16.11.54

ข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการเจริญสติตามแบบ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

      ข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการเจริญสติตามแบบ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
                                                                              
โดย   คุณyudth718                                                                                 
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้อุปมาการฝึกอบรมจิตโดยวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวไว้ โดยเปรียบเทียบกับการฝึกสุนัข ท่านบอกว่าเราต้องปล่อยสุนัขให้อยู่อย่างอิสระ อย่าเอาเชือกหรือโซ่ไปล่ามมันไว้ เพราะมันจะต่อต้าน ยิ่งถ้าเราพยายามดึงให้มันเข้ามาใกล้ มันจะยิ่งดิ้นรนขัดขืนรุนแรง ดีไม่ดีมันจะกัดเราเอาได้ ท่านบอกว่าปล่อยให้มันอยู่ชองมันอย่างอิสระ แต่เราคอยโยนอาหารให้มันกินบ่อยๆ มันจะค่อยๆคุ้นเคยและเข้ามาใกล้เรื่อยๆ จนในที่สุดมันก็จะเชื่องจนมานั่งมานอนข้างๆเราเอง อาหารก็คือ ความรู้สึกตัวนั่นเอง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติวิธีนี้จะไม่บังคับจิต แต่จะปฏิบัติอย่างสบายๆ ไม่มีการเพ่งหรือจ้องหรือการกำหนด (การเพ่ง เป็นการกำหนดให้จิตรู้อารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งตลอดเวลา ไม่ให้จิตเผลอออกไปรู้อารมณ์อื่น) แต่การที่จะให้จิตที่อยู่อย่างอิสระมารู้อารมณ์ที่ตั้งเป็นฐาน ก็ไม่ใช่เป็นงานง่ายๆ จึงต้องมีองค์ประกอบหลายๆอย่าง

ประการแรก ตัวอารมณ์(object)ที่เป็นที่ตั้งของการรู้ หรือที่เรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน ก็คือ ความรู้สึกที่ร่างกายอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหว(เป็นผัสสะทางร่างกายล้วนๆ) ซึ่งเป็นobjectที่ใหญ่และหยาบ ที่จิตสามารถรู้ได้ง่ายและรู้ได้ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องเพ่งหรือใช้ความพยายามเพื่อที่จะรู้ และความรู้สึกนี้เรายังสามารถเพิ่มให้แรงขึ้นเพื่อให้จิตได้รู้ ในกรณีที่มีอารมณ์อย่างอื่นเกิดขึ้นแรง อย่างเช่น ถ้าความคิดมาแรง หลวงพ่อจะบอกให้กำมือแรงๆหรือเดินกระทืบเท้าแรงๆ หรือโดยวิธีการอย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน (เป็นการแก้ไขโดยวิธีง่ายๆ เอาสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติสองอย่างมาแก้กัน) หรือไม่ก็เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน
ความรู้สึกมีธรรมชาติที่เป็นกลาง เปรียบเทียบเหมือนกับนํ้าที่มีรสจืด เมื่อจิตมารู้ความรู้สึกๆก็จะย้อมจิตให้มีความเป็นกลางไปด้วย นอกจากนี้ความรู้สึกยังเป็นผัสสะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาจากความคิด จึงเป็นธรรมชาติคนละส่วนกับความคิด (เนื่องจากสาเหตุนี้ จึงทำให้จิตสามารถออกมาอยู่นอกความคิด และเห็นความคิดได้)
เมื่อสติมีกำลังเพิ่มมากขึ้น จิตจะรู้การเคลื่อนไหวที่ละเอียดลงไปเรื่อยๆ(ซึ่งเป็นไปเอง) จากการเคลื่อนไหวใหญ่ๆของร่างกาย ไปถึงการเคลื่อนไหวที่ละเอียดย่อยลงไป ไปถึงลมหายใจ จนกระทั่งไปถีงการเคลื่อนไหวของเจตสิกตัวอื่นๆที่เกิดขึ้นในใจ(หลวงพ่อท่านเปรียบเทียบว่าเหมือนคนสองคนนอนติดกัน พอคนหนึ่งขยับตัวปั๊บ อีกคนที่นอนอยู่ข้างๆก็รู้ทันที) แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจิตจะรู้การเคลื่อนไหวได้ละเอียดแค่ไหนก็ตาม การมารู้การเคลื่อนไหวของกายหยาบก็ยังคงใช้เป็นพี่เลี้ยงของจิตอยู่เสมอ

ประการที่สอง ระดับ(degree)ของการรู้อารมณ์หรือobject อย่างเช่นเวลาเราทำงานอย่างใดอย่างหนื่งหรือในการศึกษาเล่าเรียน เรามีการเพ่งความสนใจไปรู้ที่งานหรือสิ่งที่ศึกษาในระดับหนึ่ง(บางครั้งเราเรียกว่าสมาธิตามธรรมชาติ) ซึ่งจะมากกว่าระดับการรับรู้สิ่งทั่วๆไป (ที่เรารู้อย่างฉาบฉวย) และในการทำสมาธิที่เรียกว่าสมถะกรรมฐาน ระดับความเข้มของการเพ่งจะยิ่งมากขึ้นไปอีก จนถึงสภาวะที่เรียกว่า ฌาน แต่ในการเจริญสตินั้น ระดับของการรู้objectจะเบากว่าของสมถะฯมาก โดยนํ้าหนักของการรู้ของการเจริญสติจะอยู่ที่ฐานรู้(subject)มากกว่าที่ตัวobject ยกตัวอย่างเช่น นํ้าหนักของการรู้อยู่ที่subject 70 อยู่ที่ object 30 หรืออาจจะเป็น 80 : 20 หรือ 90 : 10 (ตัวเลขยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพ) การที่การเจริญสติวางนํ้าหนักของการรู้ที่ object เบาเช่นนี้ ทำให้การปฎิบัติไม่มีการเพ่งอารมณ์ ทำอย่างสบายๆ แต่ในขณะเดียวกันจิตก็เผลอไปรู้อารมณ์อื่นๆได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นobjectที่เป็นฐานของการรู้จะต้องใหญ่และหยาบและมีนํ้าหนัก เพื่อที่จิตจะรู้หรือกลับมารู้ได้ง่าย และเทคนิคการปฏิบัติก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน (ข้อนี้ที่อธิบายมาข้างบนค่อนข้างจะเป็นทฤษฎี ถ้าพูดอย่างสรุปก็คือ รู้เบาๆ ทำเล่นๆ)

ประการที่สาม การเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เช่น เทคนิคการเคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะ เคลื่อนแล้วหยุด เป็นวิธีการที่จะดึงให้จิตที่เผลอออกไป กลับมารู้ความรู้สึกอีกครั้ง โดยทั่วไปแล้วจิตมักจะเผลอไปตามความคิดหรือถูกความคิดลากไป การเคลื่อนแล้วหยุด จะทำให้การรู้ไปกับการปรุงแต่งของความคิดสะดุดลงหรือขาดช่วงลง จิตก็กลับมารู้ความรู้สึกอีกครั้ง เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้การมายกมือเคลื่อนไหวฯนี้ยังเป็นการเพิ่มเติมการเคลื่อนไหวที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่มักจะเป็นไปโดยอัตโนมัติตามความเคยชิน ทำให้ลืมตัวง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจิตยังไม่คุ้นเคยที่จะรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย
สำหรับการเดินจงกรม เป็นการปฏิบัติที่บางคนเห็นว่าทำง่ายกว่า แต่สำหรับผู้ที่ยังจับหลักยังไม่ได้ จะเกิดการเพ่งได้ง่าย ดังนั้นการมารู้การเคลื่อนไหวของมือจะรู้ได้ง่ายและสบายกว่า(แต่จะมีปัญหากับความง่วง ถ้าผ่านได้ก็สบาย)

ประการที่สี่ ความต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง การสร้างความเคยชินให้จิตรู้และกลับมารู้ความเคลื่อนไหวโดยไม่บังคับจิต เป็นงานที่ต้องการการเพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และการเจริญสติอย่างต่อเนื่องยังเป็นการสะสมพลังสติ ซึ่งหลวงพ่อท่านเปรียบเทียบว่าเหมือนกับนํ้าฝนที่ตกลงใส่โอ่งนํ้าทีละเล็กทีละน้อย เมื่อเวลานานเข้าและภาชนะที่รองรับนํ้าไม่รั่ว วันหนึ่งนํ้าก็จะเต็มโอ่งนํ้าจนล้นออกมา การเจริญสติก็เช่นเดียวกัน เมื่อสะสมจนเป็น"มหาสติ" ก็จะมีญาณปัญญาเกิดขึ้นมาเอง

(
มีข้อสังเกตจากประสบการณ์ของผมพบว่า ถ้าบอกว่าให้รู้"ความรู้สึก"หรือให้"รู้สึกตัว" อย่างนี้ผู้ปฏิบัติใหม่ๆจะให้นํ้าหนักของการรู้ไปที่ความรู้สึกมาก ทำให้เกิดการเพ่งได้ง่าย แต่ถ้าบอกว่าให้รู้"การเคลื่อนไหว" อย่างนี้จะทำให้รู้ได้ง่ายและรู้สบายกว่า ที่อธิบายมาข้างบน บางครั้งผมบอกว่ารู้"ความรู้สึก" หรือรู้"ความเคลื่อนไหว" ทั้งสองคำนี้ขอทำความเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน)

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้ทำให้เราเข้าใจสติ ในความหมาย"การระลึกได้" ได้อย่างชัดเจน การระลึกได้ คือ การกลับมารู้อารมณ์ที่ตั้งไว้นั้นอีกครั้ง ซึ่งย่อมหมายความว่าจิตได้เผลอออกไปรู้อารมณ์อย่างอื่น แล้วจึงค่อยกลับมารู้อารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งอีกครั้ง ตัวที่ดึงจิตกลับมารู้อารมณ์ที่ตั้งไว้นี้ คือสติในความหมายนี้ ดังนั้นถ้าจิตไม่เผลอออกไป การระลึกได้ก็ไม่เกิดขึ้น
ดังนั้นในการเจริญสติ(โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มใหม่หรือผู้ที่กำลังสติอ่อน) การที่จิตเผลอออกไปรู้อารมณ์อย่างอื่นจึงเป็นเรื่องธรรมดา จุดสำคัญอยู่ที่การกลับมารู้อารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งอีกครั้ง เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จิตจะไม่เผลอไปนานและกลับมารู้อารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งเร็วขี้น (การที่จิตจะกลับมารู้เมื่อไหร่ เราไม่สามารถกำหนดได้ สติจะทำหน้าที่ของมันเอง แต่เทคนิคการปฏิบัติก็ช่วยได้มาก)
เมื่อสติมีกำลังมากขึ้น สติในความหมายของ"การรู้เท่าทัน" จะทำงานเด่นชัดขึ้น(หน้าที่นี้จะเห็นคุณลักษณะของ"ความว่องไวและความตื่นตัว" ซึ่งหลวงพ่อจะอุปมาเหมือนคุณสมบัติที่มีอยู่ในไก่ป่า ที่แตกต่างกับไก่บ้าน) หน้าที่ของสติในความหมายนี้ คือรู้เท่าทันความเเคลื่อนไหวทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เป็นทั้งเครื่องกรองและเครื่องกั้น กรองความคิดก่อนที่จะแสดงออกมาเป็นการกระทำและคำพูด ส่วนการเป็นเครื่องกั้น ก็เป็นในความหมายของแมวกับหนูที่หลวงพ่อเปรียบเทียบระหว่างสติกับความคิด(คิดปุ๊บ...ทันปั๊บ) กระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตใจ เกิดขึ้นรวดเร็วมาก สติจึงต้องตื่นตัวและว่องไวจึงจะรู้เห็นเท่าทันความคิดได้(หลวงพ่อเปรียบความเร็วของความคิดว่าเหมือนกับแสงฟ้าแลบ)

สัมปชัญญะ หมายถึง"ความรู้ตัว" ในการเจริญสติปัฏฐาน เจตสิกต้วนี้มึความสำคัญควบคู่ไปกับสติและความเพียร ซึ่งการรู้เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ตามหลักมหาสติปัฏฐาน นั้น การรับรู้ของจิตต่ออารมณ์ที่เป็นฐานที่ตั้งของการรู้ ต้องประกอบพร้อมไปกับสติและสัมปชัญญะ นั่นก็คือในส่วนของสัมปชัญญะนั้น ในขณะที่จิตรู้อารมณ์ จิตก็รู้ที่ต้วเองพร้อมกันไปด้วย แสดงว่านํ้าหนักของการรู้ไม่ได้อยู่ที่ต้วอารมณ์(object)เพียงอย่างเดียว(จะเห็นว่าต่างจากการเพ่ง ที่นํ้าหนักของการรู้จะรวมไปที่ตัวอารมณ์) อย่างที่ได้ยกต้วอย่างไว้ข้างบนว่านํ้าหนักของการรู้อยู่ที่ต้วอารมณ์(object) 30 และอยู่ที่ฐานรู้(subject) 70 (เป็นตัวเลขที่ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพ) ดังนั้น ตามความหมายนี้การรู้เห็นตามหลักมหาสติปัฏฐาน นํ้าหนักของการรู้จะมีทั้งที่ตัวอารมณ์และที่ฐานรู้พร้อมกันไป โดยให้นํ้าหนักของการรู้อยู่ที่ฐานรู้มากกว่าที่ตัวอารมณ์ (เพราะว่าเราเคยชินที่มักจะรู้"หมดตัว"ไปกับสิ่งต่างๆรอบตัวเราในชีวิตประจำวัน ก็เลย"ลืมตัว"จนเป็นธรรมดา)

เมื่อสติมีกำลังมากขึ้น สมาธิ(แปลว่า"ความตั้งมั่น")ก็เกิดขึ้นตามมาเองตามธรรมชาติ จิตตั้งมั่นจากการที่สติเฝ้ารักษาจิตไม่ให้อารมณ์อย่างอื่นเข้ามารบกวน (จะเห็นว่าสมาธิที่เกิดขึ้นแบบนี้จะมีที่มาแตกต่างจากสมาธิที่เกิดจากการเพ่ง) ญาณปัญญาก็เกิดขึ้นตามมา (ญาณปัญญาไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติ อาจจะเกิดขึ้นในขณะใดก็ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการคาดหมายของเรา เรามีหน้าที่เพียงทำ"เหตุ"ไปเรื่อยๆเท่านั้น) เป็นไปตามหลัก สติ-สมาธิ-ปัญญา

ทั้งหมดนี้เป็นการให้ข้อสังเกตและคำอธิบายหลักการเจริญสติวิธีนี้แบบตำราปนประสบการณ์ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์และเป็นข้อพิจารณาแก่ท่านที่สนใจบ้างไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยมา ที่นี้ด้วยครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

OK