20.11.54

จริต 6

จริต  ๖ 
               
จากนี้ไปขอให้ทุกท่านได้ตั้งใจรับฟังการบรรยายแนวทางการปฏิบัติพระกรรมฐาน ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดเป็นโครงการเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะขึ้นครองราชย์ครบ ๖๐ ปีในปีหน้า  เราก็เริ่มต้นกันตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป  การบันทึกเทปครั้งนี้เป็นครั้งที่  ๖ ประจำวันพุธ  ที่  ๒๑ กันยายน พุทธศักราช  ๒๕๔๘
ตอนนี้กำลังบรรยายให้ท่านทั้งหลายฟังในเรื่องของจริต ๖ ประการ เมื่อวานได้เรียกว่าการปฏิบัติกรรมฐานนั้นจะต้องได้ไปเรียนกับครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ เพราะว่าถ้าได้ครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถอย่างเช่น  พระพุทธเจ้า  ก็จะทำให้เหมือนกับนักเรียนได้ครูดี  ก็จะทำให้จิตสงบและก็บรรลุธรรมได้ไว แต่ถ้าไม่ได้พระพุทธเจ้าก็ควรจะได้ลองลงมาเช่น พระอัครสาวกเป็นต้น เมื่อวานได้ยกตัวอย่างพระสารีบุตรที่มีสัทธิวิหาริกเป็นนายช่างทอง แล้วปรากฏว่าท่านวางยาให้ลูกศิษย์ ๓ เดือนลูกศิษย์ก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร  จนสุดท้ายพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าก็สามารถที่จะสอนให้ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรนี้บรรลุเป็นอรหันต์ในที่สุด สาเหตุก็มาจากการที่พระสารีบุตรตั้งสมมติฐานไว้ผิด ท่านคิดว่าคนหนุ่มรูปหล่อน่าจะหนักไปในทางราคจริต แต่ปรากฏว่ากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าวางไว้โดยการเนรมิตดอกบัวแดงให้พระหนุ่มรูปนี้ภาวนามันเป็นการวางยาสำหรับพวกคนที่เป็นพวกโทสจริต  เพราะฉะนั้นเรื่องของจริต ๖จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ 
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้จัดกรรมฐานทั้ง ๔๐ ประการไว้โดยแบ่งลงไปในจริต 6 โดยได้แบ่งไว้ดังต่อไปนี้ ท่านอธิบายว่ากรรมฐาน ๑๑ กองนี้  ก็คืออสุภกรรมฐาน ๑๐ ข้อกับกายคตาสติ ๑ ข้อ กรรมฐานทั้ง ๑๑ กองนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หนักไปทางราคจริต  ราคจริตก็คือพวกรักสวยรักงาม พวกอารมณ์ละเอียดประณีต อารมณ์ศิลปะ ส่วนพวกที่เป็นโทสจริตได้แก่พวกที่โกรธง่าย  ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์หงุดหงิดง่ายนี้ท่านบอกว่าให้ปฏิบัติในกรรมฐาน ๘ ประการ กรรมฐานทั้ง ๘ ประการก็มี ๑.  พรหมวิหาร ๔ได้แก่ การเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อีกประการหนึ่งก็คือ การเพ่งกสิณ  กสิณนี้จะมีทั้งหมด ๑๐ ประการ แต่ที่ท่านยกมาให้ปฏิบัติ เขาเรียกว่า วรรณกสิณ คำว่าวรรณกสิณก็คือ กสิณที่เป็นสี สีที่นำมาเพ่งเพื่อให้ความโกรธมันระงับมีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่ โลหิตกสิณ  คือกสิณสีแดง อันนี้ที่พระพุทธเจ้าเนรมิตดอกโกมุท ดอกบัวแดง มาให้พระลูกศิษย์พระสารีบุตรเพ่งนี้แหละเขาเรียกว่ากสิณสีแดง,โอทาตกสิณ กสิณสีขาว,ปีตกสิณ กสิณสีเหลือง,นีลกสิณ กสิณสีเขียว  แดง  เหลือง  เขียว   ขาว  ๔ อันนี้  ตัวเรามองในเชิง  psycology  ก็จะเข้าว่าวรรณะกสิณทั้ง ๔  มันคงจะเข้าไปมีอิทธิพลกับจิตใจพวกที่เป็นโทสจริต  คือพวกที่โกรธง่าย  ฉุนเฉียวง่าย 
ทีนี้มันมีอีก ๒ จริต ก็คือ โมหจริต พวกที่ซึมเซา หลงลืม พวกที่ไม่ค่อยฉลาดเท่าไร นี้เขาเรียกว่า โมหจริต ลุ่มหลงมัวเมา กับอีกประเภทหนึ่งก็คือพวกวิตกจริต วิตกจริตคือ พวกที่ชอบฟุ้งซ่านคิดไปเรื่อย โมทะจริตก็ดีวิตกจริตก็ดี  พระพุทธโฆศาจารย์ท่านบอกว่า กรรมฐานที่เหมาะมากที่สุดก็คือ อานาปานสติ ได้แก่การกำหนดดูลมหายใจเข้าออก เหมาะสำหรับพวกโมหจริตกับวิตกจริต อีกประเภทหนึ่งก็คือพวกศรัทธาจริต พวกนี้เป็นพวกที่ชอบเชื่ออะไรง่ายๆ ใครพูดอะไรก็เชื่อ เพราะฉะนั้นเมื่อเชื่อง่าย มันมีแรงจูงใจง่าย ก็ควรจะเชื่อในสิ่งที่ดีๆ ท่านบอกว่ากรรมฐานที่เหมาะได้แก่ อนุสสติ ๖ ประการ อนุสสติ ๖ ประการก็คือ การระลึกนึกถึงสิ่งที่ดี ๖ ประการนั่นเองได้แก่
๑.  พุทธานุสสติ การระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ 
๒.  ธัมมานุสสติ  การระลึกนึกถึงพระธรรมเป็นอารมณ์ 
๓.  สังฆานุสสติ  การระลึกนึกถึงคุณความดีของพระสงฆ์เป็นอารมณ์ 
๔.  ศีลานุสสติ  การระลึกนึกถึงศีลเป็นอารมณ์ 
๕.  จาคานุสสติ  การระลึกนึกถึงการบริจาคคุณความดีจากการบริจาคเป็นอารมณ์ 
๖. เทวตานุสสติ  การระลึกนึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดาก็คือ  หิริ  ความละอายแก่ใจ  และก็โอตัปปะ  ความเกรงกลัวต่อบาป 
ท่านกล่าวว่าทั้ง ๖ ประการนี้เหมาะมากๆ กับพวกที่เป็นศรัทธาจริต ส่วนจริตสุดท้ายเขาเรียกว่า พวกพุทธิจริต  คำว่าพุทธิจริต คือ  เป็นพวกที่ฉลาด มีปัญญา อย่างเช่นพระสารีบุตร เขาเรียกพุทธิจริต เป็นพวกชอบฝึกชอบคิดไม่เชื่ออะไรง่ายๆ พวกนี้ท่านบอกว่ามีกรรมฐาน ๔ ประการที่เหมาะสมนั้นก็คือ 
๑.  มรณสติ  การระลึกนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ 
๒.  อุปสมานุสติการระลึกนึกถึงนิพพานเป็นอารมณ์ 
๓.  จตุธาตุววัตถานหมายถึงการกำหนดธาตุทั้ง  ๔ เป็นอารมณ์  ธาตุทั้ง  ๔ ก็คือ  การเพ่งดิน  น้ำ  ลม  ไฟ 
แล้วข้อสุดท้ายก็คือ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ได้แก่  การพิจารณาอาหารที่เราบริโภค ขบ ฉัน  เข้าไป  พิจารณาให้เป็นของปฏิกูล  จะได้ไม่เกิดความยินดีในทางลิ้น 
พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านอธิบายว่า  กรรมฐานทั้ง ๔ ข้อนี้  เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพวกที่เป็นพุทธิจริต ก็คือ พวกที่ฉลาด พวกที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ
ก็สรุปว่ากรรมฐาน ๔๐ ประการเมื่อเอามาจัดลงในจริตทั้ง ๖ มันก็จะมีกรรมฐาน ๑๑ ข้อ คือ อสุภกรรมฐานกับกายคตาสติ เหมาะกับพวกราคจริต  พวกรักสวยรักงาม  กรรมฐานอีก ๘ กองก็คือ  พรหมวิหาร ๔  กับ  วรรณกสิณ ๔สีแดง  สีเขียว  สีเหลือง  สีขาว เหมาะสำหรับพวกโทสจริต อานาปานสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าออก เหมาะสำหรับพวกเป็นโมหจริต พวกหลง พวกวิกลจริต แล้วก็อนุสสติ ๔ ตั้งแต่  พุทธานุสสติ  จนกระทั่งถึงเทวตานุสสติ  เหมาะสำหรับพวกศรัทธาจริตพวกที่เชื่ออะไรง่ายๆ  กรรมฐาน  ๔  ประการ  คือ  มรณะสติ  อุปสมานุสติ  จตุธาตุววัตถาน อาหาเรปฏิกูลสัญญา  เหมาะสำหรับพวกพุทธิจริต  ส่วนกสิณที่เหลือก็คือ  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  อากาศกสิณ  อาโลกกสิณ  กสิณแสงสว่าง  อรูปฌาน ๔ ท่านบอกว่าเหมาะแก่คนทุกจริต 
อันนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติกรรมฐานจะต้องเข้าใจ  มันมีหนังสืออยู่ ๒เล่ม  ก็คือหนังสือชื่อว่าวิมุติมรรค ซึ่งแต่งโดยพระอุปปติสสะอรหันต์ หนังสือเล่มนี้มีอายุยาวมาก ประมาณพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วประมาณ ๖๐๐ ปี  ชื่อว่าวิมุตติมรรค  หนังสือเล่มนี้จะอยู่ในบทที่ ๖ เขาตั้งชื่อว่า จริยาปริเชษ  แปลว่าบทที่ว่าด้วยเรื่องจริยา คำว่าจริยาก็คือ นิสัย เวลาเอาองค์ธรรมนี้ไปรวมไว้ในตัวบุคคลเขาจะเรียกว่าจริต  ส่วนในวิสุทธิมรรค  ก็จะอยู่ในภาค ๑ ตอน ๒ หรือว่าเล่ม ๒  จะอยู่ในบทที่  ๓  คือกรรมฐานคหนนิเทศ ว่าด้วยการเรียนเอากรรมฐานซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์ ก็จะอธิบายว่าจริตทั้ง ๖ ประการนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้โดยตรง  แต่ท่านรวบรวมมาจากอรรถกคาถาทั้งหลายและที่สำคัญก็คือท่านจะไปอ้างอิงถึงจริต ๑๔ ประการอันนี้ทั้งหลายก็ไปดูรายละเอียดของจริตทั้ง ๖ได้  หนังสือ  ๒ เล่ม  ที่เราควรจะดู คือ คัมภีร์วิมุตติมรรค กับ คัมภีร์วิสุทธิมรรค คือคัมภีร์วิสุทธิมรรคจะได้แนวทางจากคัมภีร์วิมุตติมรรค ลักษณะและลีลาคล้ายๆ กัน  แต่เพียงแต่พระพุทธโฆษาจารย์ จะเอาคัมภีร์วิมุตติมรรคมาขยาย ก็จะมีการพาดพิงถึงจริต ๑๔ ประการ ที่พระอุปปติสสะ ได้อธิบายไว้และท่านก็ได้ยกมาอธิบายอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องจริตนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากโดยเฉพาะนักปฏิบัติจะต้องเข้าใจตัวเองอ่านตัวเองออก ว่าเราเป็นพวกจริตแบบไหนแต่ความจริงแล้วจริตมันก็มีกันทุกกคน จะบอกว่าคนๆ หนึ่งมีราคะจริตอย่างเดียวไม่มีโทสจริตเลย มันก็พูดยาก แต่ปัญหาคืออะไรมันมากกว่ากัน ระหว่างราคะจริตกับโทสจริต  หรือศรัทธาจริต อันนี้ก็ต้องดูต้องตรวจสอบตนเอง และนอกจากนั้นท่านบอกว่าวิธีการสังเกตจริตให้ดูจากการแสดงออกเช่นการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าอิริยาบถ ให้สังเกตดูการทำงานให้สังเกตจากการทานอาหาร สังเกตจากการติดอารมณ์ภายนอก หรือให้ดูจากกิเลสมโนธรรมในใจ ยกตัวอย่างเช่น คนราคจริต  ท่านบอกว่าพวกนี้ก็จะเป็นพวกทำอะไรเชื่องช้า เดินก็ชมดชดช้อย เวลานอนก็ละมุนละม่อมเวลาถูกปลุกก็จะค่อยๆตื่นช้าๆ ลืมตาขึ้นช้าๆ อย่างนี้เป็นต้น คือทำอะไรนุ่มนวล เชื่องช้านุ่มนวลแม้แต่เวลาทำงานก็เรียบร้อยมาก ถ้าสั่งคนพวกคนราคจริตทำงาน ทำดีทำละเอียด ให้ล้างจานก็ล้างอยู่นั้นแหละ สะอาดเกลี้ยงเกลา ให้กวาดบ้านถูบ้านทำได้ละเอียดมาก แม้แต่การแต่งกายก็แต่งได้ละเอียดประณีตดูงดงาม ที่สำคัญก็คือท่านบอกว่าแม้แต่การบริโภคอาหาร พวกนี้ก็ชอบรสชาติที่กลมกล่อม  รสไม่เผ็ดจัด ไม่เปรี้ยวจัด ไม่เค็มจัด  และทานข้าวด้วยความเรียบร้อยไม่มูมมาม อันนี้เราก็ต้องสังเกตดูตัวเราว่าเราเป็นราคจริตหรือเปล่า  ปฏิกิริยาต่ออารมณ์ภายนอก เช่นเวลาไปเห็นอะไรสวยหน่อยก็ดูอยู่นั้นแหละ พวกนี้ถ้าให้ไปหอศิลป์สงสัยจะเดินได้ทั้งวัน
พวกราคจริตซึ่งตรงกันข้ามกับพวกโทสจริต พวกโกรธง่ายพวกนี้จะทำอะไรเร็ว เดินก็ไว นอกจากเดินไวแล้วยังเดินดังอีก  ถ้าเป็นผู้หญิงสงสัยโดนพ่อแม่ปู่ย่าตายายเคาะตาตุ่มแล้ว ท่านบอกว่าเดินอย่างมีสติเดินช้าๆ อย่าไปเดินกระแทกส้น พวกโทสจริตจะเป็นพวกอย่างนั้น เวลานอนก็หัวถึงหมอนก็สบาย ไม่ต้องไปปูที่หลับปรับที่นอนอะไรดีมาก พอปลุกก็ลุกพรวดพราด ถ้าทำงานก็ทำด้วยความรวดเร็วไม่ค่อยสะอาดเท่าไร การบริโภคเขาบอกว่าพวกโทสจริตจะชอบอาหารรสจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด กินข้าวคำใหญ่ เคี้ยวเร็ว ปกติเขาทานข้าว ๑๐-๑๕ นาที  พวกโทสจริตทานไม่ถึง ๕ นาทีก็อิ่มแล้ว ปฏิกิริยาที่มีต่อสิ่งภายนอกเจออะไรนิดอะไรหน่อยจะหงุดหงิด ไม่ค่อยสบอารมณ์ นี้คือพวกโทสจริต
แต่ถ้าเป็นพวกโมหจริตพวกนี้ก็จะทำอะไรก็สุกเอาเผากิน พวกนี้เป็นพวกซึมๆเหม่อๆ ไม่ค่อยจะมีสติเรื่องการกินก็ไม่ค่อยแน่นอน กินไปก็ฟุ้งซ่านไปบางทีข้าวหล่นไม่รู้ตัว อย่างนี้เป็นต้นใครว่าอะไรก็ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อเขาไปหมด ท่านจัดไว้แบบนี้ว่าคือพวกศรัทธาจริต มันมีอะไรที่คล้ายๆ กับพวกราคจริต  ส่วนพวกวิตกจริตก็คล้ายๆ  กับพวกโมหะจริต  ส่วนพวกพุทธิจริตไปกันได้กับพวกโทสจริต 
นี้คือการซอยจริตทั้ง ๖ ให้เหลือ  ๓ แต่ถ้าในคัมภีร์วิมุติวรรคท่านจะอธิบายไว้ว่ามี  ๑๔ เรียงไปเลยตั้งแต่ ราคะ โมหะ โทสะ ศรัทธาพุทธิวิตก แล้วจากนั้นท่านก็เอาแต่ละอย่างมาผสมกัน ราคะพวกที่หนักไปทางราคะกับโทสะ พวกที่หนักไปทางราคะกับโมหะ พวกที่หนักไปในทางโทสะและโมหะพวกที่ทั้งราคะ โมหะ โทสะ แล้วก็พวกศรัทธาบวกพุทธิ พวกศรัทธาบวกวิตก พวกพุทธิบวกวิตก พวกศรัทธาบวกพุทธิ บวกวิตกอย่างนี้ รวมทั้งหมดเป็น ๑๔ ประเภท  แต่มันเยอะเกินไม่ไหว  ก็เอาสัก ๖ ก็แล้วกัน  ศรัทธาจริต ราคจริต โมหะจริต โทสจริต พุทธิจริต วิตกจริต ก็คือ ๖ประเภท แล้วเราก็เอามาจับคู่กัน  เพราะเวลาที่ท่านอธิบายผสมในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านจะอธิบายควบไป สำหรับพวกศรัทธาจริต ก็มีลักษณะคล้ายๆ กับพวกราคจริต  วิธีการจำเราก็จำง่ายๆ อะไรถ้ามันลง  อา อา ศรัทธากับราคะ เหมือนกับ พวกวิตกก็คือ  วกฟุ้งซ่าน  โมหจริตก็คือพวกมัวเมาลุ่มหลง พวกนี้มันจะเหมือนกันแต่ถ้าพวกพุทธิจริตพวกนี้ฉลาด ฉลาดแต่ใจร้อน พุทธิบวกโทสะ พวกนี้ sensitive คิดไว ทำไว เพราะเป็นพวกฉลาด แล้วท่านก็แสดงนะว่ากิเลสสำหรับแต่ละประเภท ถ้าเป็นพวกราคจริตนี้พวกที่ชอบโชว์อ๊อฟ แล้วก็เป็นพวกถือตัวต้องการได้มาก ไม่ค่อยสันโดษ แต่ถ้าพวกโทสจริตนี้เป็นพวกชอบโกรธ ผู้โกรธลบหลู่คุณคนอื่น ตีสนิทคนอื่นริษยาตระหนี่ พวกโมหจริตพวกนี้เป็นพวกชอบท้อแท้ ฟุ้งซ่าน รำคาญ ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็พวกศรัทธาจริต ก็เป็นพวกที่ชอบเลื่อมใสชอบฟังพระสัตย์ธรรม มีความปลาบปลื้ม ความปลาบปลื้มมาก ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ส่วนพวกพุทธิจริยาก็เป็นพวกที่ชอบได้คนดี รู้จักประมาณในโภชนะ ความขยัน พวกวิตกจริตชอบคุยมากชอบคลุกคลีด้วยหมู่ด้วยคณะ  ใจคอไม่มั่นคงคิดไปเรื่อย  อย่างนี้เป็นต้น 
เรื่องจริตทั้ง ๖ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ รายละเอียดก็ขอให้ท่านทั้งหลายไปศึกษาดูในคัมภีร์วิสุทธิมรรค  ซึ่งก็จะอยู่ในบทที่ ๓ ชื่อเรื่องว่ากรรมฐานคหนิเทศ ตอนว่าด้วยการเรียนกรรมฐานถ้าในคัมภีร์วิมุตติมรรคก็จะอยู่ในบทที่ ๖ ซึ่งท่านจะอธิบายไว้ละเอียด ละเอียดถึงขนาด บอกได้เลยว่า  พวกราคจริตมาจากสวรรค์ชั้นไหน  พวกโทสจริตเป็นพวกก่อนจะมาเกิดนี้มาจากชั้นไหน  แต่ในที่นี้เราคงจะไม่มีเวลาอธิบายอะไรมาก แล้วก็อีกประการหนึ่งก็คือ  สิ่งที่เหมาะสมสำหรับการเจริญกรรมฐานสำหรับพวกจริต  อย่างเช่น ถ้าเป็นพวกราคจริต เขาบอกว่าพวกนี้ต้องอยู่ให้อยู่ในที่ที่มันสกปรก รกรุงรัง  มันจะได้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพวกราคจริต  อาหารก็อย่าให้ประณีตมาก  ที่อยู่ก็ต้องเก่าๆ  ถ้าเป็นพวกโทสจริตนี้ตรงกันข้าม ที่อยู่ต้องสะอาด อาหารต้องดี  เสื่อผ้าต้องละเอียดอย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นความฉลาดของเขา
ในการวางกรรมฐานให้เหมาะสมกับจริตรายละเอียดก็ไปดูกันเอา เพราะว่าเวลามีจำกัด แต่ที่สำคัญก็คือต้องฉลาด ฉลาดในจิตของตัวเองว่า  เราเกิดอารมณ์แบบไหนในขณะจิต 1 และเราก็น้อมเอากรรมฐานที่เหมาะสมกับขณะนั้น เวลานั้นไปปฏิบัติเช่นขณะนี้กำลังโกรธมันจะไปมัวเพ่ง พิจารณาซากศพหรือกายคตาสติ ก็ไม่ไหวหรือว่าขณะนี้เกิดราคะขึ้นในใจจะไปเพ่งพิจารณาพรหมวิหารมันก็ไม่ถูกโรค  เหมือนกับวางยาไม่ถูกโรคเพราะฉะนั้น มันจะต้องมีความไวของสติ ที่จะเข้าไปกำหนดดูจิตว่าขณะนี้จิตกำลังเกิดกิเลสตัวไหน แล้วก็จะได้น้อมเอากรรมฐานที่เหมาะสมแก่โรคที่เรากำลังเป็นอยู่ในขณะนั้นถ้าได้อย่างนี้ก็เป็นผู้ที่ฉลาดในจริตของตัวเอง เป็นผู้ที่วางยาได้เหมาะสมก็จะทำให้กิเลสระงับได้โดยไว ปัญญาก็จะเกิดได้อย่างรวดเร็ว 
จากนี้ไปอีก๑๕ นาทีก็ขอให้ทุกท่านจงพากันฝึกจิตของตนเองในการฝึกจิตนั้นมันก็มีได้ ๒  แบบ ก็คือ จะฝึกด้วยสมถะก็ได้ คือตัวฌานมันไม่ไช่มีแต่ลักขณูปนิชฌาน คือการเจริญสมถะจนกระทั่งจิตมันสงบ มันยังมีอารัมมนุษย์ อารัมณูปนิชฌานก็คือการเอาไตรลักษณ์มาเป็นอารมณ์จนกระทั่งจิตมันสงบ  มันก็มีนะมันมีอยู่  ๒  ประเภทเพราะฉะนั้นถ้าเราชอบแบบไหนถนัดแบบไหนก็น้อมนำเอาสิ่งที่เราชอบมาปฏิบัติในช่วง  ๑๕  นาที  สำหรับสมถะและวิปัสสนานี้  มันเป็นสิ่งที่มีความเกื้อกูลกัน  แต่สำหรับคนที่ฝึกใหม่ๆ  ก็ทำแบบสมถะก็จะดีก็คือพยายามฝึกจิตให้เกิดความสงบไว้ก่อน  เพราะว่าถ้ามันไม่สงบบางทีถ้ามันมาคิด  มาพิจารณามันก็ไม่เกิดประโยชน์มันก็กลายเป็นความฟุ้งซ่านไป  จากนี้ก็จะงดใช้เสียงแล้วขอให้ทุกท่านได้เริ่มบริกรรมภาวนาไปจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

OK