกนอก บางพวกบอกว่ารูปแบบสิสำคัญ รูปแบบเป็นเครื่องกำหนดเนื้อหา เถียงกันอยู่นี่ไม่รู้จักจบ
ในการฝึกการปฏิบัติก็เหมือนกัน พวกหนึ่งบอกว่าด้านในจิตใจสำคัญ ต้องฝึกจิตใจ ฝึกจิตใจได้แล้วทุกอย่างก็ดีไปเอง ร่างกายภายนอกไม่สำคัญ อีกพวกหนึ่งบอกว่า สำคัญที่วัตถุภายนอก เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่อาศัยวัตถุ เกิดจากวัตถุ ถ้าทำภายนอกดี สภาพแวดล้อมวัตถุดีมีความเจริญทางวัตถุพรั่งพร้อม เศรษฐกิจดีแล้ว จิตใจก็ดีเอง
คนจำนวนมากเถียงกันแม้แต่ในเรื่องสมัครใจกับบังคับว่าอย่างไหนดี พวกหนึ่งบอกว่า ต้องสมัครใจหมดทุกอย่าง ต้องเป็นไปตามเสรีภาพ สมัครใจจึงจะถูกต้อง อีกพวกหนึ่งว่า ไม่ได้หรอก คนเรานี้กิเลสมันมาก ต้องบังคับมัน บังคับแล้วจึงจะได้ผล
นี้ก็เป็นเรื่องของการเอียงสุดอย่างหนึ่งเหมือนกัน มนุษย์มักจะโน้มไปในทางเอียงสุด หรือสุดโต่งไปข้างหนึ่ง แต่พระพุทธศาสนาไม่เอียงสุดไปข้างไหน เพราะยอมรับความสำคัญของแต่ละเรื่องแต่ละอย่างตามความเป็นจริงของมัน หรือตามคุณค่าที่มันมีอยู่ สิ่งทั้งหลายแต่ละอย่างมีความสำคัญตามส่วนของมัน จะเรียกว่าเป็น ความเป็นกลางหรือความเป็นสายกลาง อีกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็ได้ ในเรื่องสาระกับรูปแบบ เป็นต้นที่ว่ามานี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติหลักคำสอนของพระองค์ ให้มีองค์ประกอบทั้งสองอย่าง คือ ธรรมกับวินัย คุมทั้งคู่เลย
ธรรม เป็นหลักความจริง เป็นสิ่งที่บุคคลจะเข้าถึงได้ ธรรมนั้นสังคมไม่สามารถมีปัญญารู้ได้ บุคคลแต่ละคนเท่านั้นที่จะมีปัญญารู้แจ้งเข้าถึงสัจธรรม แต่ในเวลาเดียวกัน พระพุทธศาสนาก็มีหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า วินัย เป็นรูปแบบ เป็นกฎเกณฑ์ เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมทางด้านร่างกาย เน้นไปทางวัตถุ เป็นเรื่องของสังคม บัญญัติขึ้นเพื่อให้สังคมอยู่ได้ มนุษย์แต่ละบุคคลจะต้องมาอยู่รวมกันเป็นสังคม แล้วธรรมและวินัย สองอย่างนี้ก็มาสัมพันธ์กัน
พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้งแก่ธรรมและวินัย หรือจะพูดเป็นภาษาปัจจุบันว่า ให้ความสำคัญทั้งแก่บุคคลและระบบ ให้ความสำคัญทั้งแก่ปัจเจกชนและสังคม ให้ความสำคัญทั้งแก่สาระและรูปแบบ ให้ความสำคัญทั้งแก่การปฏิบัติทางด้านในจิตใจและการปฏิบัติด้านนอกที่เน้นวัตถุ กาย วาจา และให้มีการสมัครใจและการบังคับ อย่างมีสมดุลพอดี นี้คือลักษณะของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งที่เข้ากับข้อแรกด้วย แต่แยกให้เห็นเป็นพิเศษต่างหาก
จะเห็นว่า ในพระพุทธศาสนานี้ ท่านให้ธรรมเป็นเรื่องของการสมัครใจ เราแต่ละคนเกี่ยวข้องกับธรรมด้วยสติปัญญาของตนเอง จะต้องรู้เข้าใจเห็นแจ้งสัจธรรมด้วยปัญญาของตนเอง เฉพาะบุคคล แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ก็มีวินัยเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของรูปแบบ เป็นเรื่องของการปฏิบัติด้านกายวาจา เป็นแบบแผนที่บังคับแก่ทุกคนเสมอกัน สำหรับให้เป็นเครื่องหล่อหลอม เป็นเครื่องที่จะสร้างสภาพแวดล้อมชักจูงบุคคลเข้าหาธรรม และเป็นเครื่องสร้างสภาพชีวิต และสภาพสังคมที่เอื้อต่อการที่จะนำธรรมมาใช้ปฏิบัติ ตลอดจนการที่จะเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป ในธรรม และเข้าถึงธรรม
ธรรมและวินัยสองอย่างนี้ ถ้าจัดให้พอดีแล้วก็ได้ความสมดุลเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ประสานสัมพันธ์กัน ธรรมเป็นที่อิงอาศัยของวินัย วินัยคือกฎเกณฑ์ข้อบังคับแบบแผนของสังคมเป็นการจัดตั้ง ถ้าไม่อิงธรรมก็ใช้ไม่ได้ ถ้าไม่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมก็กลายเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น วินัยต้องอิงอยู่บนธรรม อีกด้านหนึ่งเรามีวินัยเพื่ออะไร ก็เพื่อให้คนเราแต่ละคนนี้ ได้มีสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลในการที่จะเข้าถึงธรรม ธรรมจึงเป็นจุดหมายของวินัย วินัยนั้นอิงอาศัยธรรม แล้วก็เป็นไปเพื่อให้คนเข้าถึงจุดหมายคือธรรมด้วย
ในแง่ของธรรม อาจจะพูดว่า ถ้าทุกคนเป็นคนดีแล้ว สังคมก็ดีไปเอง แต่ในแง่ของวินัย จะพูดต่อว่า เพื่อช่วยให้ทุกคนเป็นคนดี เราจึงจัดตั้งระเบียบระบบ และจัดสรรสภาพแวดล้อมให้เป็นโอกาสที่คนจะได้ฝึกฝนพัฒนาตนให้เป็นคนดี
วินัยเป็นเปลือกนอกช่วยห่อหุ้มเนื้อในคือธรรมไว้ ถ้าไม่มีเปลือกนอกห่อหุ้มแล้ว ต่อไปไม่นานเนื้อในก็จะหายสูญไปลบเลือนไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องเห็นความสำคัญของทั้งเปลือกนอกและเนื้อใน ถ้ามะม่วงไม่มีเปลือก หรือมะพร้าวไม่มีกะลา มันจะอยู่ได้ไหม เราอาจจะบอกว่ากะลาไม่สำคัญ เพราะกินไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีกะลา เราก็ไม่ได้กินเนื้อและน้ำมะพร้าว ในทางกลับกัน ถ้ามีแต่เปลือกมะม่วงและกะลามะพร้าว ไม่มีเนื้อมะม่วง ไม่มีเนื้อและน้ำมะพร้าว ก็ไม่รู้จะมีเปลือกมะม่วงและกะลามะพร้าวไว้ทำไม เปลือกและกะลานั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ถ้ากะลาจะมีประโยชน์อะไรต่อไป โดยไม่มีเนื้อมะพร้าวก็ไม่ใช่มีประโยชน์ในฐานะกะลามะพร้าว แต่อาจจะกลายเป็นกระบวยตักน้ำ เป็นภาชนะใส่ข้าวกิน หรือเป็นเครื่องมือขอทาน เป็นต้น กลายเป็นของอย่างอื่นไป เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเห็นความสำคัญของทั้งกะลา และเห็นความสำคัญของเนื้อมะพร้าว
พระพุทธศาสนานั้นมีทั้งธรรมและวินัย และจากหลักธรรมและวินัยนี้จึงมีสงฆ์ ซึ่งแบ่งเป็นสมมติสงฆ์ และอริยสงฆ์ ผู้เข้าถึงเนื้อในคือธรรมแล้วก็เป็นอริยสงฆ์ แต่ถ้าอยู่แค่ชั้นนอกอยู่แค่วินัยก็เป็นสมมติสงฆ์ แต่สมมติสงฆ์ นั้นตั้งขึ้นเพื่ออะไร ก็เพื่อความมุ่งหมายให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการที่บุคคลจะปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้เป็นพระอริยสงฆ์ และสมมติสงฆ์นี้แหละจะรักษาพระธรรมวินัยไว้ เป็นผู้ที่คอยเผยแพร่ประกาศธรรมไว้ เพื่อจะให้มีคนได้มาเป็นอริยสงฆ์ได้ต่อๆ นานๆ เรื่อยๆ ไป เพราะฉะนั้น สมมติสงฆ์ก็มีความสำคัญแต่อริยสงฆ์ก็มีความสำคัญ ถ้าไม่มีอริยสงฆ์จะมีสมมติสงฆ์ไว้ทำไม ก็ไม่มีความหมาย เพราะสิ่งที่ให้ความหมายแก่สมมติสงฆ์ ก็คือความเป็นอริยสงฆ์ แต่สิ่งที่เอื้อต่อการเกิดมีและคงอยู่ของอริยสงฆ์ ก็คือสมมติสงฆ์ สิ่งที่ให้ความหมายแก่วินัยก็คือตัวธรรม แต่สิ่งที่จะรักษาธรรมไว้ ก็คือวินัย เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีส่วนประกอบทั้งสองอย่าง
ธรรมกับวินัย อิงอาศัยและประสานสัมพันธ์กัน และรวมเข้าด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ดังที่ท่านเรียกเป็นคำศัพท์คำเดียวเป็นเอกพจน์ว่า ธรรมวินัย เมื่อรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงเป็นพระพุทธศาสนา คล้ายกับที่นามและรูปประกอบกันเข้าเป็นชีวิต นามและรูป อิงอาศัยและประสานสัมพันธ์กันและรวมเข้าด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ดังที่ท่านเรียกเป็นคำศัพท์คำเดียวเป็นเอกพจน์ว่า นามรูป เมื่อรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงเป็นชีวิต ถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใดก็เป็นชีวิตไม่ได้
สำหรับพระสงฆ์นั้น เราจะเห็นว่า มีธรรมและวินัยควบคู่กันอยู่ แต่สำหรับฝ่ายคฤหัสถ์ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ควรจะต้องมีการเตือนกันว่า เราอาจจะมีการเน้นเอียงสุดไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป บางทีเรามานึกกันแต่ในแง่ธรรม จนกระทั่งสังคมพุทธไทยไม่มีวินัยเป็นของตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นสังคมพุทธจะดำรงอยู่ได้อย่างไรในระยะยาว และถ้าสังคมรักษารูปแบบอยู่ไม่ได้ ต่อไปเนื้อในคือธรรมก็จะอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ปัจจุบันนี้เป็นที่น่าสงสัยว่า การให้สำคัญอย่างพอดีระหว่างองค์ประกอบสองอย่างนี้ ในพุทธศาสนา ยังเป็นไปด้วยดีหรือไม่ ขอฝากไว้พิจารณาด้วย
ลักษณะพระพุทธศาสนาที่ ๔ เป็นกรรมวาท กิริยวาท วิริยวาท
ลักษณะที่ ๔ พระพุทธศาสนานั้นมีชื่ออย่างหนึ่งว่า เป็นกรรมวาท หรือ กรรมวาที พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านใช้คำว่าทั้งหลาย คือไม่เฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น แต่ทุกองค์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตก็ตาม ในอนาคตก็ตาม แม้องค์ที่อยู่ในยุคปัจจุบันก็ตาม ล้วนเป็นกรรมวาทะ เป็นกิริยวาทะ และเป็นวิริยวาทะ หรือเป็นกรรมวาที และกิริยวาที (เวลาใช้วาที ท่านมีแค่สอง คือกรรมวาทีและกิริยวาที แต่เมื่อเป็นวาทะมีสาม คือ เป็นกรรมวาทะ กิริยวาทะ และวิริยวาทะ)
หลักการนี้หมายความว่า พระพุทธศาสนานั้นสอนหลักกรรม สอนว่าการกระทำมีจริง เป็นกรรมวาทะ สอนว่าทำแล้วเป็นอันทำ เป็นกิริยวาทะ สอนว่าความเพียรพยายามมีผลจริง ให้ทำการด้วยความเพียรพยายาม เป็นวิริยวาทะ ให้ความสำคัญแก่ความเพียร เป็นศาสนาแห่งการกระทำ เป็นศาสนาแห่งการเพียรพยายาม ไม่ใช่ศาสนาแห่งการหยุดนิ่งเฉยแห่งความเฉื่อยชาเกียจคร้าน
ลักษณะของหลักกรรมนี้ เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา เพราะกรรมเป็นหลักใหญ่ในพระพุทธศาสนา จะต้องมีการเน้นอยู่เสมอ หลักการของศาสนานั้น ก็เหมือนกับหลักการปฏิบัติทั่วไป ในหมู่มนุษย์ เมื่อเผยแพร่ไปในหมู่มนุษย์วงกว้าง ซึ่งมีระดับสติปัญญาต่างกัน มีความเอาใจใส่ต่างกัน มีพื้นเพภูมิหลังต่างๆ กัน นานๆ เข้า ก็มีการคลาดเคลื่อนเลือนลางไปได้ จึงจะต้องมีการทำความเข้าใจกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ เรื่องกรรมนี้ก็เหมือนกัน  เมื่อเผยแพร่ไปในหมู่ชนจำนวนมากเข้าก็มีอาการที่เรียกว่า เกิดความคลาดเคลื่อน มีการเฉไฉ ไขว้เขว ไปได้ ทั้งในการปฏิบัติและความเข้าใจ
หลักกรรมในพระพุทธศาสนานี้ ท่านสอนไว้เพื่ออะไร ที่เราเห็นชัดก็คือ เพื่อไม่ให้แบ่งคนโดยชาติกำเนิด ให้แบ่งโดยความประพฤติโดยการกระทำ นี่เป็นประการแรก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กมฺมุนา วสโล โหติ กมฺมุนา โหติ พฺราหมโณ คนไม่ใช่ต่ำทรามเพราะชาติกำเนิด แต่คนจะเป็นคนต่ำทราม ก็เพราะกรรมคือการกระทำ คนมิใช่พราหมณ์เพราะชาติกำเนิด แต่เป็นพราหมณ์ คือผู้บริสุทธิ์ คือคนดี คนประเสริฐ ก็เพราะกรรมคือการกระทำ ตามหลักการนี้ พระพุทธศาสนายึดเอาการกระทำ หรือความประพฤติมาเป็นเครื่องแบ่งแยกมนุษย์ ในแง่ของความประเสริฐ หรือความเลวทราม ไม่ให้แบ่งแยกโดยชาติกำเนิด
ความมุ่งหมายในการเข้าใจหลักกรรมประการที่สอง ที่ท่านเน้น ก็คือการรับผิดชอบต่อตนเอง คนเรานั้นมักจะซัดทอดสิ่งภายนอก ซัดทอดปัจจัยภายนอก ไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง เวลามองหาความผิด ต้องมองไปที่ผู้อื่นก่อน มองที่สิ่งภายนอกก่อน แม้แต่เดินเตะกระโถนก็ต้องบอกว่าใครเอากระโถนมาวางซุ่มซ่าม ไม่ว่าตนเดินซุ่มซ่ามเพราะฉะนั้น จึงเป็นลักษณะของคนที่ชอบซัดทอดปัจจัยภายนอก แต่พระพุทธศาสนาสอนให้รับผิดชอบการกระทำของตนเอง ให้มีการสำรวจตนเองเป็นเบื้องแรกก่อน
ประการต่อไป ท่านสอนหลักกรรมเพื่อให้รู้จักพึ่งตนเอง ไม่ฝากโชคชะตาไว้กับปัจจัยภายนอก ไม่ให้หวังผลจากการอ้อนวอนนอนคอยโชค ให้หวังผลจากการกระทำ หลักกรรมในพระพุทธศาสนาสอนว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นจากการกระทำตามทางของเหตุผล
อนึ่ง หลักกรรมของเรานี้ ต้องแยกให้ดีจากลัทธิ ๓ ลัทธิในพระไตรปิฎก ท่านกล่าวไว้หลายแห่งเกี่ยวกับลัทธิที่ถือว่าผิด ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเมื่อพูดไปไม่ชัดเจนพอก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ลัทธิที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าผิดหลักกรรมมีอยู่ ๓ ลัทธิ
ลัทธิที่ ๑ คือ ปุพเพกตวาท ลัทธิกรรมเก่า
ลัทธิที่ ๒ คือ อิศวรนิรมิตวาท ลัทธิที่ถือว่าพระผู้เป็นเจ้าบันดาล หรือเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่บันดาล
ลัทธิที่ ๓ คือ อเหตุวาท ถือว่าความเป็นไปต่างๆ ไม่มีเหตุปัจจัย แล้วแต่โชคชะตา
๓ ลัทธินี้พระพุทธศาสนาถือว่า ไม่ทำให้คนมีความเพียรพยายาม เพราะถ้าทุกสิ่งทุกอย่างที่คนเราได้รับ สุขและทุกข์ทั้งหลายที่เราได้ประสบ เป็นเพราะกรรมเก่าบันดาลแล้ว เราก็นอนรอแต่กรรมเก่า จะทำอะไรก็ไม่ได้ผล จะแก้ไขอะไรไปก็ไม่มีประโยชน์ หรือถ้าเชื่อว่าเป็นเพราะอิศวร คือเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่บันดาล ก็อ้อนวอนเอาสิ ไม่ต้องทำอะไร หรือถ้าถือว่าไม่มีเหตุปัจจัย มันบังเอิญเป็นไปเองแล้วแต่โชคชะตา ผลที่สุดสามหลักสามลัทธินี้ ไม่ทำให้คนมีการกระทำ ไม่ทำให้คนมีฉันทะมีความเพียรพยายามในการกระทำเหตุต่างๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นลัทธิที่ผิด
โดยเฉพาะลัทธิที่หนึ่ง คือ ปุพเพกตวาท ลัทธิกรรมเก่านั้นเป็นลัทธิของนิครนถ์ มีพระสูตรหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้ยาวหน่อย คือ เทวทหสูตร ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ท่านพูดถึงเรื่องกรรมเก่า ซึ่งเป็นลัทธิของนิครนถ์
พุทธศาสนาก็สอนเรื่องกรรมเหมือนกัน มีทั้งกรรมเก่า กรรมปัจจุบัน และกรรมที่จะทำต่อไปในอนาคต พร้อมกันนั้น ก็ถือว่ากรรมนั้นเป็นกระบวนการแห่งเหตุผลด้านที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย กระบวนการแห่งปัจจัยนั้นมันสืบเนื่องดำเนินอยู่เสมอ เป็นไปตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ไม่ใช่ว่าเป็นไปเพราะกรรมเก่าอย่างเดียว เพราะฉะนั้น จะต้องระวังให้ดี ให้แยกหลักกรรมของพระพุทธศาสนาออกจากลัทธิกรรมเก่าให้ได้ นอกจากลัทธิกรรมเก่าแล้ว ก็มีเรื่องอิศวรนิรมิตวาท และอเหตุอปัจจัยด้วย
ที่พูดมานี้ โดยสาระสำคัญก็มุ่งให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นกรรมวาทะ แต่หลักกรรมในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไรแน่ในเมื่อเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนก็จะต้องระวังตั้งใจคอยศึกษาให้แม่นยำอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เข้าใจและจับความหมายให้ชัดเจน อย่าให้ไขว้เขวผิดไปนับถือเอาลัทธิของนิครนถ์เข้า แล้วเราจะกลายเป็นนิครนถ์ไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ว่ารูปแบบเรายังเป็นพุทธ แต่เนื้อหาของเราอาจจะกลายเป็นนิครนถ์ไปก็ได้
ลักษณะพระพุทธศาสนาที่ ๕ เป็นวิภัชชวาท
ลักษณะที่ ๕ พระพุทธศาสนาเป็นวิภัชชวาท ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธานครั้งนั้นพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้อุปถัมภ์การสังคายนา เรียกว่า เอกอัครศาสนูปถัมภก พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ตรัสถามพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระว่า พระพุทธศาสนานี้ มีลักษณะเป็นอย่างไร สอนอย่างไร พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ทูลตอบว่า พระพุทธศาสนาเป็นวิภัชชวาท
วิภัชชวาท คืออะไร คือการแสดงความจริงหรือการสอนโดยจำแนกแยกแยะ หมายความว่า ไม่มองความจริงเพียงด้านเดียว แต่จำแนกแยกแยะมองความจริงครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ดิ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลผู้มีหลักการแสดงความจริงด้วยวิธีอย่างนั้น ก็เรียกว่า วิภัชชวาท หรือวิภัชชวาที เป็นความโน้มเอียงของมนุษย์ที่จะมองอะไรข้างเดียว ด้านเดียว พอเจออะไรอย่างหนึ่ง ด้านหนึ่ง ก็สรุปตีความว่า นั่นคือสิ่งนั้น ความจริงคืออย่างนั้น แต่ความจริงที่แท้ของสิ่งทั้งหลายนั้นมีหลายด้าน ต้องมองให้ครบทุกแง่ทุกมุม พระพุทธศาสนานั้น มีลักษณะจำแนกแยกแยะ ดังที่เรียกว่า วิภัชชวาท
คำว่า วิภัชชแปลว่า จำแนกแยกแยะ มีการจำแนกแยกแยะทั้งในด้านความจริง เช่น เมื่อพูดถึงชีวิตคน ท่านจะจำแนกออกไปเป็นขันธ์ ๕ โดยแยกออกไปเป็นรูปธรรมและนามธรรมก่อน แล้วแยกนามธรรมออกไปอีกเป็น ๔ ขันธ์  แม้แต่ ๔ ขันธ์นั้น แต่ละขันธ์ยังแยกแยะออกไปอีก อันนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการจำแนก คือแยกแยะความจริงให้เห็นทุกแง่ทุกด้าน ไม่ตีคลุมไปอย่างเดียว คนจำนวนมากมีลักษณะตีขลุมและก็คลุมเอาอย่างเดียว ทำให้มีการผูกขาดความจริงโดยง่าย
แม้แต่ในการตอบคำถาม ก็จะมีลักษณะของการจำแนกแยกแยะ ไม่ตีขลุมไปอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น มีผู้มาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า คฤหัสถ์คือชาวบ้านนั้น เป็นผู้ที่จะยังข้อปฏิบัติที่เป็นกุศลให้สำเร็จ แต่บรรพชิตไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ใช่หรือไม่ นี่ถ้าตอบแบบตีความข้างเดียว ที่เรียกว่า เอกังสวาท ก็ต้องตอบดิ่งไปข้างหนึ่ง โดยต้องปฏิเสธ หรือว่ารับ ถ้ายอมรับก็บอกว่าใช่แล้ว คฤหัสถ์เท่านั้นทำสำเร็จ บรรพชิตไม่สำเร็จ ถ้าปฏิเสธก็บอกว่าไม่ใช่ คฤหัสถ์ไม่สำเร็จ บรรพชิตจึงจะสำเร็จ แต่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสแบบวิภัชชวาท ทรงชี้แจงว่าพระองค์ไม่ตรัสเอียงไปข้างเดียวอย่างนั้น พระองค์ตรัสว่า คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ถ้ามีสัมมาปฏิบัติแล้ว ก็ทำกุศลธรรมให้สำเร็จทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าเป็นมิจฉาปฏิบัติ ปฏิบัติผิดแล้วก็ทำกุศลธรรมให้สำเร็จไม่ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า วิภัชชวาท
อีกตัวอย่างหนึ่ง มีคนมากราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า วาจาที่ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ตรัสไหม ถ้าเป็นเรา เราจะตอบว่าอย่างไร ถ้าเขามาถามว่า คำพูดที่คนอื่นไม่ชอบใจ ไม่เป็นที่รักของเขา ท่านพูดไหม ท่านจะตอบว่าอย่างไร จะตอบว่าพูดหรือจะตอบว่าไม่พูด ถ้าอย่างนั้นเรียกว่าดิ่งไปข้างเดียว พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอย่างนั้น พระองค์ตรัสว่า ในข้อนี้เราไม่มีการตอบดิ่งไปข้างเดียว แล้วพระองค์ก็ตรัสแยกแยะให้ฟังว่า
วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส
วาจาใดจริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส
วาจาใดจริง เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส
วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส
วาจาใดจริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส
วาจาใดจริง เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส
เขาถามเพียงคำถามเดียว พระองค์ตรัสแยก ๖ อย่าง
ขอให้พิจารณาดู อย่างนี้เรียกว่า วิภัชชวาท นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงลักษณะท่าทีของการสนองตอบ หรือปฏิกิริยาต่อสิ่งทั้งหลายแบบชาวพุทธ ซึ่งมีการมองอย่างวิเคราะห์และแยกแยะ จำแนกแจกแจง เพื่อให้เห็นความจริง ครบทุกแง่ทุกด้าน
อีกตัวอย่างหนึ่งคือในการแยกประเภทคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าตรัสกามโภคี ๑๐ ประเภท แสดงหลักการวินิจฉัยคฤหัสถ์โดยการแสวงหาทรัพย์ วินิจฉัยโดยการใช้จ่ายทรัพย์ และวินิจฉัยโดยท่าทีของจิตใจต่อทรัพย์ เป็นต้น แล้วก็แยกประเภทคฤหัสถ์ไปตามหลักการเหล่านี้
หลักการต่างๆ ในพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างนี้มาก เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า ธรรมในพระพุทธศาสนานี้มีลักษณะพิเศษที่มักจะมีเป็นข้อๆ จัดเป็นหมวดธรรมต่างๆ เช่น หมวดสอง หมวดสาม หมวดสี่ หมวดห้า หมวดหก
พระพุทธเจ้าเป็นนักจำแนกธรรม จึงได้รับการเฉลิมพระนามอย่างหนึ่งว่า ภควา ภควานั้น แปลได้สองอย่าง แปลว่าผู้มีโชคก็ได้ แปลว่า ผู้จำแนกแจกธรรมก็ได้ นี้เป็นลักษณะที่เรียกว่า วิภัชชวาท คือ เป็นนักวิเคราะห์ จำแนกแจกธรรม หรือแยกแยะให้เห็นครบทุกแง่ทุกด้านของความจริง
ลักษณะพระพุทธศาสนา ที่ ๖ มุ่งอิสรภาพ
ลักษณะที่ ๖ พระพุทธศาสนานั้นมีวิมุตติ หรือความมีอิสรภาพเป็นจุดหมายสำคัญ และไม่ใช่เป็นเพียงจุดหมายเท่านั้น แต่มีอิสรภาพเป็นหลักการสำคัญทั่วไปทีเดียว ในทางธรรมท่านใช้คำว่า วิมุตติรส กับ วิมุตติสาระ
สำหรับวิมุตติรสนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเป็นคำอุปมาว่า มหาสมุทรแม้จะกว้างใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่ทั้งหมดนั้น น้ำในมหาสมุทรที่มากมาย มีรสเดียวคือรสเค็ม ฉันใด ธรรมวินัยของพระองค์ที่สอนไว้มากมายนั้น ทั้งหมดก็มีรสเดียวคือวิมุตติรส ได้แก่ ความหลุดพ้นจากทุกข์และกิเลส ฉันนั้น
ภาษาสมัยใหม่เรียกความหลุดพ้นว่าอิสรภาพ เดี๋ยวนี้ เราไม่ใช้คำว่า วิมุตติ เราติดคำว่าอิสรภาพ ที่จริงเราใช้คำว่า อิสรภาพในความหมายของวิมุตตินั่นเอง เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษจะเห็นชัด ฝรั่งแปลวิมุตติว่า freedom เราแปลอิสรภาพ ก็ว่า freedom ตรงกัน แต่ในภาษาไทย คนไทยแทนที่จะใช้คำว่าวิมุตติ กลับไปใช้คำว่า อิสรภาพ ที่จริงในภาษาบาลีเดิม อิสรภาพไม่ได้แปลว่า freedom อิสรภาพนั้นแปลว่า ความเป็นใหญ่ ตรงกับ sovereignty หรือ แม้แต่ domination หรือ dominion คือความมีอำนาจเหนือกว่า แต่เราใช้อิสรภาพในความหมายของ freedom เพราะฉะนั้น อิสรภาพที่ใช้กันในภาษาไทย จึงไปตรงกับคำว่า วิมุตติ วิมุตติรส ก็คือ รสแห่งอิสรภาพ
พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะของความหลุดพ้น หรือความเป็นอิสระอยู่โดยตลอด จุดหมายของพระพุทธศาสนาก็ได้แก่ วิมุตติ พระพุทธเจ้าตรัสอีกแห่งหนึ่งว่า วิมุตติสารา สพฺเพ ธมฺมา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีวิมุตติเป็นสาระ คือมีวิมุตติเป็นแก่นสาร ซึ่งก็มีความหมายอันเดียวกัน ลักษณะนี้ก็บอกให้ทราบว่า พระพุทธศาสนานั้นถือเอาวิมุตติหรืออิสรภาพนี้ เป็นจุดหมาย เป็นหลักการสำคัญ และให้ความสำคัญแก่อิสรภาพทุกขั้นตอน ไม่เฉพาะในขั้นสุดท้ายที่ว่าต้องการให้คนเข้าถึงความหลุดพ้นเท่านั้น แต่มีลักษณะของการไม่ยึดติดถือมั่น ไม่มีอุปาทานในสิ่งต่างๆ อยู่โดยตลอด
จะเห็นว่าหลักการของพระพุทธศาสนานี้ บางครั้งก็สรุปด้วยคำว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย คือให้รู้เข้าใจความจริงถึงขั้นที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่อาจเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่อาจไม่น่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งทั้งหลายนั้น ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนา หรือตามความยึดมั่นของเรา แต่มันเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของมัน ถึงเราจะไปยึดมั่น ก็ไม่มีผลอะไรต่อตัวความจริง มีแต่จะกระทบกระเทือนต่อตัวเราเอง ทำให้เราแย่เอง
วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือเราจะต้องรู้ความจริงของเหตุปัจจัยแล้วไปทำที่เหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้เท่าทันความจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา การเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วก็ไม่ทำให้มีผลเป็นจริงขึ้นมาได้ พระพุทธศาสนาก็จึงสอนให้เรามีอิสรภาพ ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย จนกระทั่งเมื่อรู้ความจริง รู้เท่าทันชัดแจ้งทั่วตลอดแล้ว ก็จะมีจิตหลุดพ้น เป็นอิสระ
แม้แต่ในขั้นต้นๆ สำหรับการปฏิบัติที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นวิมุตติ ก็จะมีลักษณะของการไม่ยึดติดอยู่เสมอ เช่น พระพุทธศาสนาไม่ให้ความสำคัญสูงสุด แก่ ศรัทธา การบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา หรือการเข้าถึงอิสรภาพ ไม่ขึ้นต่อศรัทธาหรือความเชื่อ แต่จะหลุดพ้นได้เพราะรู้เห็นแจ้งด้วยตนเอง อันนี้เป็นลักษณะของการไม่ยึดติด เริ่มตั้งแต่ไม่ให้ยึดติดในบุคคลแต่ให้รู้จักพึ่งพาบุคคลในทางที่ถูกต้อง เอาเขาเป็นสื่อในการที่จะนำเราให้เข้าไปหาสัจธรรมด้วยการเป็นกัลยาณมิตร
หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องพระวักกลิ ซึ่งบวชเข้ามาแล้วก็พอใจในพระรูปพระโฉมของพระพุทธเจ้ามาก ชอบติดตามพระองค์ไปในที่ต่างๆ เรื่อยไป พระพุทธเจ้าก็ทรงคอยมองดูรอให้อินทรีย์ของพระวักกลิแก่กล้า จนถึงคราวหนึ่งก็ได้ตรัสว่า ดูก่อน วักกลิ เธอจะตามดูทำไมร่างกายที่เปื่อยเน่าได้นี้แล้วก็ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมคือให้ย้ายความสนใจ และความติดใจออกจากตัวบุคคลไปหาตัวธรรมหรือสัจธรรม
อันนี้ก็เป็นลักษณะของการที่ไม่ให้ติด ไม่ให้ยึดในสิ่งทั้งหลาย แม้แต่ในระดับของการปฏิบัติขั้นต้นๆ จนถึงขั้นสุดท้ายก็ให้มีอิสรภาพโดยสมบูรณ์.
ลักษณะพุทธศาสนาที่ ๗ เป็นศาสนาแห่งปัญญา
ลักษณะที่ ๗ พระพุทธศาสนาถือปัญญาเป็นหลักธรรมสำคัญ หรือเป็นธรรมแกนกลาง ดังพุทธพจน์ว่า ปญฺญุตฺตรา สพฺเพ ธมฺมา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง พระพุทธศาสนาถือว่าปัญญาเป็นธรรมสูงสุด เป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้ายในการที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา
ก็อย่างที่ได้บอกเมื่อกี้นี้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาแห่งศรัทธา แต่เป็นศาสนาแห่งปัญญา ซึ่งบางทีก็เป็นจุดอ่อนและหลายคนก็ถือว่าเป็นจุดอ่อนของพระพุทธศาสนา เพราะเหตุที่ให้อิสรภาพในทางปัญญาแก่คนมาก ก็เลยทำให้ชาวพุทธเป็นคนที่ไม่ค่อยเอาอะไรจริงจัง เช่นเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในหมู่ชาวพุทธในเมืองไทยปัจจุบันนี้ จับไม่ค่อยได้ว่า ชาวพุทธถือข้อปฏิบัติอะไรกันบ้าง เอาอะไรเป็นเครื่องกำหนดว่าเป็นชาวพุทธ มองเป็นรูปธรรมก็หาไม่เห็น เพราะไปเอาแต่ปัญญาแล้วแต่ใครมีปัญญาพิจารณาเลือกปฏิบัติเท่าไหนก็ได้ตามสมัครใจ ต่างจากในศาสนาอื่น ซึ่งส่วนมากเป็นศาสนาแห่งศรัทธา เขาจะบังคับกันเลย ห้ามสงสัย ไม่ต้องถาม ฉันบอกอย่างนี้ เธอทำไปก็แล้วกัน ฉะนั้น เขาจึงมีแบบแผนที่กำหนดไว้ชัดเจน มีข้อปฏิบัติที่ตายตัวว่า ถ้าเป็นศาสนิกของศาสนานั้นจะต้องถือปฏิบัติอย่างนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ว่าที่จริงพระพุทธเจ้าตรัสวางแบบแผนไว้ให้แล้ว คือให้เรามีหลักสองอย่าง ได้แก่ ธรรมวินัย อย่างที่ได้พูดไว้ในข้อที่ ๓ ว่า พระพุทธศาสนาประกอบด้วยธรรมกับวินัย ถ้าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ชาวพุทธก็จะมีแบบแผนเป็นของตนเองเหมือนกัน แต่เรามองข้ามเรื่องวินัยไปเสียก็จึงขาดอันนี้ จึงมัวคิดหาธรรม แต่ไม่ยอมปฏิบัติวินัย
ส่วนที่มีหลักว่าปัญญาเป็นสำคัญนั้น ก็เพราะว่าปัญญาเป็นตัวตัดสินในการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนามนุษย์เรานี้มีประสบการณ์ในเรื่องศาสนากันมาเป็นเวลายาวนานมีนักคิดต่างๆ เกิดขึ้นแล้วก็ค้นคว้าหาหลักความจริงมาสอนมนุษย์ เกิดเป็นลัทธิศาสนาต่างๆ มากมายซึ่งอาจแยกประเภทได้ดังนี้
ศาสนาประเภทหนึ่งย้ำเรื่องศรัทธา คือเขาบอกว่าให้ฝากชีวิต มอบจิตมอบใจไว้ในองค์เทพสูงสุด แล้วทำตามคำสั่งสอนไป ไม่ต้องสงสัยอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้เป็นศาสนาที่ใช้ศรัทธาเป็นเครื่องตัดสิน ศรัทธาเท่านั้น จะให้ท่านเข้าถึงจุดหมายของศาสนา
ศาสนาประเภทที่สอง คือพวกที่ถือศีลวัตรเป็นตัวตัดสิน พวกนี้จะถือระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์ที่วางไว้ให้ แล้วประพฤติปฏิบัติตามนั้น ถือว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นเข้าถึงจุดหมายของศาสนาด้วยศีลวัตร ดังมีคำในคัมภีร์เรียกว่า สีเลน สุทธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยศีล คือเพียงว่ายึดถือศีล ข้อบังคับระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเดียวเท่านั้นให้เคร่งครัดเข้มงวด เมื่อปฏิบัติไปตามนั้นได้จริงแล้ว ก็จะหลุดพ้นถึงจุดหมายของศาสนาได้เอง อันนี้พระพุทธศาสนาเรียกว่า สีลัพพตปรามาส ก็เป็นหลักการของศาสนาประเภทหนึ่ง
ศาสนาประเภทที่สาม ได้แก่พวกที่ยึดเอาสมาธิเป็นตัวตัดสิน คือบำเพ็ญข้อปฏิบัติทางจิตใจให้จิตดื่มด่ำ จนกระทั่งในขั้นสุดท้าย จิตจะเข้ารวมกลืนหายกลายเป็นหนึ่งเดียวกันในภาวะสูงสุด ซึ่งอาจจะเป็นเทพสูงสุด หรือเป็นปรมาตมันอะไรก็ตาม ศาสนาประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อย เป็นศาสนาขั้นที่ประณีตมาก
รวมแล้วก็มีอยู่สามประเภทด้วยกันคือ
๑. พวกปลงศรัทธา มอบจิตฝากใจให้ไปเลย
๒. พวกถือศีลวัตร ตัดสินด้วยความเคร่งครัดเข้มงวด
๓. พวกถือสมาธิ มุ่งเข้ารวมกับภาวะสูงสุด
แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้ถืออย่างนั้น พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้งแก่ศรัทธา ทั้งแก่ศีลวัตร และแก่สมาธิ ถือว่าเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการเข้าถึงจุดหมาย แต่ไม่ใช่ตัวตัดสิน อันนี้เป็นข้อที่ควรต้องระวัง ไม่ใช่ว่าพระพุทธศาสนาจะไม่ให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านั้น ทั้งศรัทธา ศีลวัตร และสมาธิเป็นฐานและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
สำหรับศรัทธานั้นพระพุทธเจ้ายังเคยตรัสว่า สทฺธาย ตรติ โอฆํ แปลว่า บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามโอฆะอะไร ข้ามโอฆสงสาร ก็คือข้ามวัฏฏสงสาร หมายความว่า พ้นจากการเวียนว่ายในความทุกข์ แสดงว่าพระพุทธเจ้ายอมรับว่าเราจะพ้นทุกข์ได้ด้วยศรัทธา นี่ถ้ามองเผินๆ เราก็บอกว่าเอาแค่ศรัทธาก็พอ
ในกรณีของศีล ก็สามารถอ้างคำบาลีอีกแห่งหนึ่ง เวลาพระให้ศีลจบท่านก็สรุปทุกครั้งว่า
สีเลน สุคติ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพฺพุติ ยนฺติ ….”
บอกว่า บุคคลย่อมไปนิพพาน คือ นิพฺพุติ ด้วยศีล อ้าว! ถึงนิพพานได้ด้วยศีลแล้วนี่ ก็แสดงว่ายอมรับว่า ศีลทำให้ไปนิพพานได้ พอแล้ว
สำหรับสมาธิก็มีตัวอย่างคำสอนมากมาย ที่จะยกมาอ้าง ถ้าจะอ้างกันแบบง่ายๆ ว่าสมาธิก็พอที่จะถึงนิพพาน ก็สามารถยกตัวอย่างนิพพานขั้นต้นๆ อย่างที่เรียกว่า นิโรธ ในนิโรธ ๕ ข้อแรกคือวิกขัมภนนิโรธ ได้ฌานสมาบัติก็ถือว่าเข้าวิกขัมภนนิโรธ หรือในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง ตทังคนิพพาน และทิฏฐธัมมนิพพาน พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า ปฐมฌานก็ตาม ทุติยฌานก็ตาม จนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งเป็นสมาธิในระดับประณีตสูงขึ้นไปโดยลำดับนี้ แต่ละอย่างเป็นนิพพานได้โดยปริยาย พระองค์ตรัสไว้อย่างนั้น แต่มันไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริง
พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่หลักธรรมเหล่านั้น แต่พระองค์ย้ำว่าปัญญานี่แหละเป็นตัวตัดสิน ศรัทธาก็เพื่อปัญญา ศีลวัตรก็เพื่อประคับประคอง จนกระทั่งเกิดปัญญา โดยเฉพาะศีลวัตรนั้นช่วยให้เกิดสมาธิ สมาธิก็ต้องนำไปสู่ปัญญา ถ้าไม่อย่างนั้น ก็เป็นเพียงสมาธิที่นำไปสู่ภาวะดื่มด่ำทางจิตเท่านั้น เป็นเรื่องของสมถะ ไม่ถึงนิพพาน ตกลงว่าจะต้องให้ถึงขั้นสูงสุดคือปัญญา มีอุปมาเหมือนอย่างว่าจะตัดต้นไม้ เราจะต้องมีอะไรบ้าง ขอให้คิดดู
๑. เราจะต้องโน้มจิตใจ โน้มตัวเข้าไปหาการตัดต้นไม้นั้น มุ่งมองเข้าไปที่ต้นไม้
๒. ต้องมีที่เหยียบยัน ถ้าตัวเราไม่มีที่ยัน ไม่มีที่ยืนตั้งตัวไว้ เราก็ทำอะไรไม่ได้
๓. ต้องมีกำลัง มีกำลังในการที่จะยกมีดขวานขึ้นตัด
๔. ต้องมีมีดขวานที่คม หรืออุปกรณ์ที่ใช้ตัดได้
ในอุปมานี้ การหันหน้ามุ่งเข้าไปหาสิ่งนั้น ก็คือศรัทธา พื้นดินที่เหยียบยันก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เสมอว่า ศีลเปรียบเหมือนพื้นดินเป็นที่เหยียบยัน ทำให้เราทำงานการได้ ประการที่ ๓ เรี่ยวแรงกำลังของเราในการที่จะหยิบมีดขวานขึ้นมาตัด นั่นคือสมาธิ แล้วสุดท้ายตัวมีดขวานที่คมนั้น ก็คือปัญญา ตัวที่ตัดที่ทำให้ขาดทำให้หลุดทำให้สำเร็จกิจคืออะไรคือมีดหรือขวาน มีดขวานนั้นเป็นตัวตัด แต่ถ้าเราไม่มีสามอย่างแรก ทั้งที่มีมีดขวาเราก็ตัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น สามอย่างแรกก็ขาดไม่ได้ แต่ตัวตัดสินคืออันที่สี่ ได้แก่ตัวปัญญา พระพุทธศาสนาสอนว่า ปัญญาเป็นตัวตัดสิน จึงถือว่าปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญ เป็นเอกในพระพุทธศาสนา ปัญญาในขั้นสูงสุด คือปัญญาในขั้นที่จะทำงานรู้เท่าทันสัจธรรม ที่จะตัดสังโยชน์เครื่องผูกมัดตัวไว้กับวัฏฏสงสาร ไว้กับความทุกข์ ได้แก่ปัญญาที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า วิปัสสนา
วิปัสสนาก็คือปัญญานั่นแหละ ปัญญาในระดับหนึ่งประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เราเรียกชื่อเฉพาะว่าเป็นวิปัสสนา วิปัสสนานี้เป็นข้อปฏิบัติจำเพาะในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น จึงบอกว่า ปัญญา โดยเฉพาะที่เรียกชื่อว่า วิปัสสนา นี้ เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา
ปัญญานี้เป็นแกนกลางที่ร้อยประสานอยู่ในหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในที่ต่างๆ อย่าเช่น หลักการทั่วไปที่ตรัสไว้ในคาถา มีใจความว่า คนทั้งหลายถูกภัยคือ ความกลัวคุกคามแล้ว ย่อมยึดถือสิ่งทั้งหลายมากมายเป็นสรณะ เช่น ยึดเอาเจ้าป่าเจ้าเขาต้นไม้ใหญ่เป็นที่พึ่ง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สรณะอันเกษม คนยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะแล้ว ไม่สามารถพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ส่วนผู้ใดถึงพระรัตนตรัย ยึดเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว มองเห็นอริยสัจจ์ ๔ คือ พิจารณาด้วยปัญญารู้เข้าใจสัจธรรม รู้จักทุกข์ รู้ตัวปัญหา รู้เหตุของปัญหา รู้จักจุดหมายของตนเองที่เป็นความดับทุกข์แล้วปฏิบัติตามมรรคาที่ถูกต้องซึ่งเป็นทางสายกลาง ดับทุกข์ได้ อันนั้นจึงจะเป็นสรณะที่แท้จริง
เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือสรณะ ๓  นี้มีความหมายอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไปให้ชัดเจน อย่างน้อยจะต้องเข้าใจว่าการยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จะนำไปสู่การมองเห็นอริยสัจจ์ ๔ อย่างไร แต่ในที่นี้ต้องการพูดให้เห็นว่า ท่านเน้นความสำคัญของปัญญา และปัญญาโดยเฉพาะขั้นที่ทำลายกิเลส ก็คือ วิปัสสนา.
ลักษณะพุทธศาสนาที่ ๘ สอนหลักอนัตตา
ลักษณะที่ ๘ พระพุทธศาสนาประกาศหลักสำคัญเกี่ยวกับความจริงของสิ่งทั้งหลาย หรือของสภาวธรรมต่างๆ เรียกว่า หลักอนัตตา หลักอนัตตานี้เป็นหลักที่ใหม่ ไม่เคยมีผู้ค้นพบมาก่อน
ความยึดติดในอัตตาหรือตัวตนนี้ เป็นสิ่งที่ฝังลึกแนบแน่นในจิตใจมนุษย์เป็นอย่างมาก มนุษย์จะรักษาหวงแหนความรู้สึกผูกพันในอัตตานี้ไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้แต่เมื่อหันมาค้นคว้าสัจธรรมในทางศาสนา เขาก็ต้องเพียรพยายามที่จะรักษาอัตตานี้ไว้ให้ได้ เพราะฉะนั้นนักคิดทั้งหลายจึงพัฒนาภาพอัตตาที่ยึดไว้นั้นให้ประณีตยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ จะเห็นว่าในศาสนาต่างๆ มีแต่คำสอนที่ให้พยายามเข้าหาอัตตา เข้าถึงอัตตา ปรากฏว่า มีศาสนาเดียวคือพระพุทธศาสนาเท่านั้น ที่สอนหลักอนัตตา ที่ประกาศว่า ในที่สุดแล้วสิ่งทั้งหลายไม่ใช่อัตตา
พระอรรถกถาจารย์บอกว่า ศาสดาต่างๆ ในหลายศาสนา รู้หลักอนิจจังแล้ว รู้หลังทุกขังแล้ว เพราะฉะนั้น หลักอนิจจังและทุกขัง จึงมีในศาสนาอื่นที่มีความก้าวหน้าในทางสติปัญญาด้วย แต่ไม่มีศาสนาใดอื่นที่ประกาศหลักอนัตตา ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงฝืนกระแส ฝืนต่อจิตใจ ต่อความยึดถือหวงแหนของมนุษย์ การที่จะมองเห็นสภาวะที่เป็นอนัตตานี้ บ่งบอกไปถึงการที่ต้องมีปัญญา คือการมีปัญญารู้เท่าทันคติธรรมดา เห็นแจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีตัวคงที่ ที่เป็นตัวบันดาลเป็นตัวบังคับสิ่งทั้งหลายให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สิ่งทั้งหลายนั้น ประกอบขึ้นจากปัจจัยย่อยๆ มาประมวลกันเข้า และปัจจัยต่างๆ แต่ละอย่างนั้น อาศัยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แล้วก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันนั้น ไม่มีสิ่งโดยลำพังตัวของมันเอง นี้คือหลักความจริงที่เรียกว่า อนัตตา
การไม่ยึดติดในอัตตา จะไปสัมพันธ์กับหลักที่ไม่ให้ยึดติดถือมั่นด้วยความปรารถนาของตัวตน แต่ให้รู้เท่าทันว่า สิ่งทั้งหลายนั้น เราจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามความปรารถนาไม่ได้ คือเราจะเอาความปรารถนาของตัวตนนี้ ไปบังคับสิ่งทั้งหลายให้เป็นไปตามที่เราต้องการไม่ได้ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราจะต้องเรียนรู้เหตุปัจจัยของมัน แล้วไปทำไปแก้ที่เหตุปัจจัย อนัตตานี้จะโยงไปหาหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาในข้อต่อไป
พึงสังเกตว่า ในพระพุทธศาสนาท่านสอนเรื่องการทำลายความเห็นผิดเกี่ยวกับอัตตานี้มากมาย จะเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องทำลายสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่าเป็นตัวของตนได้ ต้องถอนอัตตานุทิฏฐิคือความตามเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนได้ ต้องถอนอัตตวาทุปาทานคือการยึดมั่นในความถือตัวตนได้ อันนี้แสดงว่าหลักอนัตตามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นหลักการที่จะนำให้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ผู้ที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา จะต้องมีปัญญาถึงขั้นเห็นความเป็นอนัตตานี้
ลักษณะพุทธศาสนาที่ ๙ มองตามเหตุปัจจัย
ลักษณะที่ ๙ พระพุทธศาสนามีลักษณะข้อต่อไปที่คล้ายๆ กับหลักอนัตตานั่นเอง คือการมีทัศนคติที่มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ได้พูดแล้วว่า หลักอนัตตานั้นโยงมาหาหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่โดยลำพังตน แต่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย หลักนี้เขาว่าคล้ายๆ กับหลักสัมพัทธภาพ (relativity) ในพระพุทธศาสนาหลักนี้ก็คืออิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
หลักความสัมพันธ์หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้เป็นหลักสำคัญของวิปัสสนาด้วย การปฏิบัติให้ปัญญาเห็นแจ้งเกิดเป็นวิปัสสนานั้น จะทำให้มองเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ และหลักปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตานี้ก็เป็นภูมิธรรมของวิปัสสนา ท่านเรียกว่า วิปัสสนาภูมิ ประการหนึ่ง
หลักธรรมทั้งหลายนั้นสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่น ขันธ์ ๕ เมื่อวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบออกไป ก็ทำให้เห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และรู้ว่าขันธ์ ๕ นั้นก็เป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตานี้เอง หลักความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้แหละ เป็นหลักที่แสดงลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา ถึงขั้นที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า การเห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นแหละ คือการเห็นธรรม ตามพระพุทธพจน์ที่ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท อย่างน้อยชาวพุทธก็ต้องมีทัศนคติที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย
แม้แต่เรื่องกรรม ก็สอนให้เรามีทัศนคติหรือท่าทีนี้ กรรมนั้นก็คือหลักของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ในแง่ที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ การกระทำของมนุษย์ก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลเหมือนกัน คือกระทำเหตุอย่างนี้ก็ได้ผลอย่างนี้ แต่จำกัดเฉพาะในแง่การกระทำของมนุษย์ เราเรียกว่า หลักกรรมหรือกรรมนิยาม ถ้าเป็นหลักเหตุปัจจัยทั่วไป เราเรียกว่า ธรรมนิยาม พระพุทธเจ้าตรัสหลักเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ก็ตาม เรื่องไตรลักษณ์ก็ตาม พระองค์เรียกว่าเป็นธรรมนิยาม เป็นกฎเกณฑ์แห่งธรรม คือความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยนั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

OK