20.11.54

ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาหนึ่งในกลุ่มศาสนาสากล  เป็นศาสนาที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียใต้ คือ อินเดีย มีผู้นับถือหลายประเทศ เช่น ไทย ลังกา ทิเบต เนปาล เขมร ลาว เกาหลี จีน เวียดนาม อินเดีย และ บางส่วนของประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา สถิติ ผู้นับถือประมาณไม่ต่ำกว่า 500 ล้านคน อีกทั้งเป็นศาสนาแห่งความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยพระพุทธเจ้าทรงได้ค้นพบความจริงนั้น แล้วนำมาชี้แจงเปิดเผยบอกเล่าให้เข้าใจชัดขึ้น ความจริงหรือสัจธรรมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาตินี้เป็นของกลางสำหรับทุกคน เพียงแต่ใครจะค้นพบหรือไม่เท่านั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่ประดิษฐ์หรือคิดขึ้นตามอารมณ์เพ้อฝัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตราบใดที่พระองค์ยังมิได้ตรัสรู้ความจริงในลักษณะ 3 อย่าง คือ รู้ความวามจริง  รู้หน้าที่อันควรทำเกี่ยวกับความจริงนั้น  และรู้ว่าได้ทำหน้าที่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ตราบนั้น พระองค์ก็ยังไมอาจกล่าวได้ว่าตรัสรู้แล้ว ข้อความจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า ความจริงนั้นพระองค์ได้ลงมือปฏิบัติจนค้นพบประจักษ์แล้ว พระองค์จึงได้นำมาสั่งสอน เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนของพระองค์ที่เรียกว่า พุทธศาสนาจึงเป็นหลักคำสอนที่เกี่ยวกับความจริงที่มีเหตุผลสมบูรณ์ผ่านการพิสูจน์ทดลองมาแล้ว ไม่มีคำว่า "เดา" หรือ "สันนิษฐาน" ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเป็นความจริงที่ได้ค้นประจักษ์ชัดแล้วจึงใช้ได้และเป็นวิถีทางแห่งการตรัสรู้ อันจะนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา
พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิรูป
เพราะเมื่อพุทธศาสนาได้เผยแพร่ในโลก ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปทั้งศาสนาและสังคม กล่าวคือ ศาสนาต่าง ๆที่มีอยู่แล้วก่อนพุทธศาสนา ต่างก็สอนเรื่องพระเจ้า ให้นับถืออ้อนวอนพระเจ้า และสอนให้เกิดการนับถือชนชั้นวรรณะ มีการแบ่งชั้นวรรณะ  ส่วนพุทธศาสนา ประกาศตัวเป็น "อเทวนิยม" ไม่ขึ้นตรงต่อพระเจ้าหรือพรหมองค์ใดเลย และสอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุชาติและวงศ์สกุล โดยตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลต่ำสูง ยากดีมีจนอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้วก็ได้ชื่อว่า เป็นคนดี ควรยกย่องสรรเสริญ ตรงข้ามถ้าล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้เกิดในสกุลสูงก็นับว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ นอกจากนี้หลักสัจธรรมทางพุทธศาสนายังมีเป้าหมายคือ มุ่งแก้ไขความทุกข์ร้อนของสังคม นับตั้งแต่ส่วนบุคคล ครอบครัว จนถึงส่วนรวม กฎหมายอย่างเดียวยังไม่เพียงพอสำหรับคุ้มครองและควบคุมพฤติกรรมของส่วนบุคคลของครอบครัว
ศาสนาเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาบุคคล สังคมให้ดำรงอยู่อย่างสันติสุข รวมทั้งที่จะให้บรรลุถึงความหวังที่จะพ้นทุกข์โดยในแง่ของการวิเคราะห์แล้ว พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักวิภชวาท ประกาศคำสอนเพื่อความเข้าใจง่ายสำหรับผู้ฟัง  โดยการจำแนกแจกแจงหลักธรรมได้อย่างดีเยี่ยม เพราะฉะนั้นลักษณะคำสอนของพุทธศาสนา จึงเป็นการวิเคราะห์ออกเป็นข้อ ๆ อย่างละเอียดสุขุม และประสานสัมพันธ์กันเป็นระบบที่แน่นแฟ้น เช่น ถ้าจะอธิบายธรรมะข้อใดข้อหนึ่งสามารถอธิบายเกี่ยวโยงไปถึงธรรมะข้ออื่น ๆ ได้อย่างมีระบบ และสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น ในบรรดาศาสนาอื่นๆ ที่มีการวิเคราะห์แล้ว พุทธศาสนานับว่าเป็นเด่นในเรื่อง
ศาสนาอเทวนิยม
เพราะเหตุว่าศาสนาพุทธไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า ไม่ยอมรับในอำนาจการดลบันดาลของพระเจ้า จึงจัดอยู่ในศาสนาประเภท อเทวนิยม ในความหมายที่ว่าไม่เชื่อว่า พระเจ้าบันดาลทุกสรรพสิ่ง ไม่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่ผูกติดกับพระผู้ดลบันดาล หรือพระเจ้า ไม่ได้ผูกมัดตนเองไว้กับพระเจ้า ไม่พึ่งพาอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า เชื่อในความสามารถของมนุษย์ว่ามีศักยภาพเพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจใดๆภายนอก เชื่อว่ามนุษย์เองสามารถปลดเปลื้องความทุกข์ได้โดยไม่รอการดลบันดาลและพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยไม่มีใครสั่งสอน และไม่อ้างว่าเป็นทูตของพระเจ้า แต่หากจะเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นที่มีพระเจ้า ชาวพุทธทุกคนคือพระเจ้าของตัวเอง เนื่องจากตัวเองเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ว่าจะมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตหรือมีความตกต่ำในชีวิต จากการประพฤติปฏิบัติของตัวเอง ดังคำพุทธพจน์ที่ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ซึ่ง ต่างกับศาสนาที่มีพระเจ้าผู้เป็นใหญ่ ที่ชะตาชีวิตทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้ากำหนดมาแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีหรือร้ายก็ต้องทนรับชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเป็นมา
                ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม และเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากศาสนาหนึ่งของโลก รองจาก ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และ ศาสนาฮินดู ประวัติความเป็นมาของศาสนาพุทธเริ่ม ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผู้ประกาศศาสนาและเป็นศาสดาของศาสนาพุทธคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะหรือเดือน 6 ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันสถานที่นี้ เรียกว่า พุทธคยา อยู่ห่างจากเมืองคยาประมาณ 11 กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนาหลังจากการประกาศศาสนา เริ่มจากการแพร่หลายไปทั่วอินเดีย หลังพุทธปรินิพพาน 100 ปี จึงแตกเป็นนิกายย่อย โดยนิกายที่สำคัญคือ เถรวาทและมหายาน
                นิกายมหายานได้แพร่หลายไปทั่วเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก เมื่อศาสนาพุทธในอินเดียเสื่อมลง พุทธศาสนามหายานในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เสื่อมตามไปด้วย ยังคงเหลือในจีน ทิเบต ญี่ปุ่น เวียดนาม ส่วนนิกายเถรวาทได้เฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งในศรีลังกา และแพร่หลายไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุทธศาสนาได้แพร่หลายไปยังโลกตะวันตกตั้งแต่ครั้งโบราณ แต่ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้นในยุคจักรวรรดินิยมและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ศาสดา
                ศาสดาของศาสนาพุทธ คือ พระโคตมพุทธเจ้า ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงประสูติในดินแดนชมพูทวีป ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6  80 ปีก่อนพุทธศักราช ณ สวนลุมพินีวัน เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาท ผู้สืบทอดราชบัลลังก์กรุงกบิลพัสดุ์แห่งแคว้นศากยะ และเมื่อพระชนมายุ 16 ชันษา ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธราแห่งเมืองเทวทหะ ต่อมาเมื่อพระชนมายุ 29 ชันษา ทรงมีพระโอรสกับเจ้าหญิงยโสธรา 1 พระองค์พระนามว่า ราหุล
ในปีเดียวกันนี้เองที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยออกผนวชเป็นสมณะ เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นอันนำไปสู่การบรรลุความหลุดพ้นจากทุกข์ คือ ความแก่ เจ็บ และตาย ในปีเดียวกันนั้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที[14] และหลังจากออกผนวชมา 6 พรรษา ทรงประกาศการค้นพบว่าการหลุดพ้นจากทุกข์ทำได้ด้วยการฝึกจิตด้วยการเจริญสติ ประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา จนสามารถรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์เพราะสรรพสิ่งไม่สมบูรณ์ ไม่แน่นอน และบังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ จนไม่เห็นสิ่งใดควรยึดมั่นถือมั่นหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จวบจนได้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ[15] คือ การตรัสรู้ อริยสัจ 4 ขณะมีพระชนมายุได้ 35 ชันษา ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม จากนั้นพระองค์ได้ออกประกาศสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ตลอดพระชนม์ชีพ เป็นเวลากว่า 45 พรรษา ทำให้ศาสนาพุทธดำรงมั่นคงในฐานะศาสนาอันดับหนึ่งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ[16] จวบจนพระองค์ได้เสด็จปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ 80 พระชันษา ณ สาลวโนทยาน (ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6)



พระประวัติของพระบรมศาสดา
สกุลกำเนิดและปฐมวัย
         ก่อน พุทธศักราช 80 ปี พระนางสิริมายา ราชธิดาของกษัตริย์โกลิยวงค์ผู้ครองกรุงเทวทหะ พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงประสูตรพระโอรส เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ (ปัจจุบัน คือ ตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล)
หลังจากประสูติ
อสิตดาบส เป็นมหาฤษีอยู่ ณ เชิงเขาหิมพานต์เป็นที่เคารพของราชสกุลได้รับ ทราบข่าวการประสูตรของพระกุมารจึงเดินทางมาเยี่ยม และได้ทำนายว่า ถ้าพระกุมารอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก 5 วันหลังประสูติพระเจ้าสุทโธทนะพร้อมทั้งพระนางสิริมหามายา พระประยูรญาติได้จัดพิธีขนานพระนามพระราชกุมารว่า สิทธัตถะ โดยเชิญพราหมณ์ 108 คนมาเลี้ยง แล้วได้คัดเลือกเอาพราหมณ์ชั้นยอด 8 คนให้เป็นผู้ทำนายลักษณะพระกุมาร เมื่อประสูติได้ 7 วัน พระมารดาก็เสด็จสวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะ จึงมอบให้พระนางประชาบดีซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระนางสิริมหามายาเป็นผู้เลี้ยงดู เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุ 8 พรรษาได้ทรงศึกษาในสำนักครูวิศวะมิตร พระองค์ทรงศึกษาได้อย่างรวดเร็ว มีความจำดีเลิศ และทรงพระปรีชาสามารถในการกีฬา ขี่ม้า ฟันดาบ และยิงธนู
อภิเษกสมรส
วัยหนุ่มพระราชบิดาไม่ต้องการให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นองค์จักรพรรดิ จึงใช้ความพยายามทุกวิถีทางเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระราชบิดาได้โปรดให้สร้างปราสาท 3 หลัง ให้ประทับใน 3 ฤดู และทรงสู่ขอพระนางยโสธราพิมพา พระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งกรุงเทวทหะ อยู่ในตระกูลโกลิยวงค์ให้อภิเษกด้วย เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยสุขสมบัติจนพระชนมายุ 29 พรรษา พระนางยโสธาราก็ประสูติพระโอรส ทรงพระนามว่าราหุล

ออกบรรพชา
เสด็จ ออกบรรพชา เจ้าชายสิทธัตถะทรงเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติอย่างเหลือล้น พระองค์ก็ยังคงตริตรองถึงชีวิตคน ฝักใฝ่พระทัยคิดค้นหาวิธีทางดับทุกข์ที่มนุษย์เรามีมากมาย พระองค์คิดว่า ถ้ายังอยู่ในเพศฆราวาส พระองค์คงหาทางแก้ทุกข์ อันเกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่ได้แน่ พระองค์จึงตัดสินใจเสด็จออกบวช โดยพระองค์ทรงม้ากัณฐกะ สู่แม่น้ำอโนมา ณ ที่นี้พระองค์ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตและมอบหมายเครื่องประดับและม้ากัณฐกะ ให้นายฉันนะนำกลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์
เข้าศึกษาในสำนักดาบส
การแสวงหาธรรมระยะแรกหลังจากทรงออกบวชแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบส ที่กรุงราชคฤห์ อาณาจักรมคธเมื่อสำเร็จการศึกษาจากสำนักนี้แล้วพระองค์ทรงเห็นว่าไม่ใช่หน ทางในการหลุดพ้นจากทุกข์ตามที่พระองค์ได้ทรงมุ่งหวังไว้พระองค์จึงลาอาฬารดาบสและอุททกดาบสเดินทางไปแถบแม่น้ำคยาในตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแห่งกรุงราชคฤห์ อาณาจักรมคธ
บำเพ็ญทุกรกิริยา
การบำเพ็ญทุกรกิริยา เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัยที่จะคิดค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยพระองค์เอง แทนที่จะทรงเล่าเรียนในสำนักอาจารย์แล้วพระองค์เริ่มด้วยการทรมานพระวรกาย ตามวิธีการของโยคี เรียกว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยา บริเวณแม่น้ำ เนรัญชรานั้น พระมหาบุรุษได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลา 6 ปี พระองค์ก็ยังคงมิได้ค้นหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ได้ พระองค์ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วกลับมาเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง จะได้มีกำลังในการคิดค้นพบวิธีใหม่ ในขณะที่พระมหาบุรุษได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยานั้น ได้มีปัญจวัคคีย์มาคอยปรนนิบัติรับใช้ด้วยความหวังว่า พระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้วพวกตนจะได้รับการถ่ายทอดบ้าง และเมื่อพระมหาบุรุษล้มเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ก็ได้ชวนกันละทิ้งมหาบุรุษไปทั้งหมดเป็นผลทำให้พระมหาบุรุษได้ อยู่ตามลำพังในที่สงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งปวง ปัญจวัคคีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี พระองค์ได้ทรงตั้งพระสติและเดินทางกายกลาง คือ การปฏิบัติในความพอเหมาะพอควร



ตรัสรู้
ตรัสรู้ ตอนเช้าวันเพ็ญเดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสเพื่อไปบวงสรวงเทวดา ครั้นเห็นพระมหาบุรุษประทับที่โคนต้นไทรด้วยอาการสงบ นางคิดว่าเป็นเทวดา จึงถวายทอดข้าวมธุปายาสแล้วเสด็จไปริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตอนเย็นวันนั้นเองพระองค์ได้กลับมายังต้นโพธิ์ที่ประทับ พบคนหาบหญ้าชื่อโสตถิยะ คนหาบหญ้าได้ถวายหญ้าให้พระองค์ปูลาด ณ ใต้ต้นโพธิ์ แล้วขึ้นประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า แม้เลือดในกายของเราจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตาม ถ้ายังไม่พบธรรมวิเศษแล้วจะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด เมื่อทรงตั้งจิตอธิษฐานแล้ว พระองค์ก็ทรงสำรวมจิตให้สงบแน่วแน่ พระองค์เริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต และในที่สุดทรงชนะความลังเลพระทัย ทรงบรรลุความสำเร็จ เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็พ้นจากกิเลสทั้งปวง พระองค์ก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ในวันเพ็ญ เดือน 6 ปีระกาธรรมสูงส่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือ อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค 
ประกาศพระศาสนาครั้งแรก
การ แสดงปฐมเทศนา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (เดือน 8) ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปหาปัญจวัคคีย์  พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า ธรรมจักกัปวัตนสูตร ในขณะที่ทรงแสดงธรรมนั้น ท่านโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุ คือ พระโสดาบัน ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของสัมมสัมพุทธเจ้า เรียกการบวชครั้งนี้ว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระอัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นพระภิกษุรูปแรกในพุทธศาสนา 
การประกาศพระพุทธศาสนา
                เมื่อ พระองค์ มีสาวกเป็นพระอรหันต์ 60 องค์ และก็ได้ออกพรรษาแล้ว ทรงพิจารณาเห็นสมควรว่าจะออกไปประกาศศาสนา ให้เป็นที่แพร่หลายได้แล้ว พระองค์จึงเรียกประชุมสาวกทั้งหมดแล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นจากบ่วงทั้งปวงทั้งชนิดที่เป็นทิพย์ และชนิดที่เป็นของมนุษย์แล้ว แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เราทั้งหลายจงพากันจาริกไปยังชนบททั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชนเถิด อย่าไปรวมกันทางเดียวถึงสองรูปเลย จงแสดงธรรมให้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เถิด จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสเบาบางนั้นมีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมจะเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้ถึง ผู้รู้ทั่วถึงธรรมคงจักมีอยู่ แม้ตัวเราก็จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเช่นกัน " พระองค์ทรงส่งสาวกออกประกาศศาสนาพร้อมกันทีเดียว 60 องค์ ไป 60 สาย คือ ไปกันทุกสารทิศทีเดียว แม้พระองค์เองก็ไปเหมือนกัน ไม่ใช่แต่สาวกอย่างเดียวเท่านั้น นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของบุคคลที่จะเป็นผู้นำทีเดียวสาวก ทั้ง 60 องค์เมื่อได้รับพุทธบัญชาเช่นนั้นก็แยกย้ายกันไปประกาศศาสนาตามจังหวัด อำเภอ และตำบลต่างๆ ทำให้กุลบุตรในดินแดนถิ่นฐานต่าง ๆ เหล่านั้น หันมาสนใจมากเลื่อมใสมากขึ้น บางคนขอบวช แต่สาวกเหล่านั้นยังให้บวชเองไม่ได้  จึงต้องพากุลบุตรเหล่านั้นมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อให้พระองค์บวชให้ทำให้ได้ รับความลำบากในการเดินทางมาก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้สาวกเหล่านั้นอุปสมบทกุลบุตรได้โดยโกนผม และหนวดเคราเสียก่อน แล้วจึงให้นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด นั่งคุกเข่าพนมมือกราบภิกษุแล้วเปล่งว่าจาว่า "ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ" รวม 3 ครั้ง การอุปสมบทนี้เรียกว่า "ติสรณคมนูปสัมปทา" คือ อุปสมบทโดยวิธีให้ปฏิญญาณตนเป็นผู้ถึงสรณคมน์
ตั้งแต่พรรษาที่ 1 ที่พระองค์ได้สาวกเป็นพระอรหันต์จำนวน 60 องค์แล้วพระองค์ก็ได้อาศัยพระมหากรุณาคุณทำการประกาศเผยแผ่คำสอน จนได้สาวกเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัท 4 ขึ้น อย่างแพร่หลายและมั่นคง การประกาศศาสนาของพระองค์ได้ดำเนินการไปอย่างเข้มแข็ง โดยการจาริกไปยังหมู่บ้านชนบทน้อยใหญ่ในแคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีปตลอดเวลาอีก 45 พรรษาคือ พรรษาที่ 2 - 45 ดังนี้
พรรษาที่ 2 เสด็จไปยังเสนานิคมในตำบลอุรุเวลา ในระหว่างทางได้สาวกกลุ่ม ภัททวคคีย์ 30 คน และที่ตำบลอุรุเวลาได้ ชฎิล 3 พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และ คยากัสสปะ กับศิษย์ 1,000 คน เทศนาอาทิตตปริยายสูตร ที่คยาสีสะเสด็จไปยังราชคฤห์แห่งแควว้นมคธ กษัตริย์เสนิยะพิมพิสาร ทรงถวายสวนเวฬุวัน แด่คณะสงฆ์ ได้สารีบุตร และโมคคัลลานะเป็นสาวก อีก 2 เดือนต่อมาเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์ ทรงพำนักที่ นิโครธาราม ได้สาวกมากมาย เช่น นันทะ ราหุล อานนท์ เทวทัต และพระญาติอื่นๆ อนาถปิณฑิกะเศรษฐี อาราธนาไปยังกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ถวายสวนเชตวันแต่คณะสงฆ์ ทรงจำรรษาที่นี่
                พรรษาที่ 3 นางวิสาขาถวายบุพพาราม ณ กรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาที่นี่ 
พรรษาที่ 4 ทรงจำพรรษาที่เวฬุวัน ณ กรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ
พรรษาที่ 5 โปรดพระราชบิดาจนได้บรรลุอรหัตตผล ทรงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพระญาติฝ่ายสักกะกับพระญาติฝ่ายโกลิยะเกี่ยว กับการใช้น้ำในแม่น้ำ โรหิณี ทรงบรรพชาอุปสมบทพระนางปชาบดีโคตมี และคณะเป็นภิกษุณี
พรรษาที่ 6 ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ในกรุงสาวัตถีย์ ทรงจำพรรษาบนภูเขามังกลุบรรพต

พรรษาที่ 7 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ระหว่างจำพรรษาเสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรดพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรม
พรรษาที่ 8 ทรงเทศนาในแคว้นภัคคะ ทรงจำพรรษาในสวนเภสกลาวัน
พรรษาที่ 9 ทรงเทศนาในแคว้นโกสัมพี
พรรษาที่ 10 คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีแตกแยกกันอย่างรุนแรง ทรงตกเตือนไม่เชื่อฟัง จึงเสด็จไปประทับและจำพรรษาในป่า ปาลิเลยยกะ มีช้างเชือกหนึ่งมาเฝ้าพิทักษ์และรับใช้ตลอดเวลา
พรรษาที่ 11 เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีปรองดองกันได้ ทรงจำพรรษาในหมู่บ้าน
พราหมณ์ชื่อ เอกนาลา
พรรษาที่ 12 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่เวรัญชา เกิดความอดอยากรุนแรง
พรรษาที่ 13 ทรงเทศนาและจำพรรษาบน ภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ 14 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ราหุลขอบรรพชาอุปสมบท
พรรษาที่ 15 เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ สุปปพุทธะถูกแผ่นินสูบเพราะขัดขวางทางโคจร
พรรษาที่ 16 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่ อาลวี
พรรษาที่ 17 เสด็จไปยังกรุงสวัตถี กลับมายังอาลวีและทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์
พรรษาที่ 18 เสด็จไปยัง อาลวี ทรงจำพรรษาบน ภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ 19 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่บน ภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ 20 โจรองคุลีมาล กลับใจเป็นสาวก ทรงแต่งตั้งให้พระอานนท์ รับใช้ใกล้ชิดตลอดกาล
ทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ ทรงเริ่มบัญญัติวินัย
พรรษาที่ 21 - 44 ทรงยึดเอาเชตะวันและบุพพารามในกรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่และเป็นที่ ประทับจำพรรษา เสด็จพร้อมสาวกออกเทศนาโปรเวไนยสัตว์ตามแว่นแคว้นต่าง ๆ โดยรอบ
พรรษาที่ 45 และสุดท้าย พระเทวทัต คิดปลงพระชนม์ กลิ้งก้อนหินจนเป็นเหตุให้พระบาทห้อโลหิต ทรงได้รับการบำบัดจากหมอชีวก
ทรงปรินิพาน
การเสด็จปรินิพพาน หลังจากพระพุทธเจ้าแสดงปัจฉิมโอวาท ซึ่งวันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน 6) ในยามสุดท้ายของวันนั้น ณ ป่าไม้สาละ(สาลวันอุทยาน) ของกษัตริย์มัลละ กรุงกุสินารา พระองค์ได้ประทับใต้ต้นสาละคู่ หลังจากตรัสโอวาทให้แก่พระอริยสงฆ์แล้ว พระองค์มิได้ตรัสอะไรอีกแล้วเสด็จปรินิพพาน ด้วยพระอาการสงบ ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์นักที่วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้าตรงกัน คือ วันเพ็ญเดือน 6
คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา 
คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา คือ คัมภีร์พระไตรปิฎก พระไตรปิฎก แปลว่า "ปิฎกสาม" ปิฎก แปลตามศัพท์พื้น ๆ ว่ากระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่าง ๆ เข้าไว้นำมาใช่ในความหมายว่าเป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็น หมวดหมู่แล้วโดยในนี้ไตรปิฎกจึงแปลว่าคัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ 3 ชุดหรือประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวด  กล่าวคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก
พระไตรปิฎก
                เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนา ซึ่งรวบรวมคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้า ไว้เป็นหมวดหมู่ แบ่งออกเป็น 3 ปิฎก ด้วยกันคือ
 1. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของ ภิกษุและภิกษุณี
                2. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาโดยทั่วไป มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ
                3. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ไม่มีประวัติ และท้องเรื่องประกอบ





แผนผังพระไตรปิฎก
พระวินัยปิฎก มีอยู่ ๕ หมวดด้วยกันคือ
1.     มหาวิภังค์ ว่าด้วยข้อห้าม หรือวินัยที่เป็นหลักใหญ่ ๆ ของพระภิกษุเป็นศีลของภิกษุที่มาในปาติโมกข์
2.     ภิกษุณีวิภังค์ ว่าด้วยข้อห้าม หรือวินัย ของพระภิกษุณี
3.     มหาวัคค์ ว่าด้วยพุทธประวัติตอนแรก และพิธีกรรมทางพระวินัย แบ่งออกเป็นขันธกะ10 หมวด
4.     จุลลวัคค์ ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัย ความเป็นมาของพระภิกษุณีและประวัติการทำสังคายนา แบ่งออกเป็นขันธกะ 12 หมวด
5.     บริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย เป็นการย่อหัวข้อสรุปเนื้อความ วินิจฉัยปัญหาใน 4 เรื่องข้างต้น
พระสุตตันตปิฎก มีอยู่ ๕ หมวดด้วยกันคือ
1. ทีฆนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาขนาดยาว มี 34 สูตร
2. มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาขนาดกลาง ไม่ยาวและไม่สั้นเกินไปมี 152สูตร
3. สังยุตตนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนา ที่ประมวลธรรมะไว้เป็นพวก ๆ เรียกว่า สังยุต เช่นกัสสปสังยุต ว่าด้วยเรื่องของพระมหากัสสป โกศลสังยุต ว่าด้วยเรื่องในแคว้นโกศล มัคคสังยุต ว่าด้วยเรื่องมรรคคือข้อปฎิบัติ เป็นต้น มี 7,762 สูต
4. อังคุตตรนิกาย ว่าพระพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาเป็นข้อ ๆ ตามลำดับจำนวน เช่น ธรรมะหมวด 1 ธรรมะหมวด 2 ธรรมะหมวด 10 แต่ละข้อก็มีจำนวนธรรมะ 1,2,10 ตามหมวดนั้น มี 9,557 สูตร
๕. ขุททกนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ด รวมทั้งภาษิตของพระสาวก ประวัติต่าง ๆ และชาดก รวบรวมหัวข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน 5 หมวดข้างต้น แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่มี 15 เรื่อง


พระอภิธรรมปิฎก แบ่งออกเป็น 7 เรื่องด้วยกันคือ
1. ธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมะ รวมเป็นหมวดเป็นกลุ่ม
2. วิภังค์ ว่าด้วยธรรมะแยกเป็นข้อ ๆ
3. ธาตุกถา ว่าด้วยธรรมะจัดระเบียบความสำคัญโดยถือธาตุเป็นหลัก
4. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ 6 ชนิด และแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติอันเกี่ยวกับบุคคล
5. กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบในหลักธรรม จำนวนหนึ่งประมาณ 219 หัวข้อเพื่อถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรม
 6. ยมก ว่าด้วยธรรมะที่รวมเป็นคู่ ๆ
 7. ปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือสิ่งที่เกื้อกูลสนับสนุน 24 อย่าง 
ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
 1. พระพุทธเจ้า ทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย สมัยเมื่อนิครนถ์ นาฎบุตร เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ พวกสาวกเกิดแตกกัน พระจุนทเถระเกรงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ในพระพุทธศาสนา จึงพร้อมกับพระอานนท์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงตรัสบอกพระจุนทะ ให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำสังคายนา คือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ เพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นต่อไป
            2. พระสารีบุตร แนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น ค่ำวันหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคแสดงธรรมจบแล้ว ได้มอบหมายให้พระสารีบุตรแสดงธรรมต่อ พระสารีบุตรได้แนะนำให้รวบรวม ร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยจัดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 10 ว่ามีธรรมะใดบ้างอยู่ในหมวดนั้น ๆ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เห็นว่าบรรดาพระภิกษุทั้งหลายยังใคร่จะฟังธรรมต่อไปอีก พระองค์จึงได้มอบหมายให้พระสารีบุตร แสดงธรรมแทน พระสารีบุตรได้ แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 10 ว่ามีธรรมะใดบ้างอยู่หมวด 1 หมวด 2 จนถึงหมวด 10 ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงรับรองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
3. พระมหากัสสป เป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่
            4. พระอานนท์ เป็นผู้ที่ทรงจำพระพุทธวรนะไว้ได้มาก เป็นพุทธอุปฐาก ได้ขอพร หรือขอรับเงื่อนไขจาก พระพุทธเจ้า 8 ประการ ในเงื่อนไขประการที่ 7 และประการที่ 8 มีส่วนช่วยในการ สังคายนาพระธรรมวินัยมาก กล่าวคือ ประการที่ 7 ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น ประการที่ 8 ถ้าพระองค์แสดงข้อความอันใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จมาแล้ว จักตรัสบอกข้อความอันนั้น แก่ข้าพระองค์ ทั้งนี้โดยเฉพาะประการที่ 8 อันเป็นข้อสุดท้ายมีเหตุผลว่า ถ้ามีใครถามท่านในที่ลับหลัง พระพุทธเจ้าว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคแสดงที่ไหน ถ้าพระอานนท์ตอบไม่ได้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า พระอานนท์ตามเสด็จพระศาสดาไปดุจเงาตามตัว แม้เพียงเรื่องเท่านี้ก็ไม่รู้ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์จึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม ในคราวสังคายนาครั้งแรก หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือนในสมัยที่ยังไม่มีการจดจารึกเรื่องราวไว้ เป็นตัวอักษรอย่างกว้างขวางเช่นในปัจจุบัน มนุษย์จึงต้องอาศัยความจำเป็นเครื่องสำคัญ ในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้ แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำและบอกต่อ ๆ กันมาด้วยปากนี้ เรียกว่า มุขปาฐะ
5. พระอุบาลี เป็นผู้ที่สนใจและจดจำพระธรรมพระวินัยได้เป็นพิเศษ มีความเชี่ยวชาญใน พระวินัย ในการทำสังคายนาครั้งแรก พระอุบาลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับ พระวินัยปิฎก
                6. พระโสณกุฎิกัณณะ เป็นผู้ที่ทรงจำได้ดีมาก เคยท่องจำบางส่วนของ พระสุตตันตปิฎก เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมากรวมทั้งท่วงทำนองในการกล่าว ว่าไพเราะ สละสลวย แสดงให้เห็นถึง การท่องจำพระธรรมวินัย ได้มีมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้า 
นอกจากนี้ยังมียังมีตำราพุทธศาสนาที่แสดงคำสอนเป็นลำดับ ได้แก่ 
1.อรรถกถา เป็นตำราอธิบายพระไตรปิฎกซึ่งแต่งโดยอาจารย์ ในกาลต่อมา ที่เรียกว่า พระอรรถกถาจารย์ เป็นเนื้อความสอนชั้นที่ 2 รองจากพระไตรปิฎก
2.ฎีกา เป็นตำราอธิบายขยายความอรรถกถา ซึ่งแต่งโดยอาจารย์ที่เรียกว่า พระฎีกาจารย์ ถือเป็นตำราชั้นที่
3.อนุฎีกา เป็นตำราอธิบายขยายความดีกา หรือเรื่องเกร็ดย่อยเบ็ดเตล็ด ซึ่งเขียนโดยอาจารย์ที่เรียกว่า พระอนุฎีกาจารย์ เป็นตำราชั้นที่ นอกจากนั้นยัง


มีเพิ่มเข้าอีก 5 คัมภีร์ คือ
1. มธุ ได้แก่ คัมภีร์ปรับปรุงใหม่ให้มีรสหวานปานนำผึ้ง
2. กนิษฐคันถะ ได้แก่ คัมภีร์นิ้วก้อย ซึ่งเป็นฎีกาอรรถกถานิ้วก้อย
3. คัณฐิ ได้แก่ คัมภีร์ชี้เงื่อนหรือปมสำคัญ
4. คันถันตระ ได้แก่ คัมภีร์นอกสายพระไตรปิฎก 
5. โยชนา ได้แก่ คัมภีร์แสสสดงการสร้างประโยคและแปลความหมายของภาษาบาลี


หลักคำสอนสำคัญบางประการของพระพุทธศาสนา
โครงสร้างของพุทธศาสนา
ศาสนาพุทธประกอบด้วยโครงสร้างสำคัญ 3 ประการที่เรียกว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พระพุทธ คือ พระพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริงของสรรพสิ่งด้วยพระองค์เองและได้ทรงสั่งสอนชาวโลก ให้รู้แจ้งตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้มา
พระธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นสัจธรรมอำนวยผลประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติตามอย่างแท้จริง
พระสงฆ์ คือ พระสาวกผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนได้รับผลแห่งการปฏิบัติ แล้วนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแพร่ยังพุทธศาสนิกชน ถือเป็นผู้สืบทอดพระศาสนา


หลักคำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา
หลักคำสอนในพระพุทธศาสนามีมากมาย เช่น หลักทั่วไป หลักเกี่ยวกับการพึ่งตนเอง หลักการศึกษา หลักการปกครอง หลักสังคมสงเคราะห์ หลักเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ หลักจริยศาสตร์ หลักแห่งกรรม หลักอริยสัจ 4 และหลักอุดมคติสูงสุด เพื่อให้เหมาะสมกับระยะเวลา มีหลักสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ อริยสัจ 4 และขันธ์ 5 ไตรลักษณ์
อริยสัจ 4  แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงของท่านประเสริฐ หรือจะ แปลว่าความจริงที่ทำให้บุคคลประเสริฐได้
อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ 
ทุกข์ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความทุกข์ ทั้งกายและใจ 
สมุทัย หมายถึง เหตุแห่งการเกิดทุกข์ ซึ่งได้แก่ ตัณหา 3ประการคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวัฒหา 
นิโรธ หมายถึง การดับทุกข์ คือ การดับตัณหาทั้ง 3 ประการ อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ 
มรรค มีองค์ 8 นี้ จัดได้เป็น 3 หมวด คือ ศีล สมาธิ และปัญญา  
ไตรสิกขา ดังนี้ คือ
หมวดศีล คือ การเจรจาชอบ การประพฤติชอบ การเลี้ยงชีพชอบ
หมวดสมาธิ คือ ความเพียรชอบ การมีสติชอบ การตั้งใจชอบ 
หมวดปัญญา คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ
ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึง กฎแห่งธรรมชาติที่ตายตัว แน่นอนหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ แปลว่า ลักษณะสามัญทั่วไปของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งหรือขึ้นอยู่ กับเหตุปัจจัย ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติสำคัญ 3 ประการ คือ
1.             อนิจตา คือ ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย จิตใจ วัตถุหรือบุคคลทั่วไป ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงในคัมภีร์ของพุทธศาสนาได้กล่าวไว้มีใจความเกี่ยว กับความไม่เที่ยง คือ ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของโลกทั้งหลายทั้งปวง รวมทั้งเทวโลกด้วย ล้วนไม่เที่ยง
2.             ทุกขตา คือ ความเป็นทุกข์ ซึ่งความทุกข์ในไตรลักษณ์ หมายรวมถึง ความทุกข์ทุกรูปแบบทั้งทุกขเวทนาในขันธ์ 5 ทุกข์ในอริยสัจ 4
3.             อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน หมายถึง สิ่งทั้งหลาย ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ล้วนไม่มีตัวตน
ขันธ์ 5 มาจากคำว่า ปัญจขันธ์ หรือเบญจขันธ์ หมายถึง กายกับใจ แบ่งออกเป็น 5 กอง คือ
1.                            รูปขันธ์ คือ ร่างกาย ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ ดิน คือกระดูก น้ำ คือเลือด น้ำเหลือง ลม คือลมหายใจไฟ คือความร้อนในร่างกาย
2.                            เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกที่เกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 สัมผัสกับรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
3.                             สัญญาขันธ์ คือ ความจำได้หมายรู้
4.                            สังขารขันธ์ คือ ความคิด เป็นสิ่งปรุงแต่งจิตใจ ผลักดันให้มนุษย์ คิดดี - คิดชั่ว 
5.                            วิญญาณขันธ์ คือ ความรู้อารมณ์ คือ การรับรู้ผ่าน ประสาทสัมผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
คือ การเห็นการ การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัสทางกายและการคิด
ส่วนหลักคำสอนทั่วไป คือ :- เบญจศีลเบญจธรรม (หลักทำคนเต็มคน)     สัปปุริสธรรม (หลักการของคนดีแท้)       ทิศ ๖ หน้าที่เพื่ออยู่ร่วมกันด้วยดี    อริยมรรคมีองค์ ๘ 
ประเภทของพิธีกรรม 
พิธีกรรมทางศาสนาพุทธหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศาสนพิธีด้วยกัน เช่น พิธีการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พิธีรักษาศีลอุโบสถ ฯลฯ จำแนกเป็น 2 ประเภท
1. พิธีกรรมที่เป็นพุทธบัญญัติ เป็นพิธีการเกี่ยวกับวินัยสงฆ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ จะต้องปฏิบัติพิธีกรรมนั้น ๆ ให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้
2. พิธีกรรมที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น คือ พิธีกรรมที่พุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นต่าง ๆ กำหนดขึ้น โดยมีการผสมผสานขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นให้เข้ากับกิจกรรมทางพุทธศาสนา และได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี
หลักปฏิบัติทั่วไปเกี่ยวกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา  มีหลักการปฏิบัติ 4 ประการ คือ
- ความถูกต้อง ตามพุทธบัญญัติ
- คำนึงถึงความเหมาะสม 
- คำนึงถึงความประหยัด และภาวะทางเศรษฐกิจ
 - คำนึงประโยชน์ที่จะได้รับต้องคุ้มค่า

คุณประโยชน์ของพิธีกรรม มี 3 ประการ คือ
 - มีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้ศาสนามีความศักดิ์สิทธิ์
- ส่งเสริมความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคม
- ส่งเสริมและรักษาเอกลักษณ์ที่ดีงาม เป็นการสร้างสมวัฒนธรรมคงอยู่ต่อไป

พิธีบรรพชาอุปสมบท (พิธีบวช)
เป็นพิธีกรรมของชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวไทยนิยมปฏิบัติกัน การบวชเป็นคำรวมทั้งการบวชเณร (การบรรพชา) และการบวชพระ (การอุปสมบท)
การบรรพชา
คือ การบวชสามเณร ผู้บรรพชาต้องอายุไม่ต่ำกว่า 7 ปี ไม่เป็นโรคร้าย วิปริต หรือทุพพลภาพ ไม่เป็นโจรผู้ร้าย บิดามารดาต้องอนุญาต ภายหลังจากมีการปลงผมแล้ว นำเครื่องบริขารไปหาพระอุปัชฌาย์ แล้วกล่าวคำบรรพชาเป็นภาษาบาลี ปฏิญาณตนต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รับศีล 10
การอุปสมบท
คือ การบวชพระ ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น การบวชมี 3 วิธี คือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นการบวชที่พระพุทธเจ้าบวชให้โดยเปล่งวาจาว่า "จงเป็นภิกษุเถิด" ต่อจากนั้นก็ครองผ้าเหลืองประพฤติตนตามธรรมได้เลย ผู้อุปสมบท ต้องเป็นชายอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาต้องอนุญาต และต้องถือศีล 227 ข้อ
พิธีเข้าพรรษา 
คือ การจำวัดของพระสงฆ์ เป็นเวลา 3 เดือน ในฤดูฝน จะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ ถ้ามีความจำเป็นไปค้างแรมที่อื่น จะต้องกลับวัดภายใน 7 วัน ตามที่บัญญัติไว้ในพรวินัย
พิธีปวารณา
เป็นพิธีที่พระสงฆ์ปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ คือ พระภิกษุจำพรรษาจนครบ 3 เดือนแล้ว พระภิกษุต้องทำพิธีกล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน พิธีปวารณามี 3 วัน คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 (บัณณรสี) วันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 (จาตุททสี) และวันสามัคตี
พิธีทอดกฐิน
ความเป็นมา กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง หรือไม้แบบตัดเย็บจีวร เป็นผ้าที่นำมาถวายพระภิกษุสงฆ์ในพิธีทอดกฐิน เริ่มนับตั้งแต่ออกพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12
ลักษณะพระภิกษุสงฆ์ที่ควรได้รับผ้ากฐิน มีดังนี้
ต้องจำพรรษามาแล้ว 3 เดือน มีจีวรเก่ากว่าพระภิกษุรูปอื่น เรียนพระวินัยแตกฉาน คณะสงฆ์เห็นชอบให้เป็นพระภิกษุที่จะรับผ้ากฐินได้ พิธีในการทอดกฐินมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้ 
- ทำการจองวัดที่จะทอดกฐินตามความเหมาะสมกับกำลังผู้ทอด 
- ต้องทำการจองเมื่อเข้าพรรษาแล้ว 
- ประชาชนทั่วไปจะจองได้แต่วัดราษฎร์ทั่วไปเท่านั้น 
- ในวัดหนึ่งจะรับกฐินได้ครั้งเดียวใน 1 ปี 
- ต้องมีการประกาศจองกฐินให้พระในวัดรู้ทั่วกัน

พิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนา
1. พิธีมาฆบูชา จากพุทธประวัติ ได้มีเหตุการณ์ที่เป็นเหตุกำเนิดวันจาตุรงคสันนิบาต (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ให้เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4ป ในวันนั้นได้เกิดนิสิตอันน่าอัศจรรย์ถึง 4 ประการ คือมีพระอริยสงฆ์มาประชุมกันพร้อมโดยมิได้นัดหมายพระอริยสงฆ์ที่มาประชุมมีจำนวนถึง 1,250 รูป พระอริยสงฆ์ทั้ง 1,250 รูป ล้วนได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปาและทุกรูปเป็นพระอรหันต์   อรหันต์ วันนั้นตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่มีพระสงฆ์มาอยู่รวมกัน ณ ที่เดียวกันเป็นจำนวน 1,250 รูป พระองค์จึงได้แสดงธรรมแก่ที่ประชุมสงฆ์ ธรรมที่พระองค์แสดง คือ "โอวาทปาติโมกข์"ในประเทศไทยเริ่มขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของวันนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ณ วัด
พระศรีรัตน์ศาสดาราม
2. พิธีวิสาขบูชา ตามพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในวันเดียวกัน เดือนเดียวกัน คือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ถ้ามีเดือน 8 สองหน เลื่อนไปวันขึ้น 155 ค่ำเดือน 7) การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะในประเทศไทยตามหลักฐาน คือ ตำนานนางนพมาศมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้หายไปในสมัยอยุธยา จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเห็นความสำคัญ จึงมีพระราชกุศลพิเศษ พิธีวิสาขบูชากลับมาอีกเมื่อ พ.ศ. 2350
 3. พิธีอาสาฬหบูชา หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปมฤคทายวัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของปัญจวัคคีย์ และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "ปฐมเทศนา" พระธรรมจักกัปปวัฒนสูตร ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปเดือน 8 หลัง) ปัญจวัคคีย์ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วได้เห็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ได้ทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็น
พระภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ สำหรับพิธีอาสาฬหบูชาในประเทศไทย คณะสงฆ์ได้มีประกาศให้ถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ได้เริ่มครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2501 (วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2501)
จุดหมายปลายทางสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ศาสนาพุทธมีจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิตอันเป็นความสงบสุขอย่างนิรันดรและ อย่างแท้จริงคือ  พระนิพพาน  ซึ่งได้แก่  ความดับอย่างสนิทซึ่งความทุกข์  ความเดือดร้อนโดยดับกิเลส  อันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ความเดือดร้อน วิธีที่จะบรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิตได้นั้น ชาวพุทธจะต้องปฏิบัติตามอริยมรรค มีองค์ 8 โดยเคร่งครัดและถูกต้อง.
นิกายสำคัญของพระพุทธศาสนา
ศาสนาพุทธมีนิกายที่สำคัญอยู่ 2 นิกาย อันเกิดจากการสังคายนาครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้มีการถือพระวินัยแตกต่างกัน คือ
1.นิกายเถรวาท ได้แก่ นิกายที่ทางคณะคณะสงฆ์อันมีพระยศกาลัณบุตรถือตามแนวพระพุทธบัญญัติ ดังที่พระเถระทั้งมีพระมหากัสสปะเป็นประธานได้ทำสังคายนาไว้ พระสงฆ์คณะนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พวก "สถวีระ" หรือในกาลต่อมาถูฏพวกนิกายมหายานเรียกว่า "หีนยาน" ซึ่งแปลว่า ยานเลว ยานเล็กยานคับแคบ ไม่สามารถขนสัตว์โลกไปสู่ความพ้นทุกข์มากได้ เพราะมีวัตรอันเข้มงวดกวดขัน ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุจุดหมายปลายทางได้ยาก แต่ในการประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งแรกที่ลังกา เมื่อ พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกใช้คำว่า "หีนยาน" และให้กลับใช้คำว่า "เถรวาท" แทนเพราะเห็นว่า คำว่า "หีนยาน" เกิดขึ้นเพราะการแก่งแย่งแข่งขันในอดีต นิกายเถรวาทนี้ตั้งมั่นอยู่ในประเทศลังกา พม่า ไทย ลาว และกัมพชา
2.นิกายอาจริยวาท ได้แก่ นิกายที่พระภิกษุชาววัชชีบุตรถือตามที่อาจารย์ของตนได้แก้ไขขึ้นในภายหลัง พระสงฆ์คณะนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "มหาสังฆฺกะ" และในเวลาต่อมาเรียกตัวเองว่า "มหายาน" ซึ่งแปลว่าว่า ยานใหญ่โตสามารถบรรทุกสัตว์โลกไปสู่ความพ้นทุกข์ได้มาก เพราะการแก้ไขวัตรปฏิบัติให้อำนวยความสะดวกสบายยิ่งขึ้น จะช่วยสามารถนำสัตว์ความพ้นทุกข์ได้จำนวนมาก นิกายมหายานนี้แพร่หลายในประเทศทิเบต จีน มองโกเลีย เกาหลี เวียตนาม สิกขิม และภูฏาน
ทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานโดยหลักการใหญ่ก็ลงรอยกัน แม้ว่านิกายมหายานจะมีลัทธินิกายแยกย่อยออกไปอีกมาก มีพระสูตรและพระคัมภีร์ศาสนาเพิ่มขึ้นระยะหลังอีกเป็นอันมากก็ตาม ต่อไปนี้เป็นข้อแตกต่างในบางประเดน

นิกายเถรวาท
นิกายมหายาน
1.  ถือเรื่องอริยสัจเป็นสำคัญ
1.  ถือเรื่องบารมีเป็นสำคัญ

1. ถือคุณภาพของศาสนิกชนเป็นสำคัญ
2. ถือปริมาณเป็นสำคัญก่อน แล้วจึงค่อยปรับปรุงคุณภาพ ในภายหลัง ดังนั้นจึงต้องลดหย่อนการปฏิบัติพระวินัยบางข้อ ลงเข้าหาบุคคลและ เพิ่มเทวดา และพิธีกรรมสังคีตกรรม เพื่อจูงใจคน ได้อธิบายพุทธมติ อย่างกว้างขวางเกินประมาณ เพื่อการเผยแพร่จนทำให้พระพุทธพจน์ ซึ่งเป็นสัจนิยมกลายเป็นปรัชญา และตรรกวิทยาไป

3. มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว คือ พระสมณโคดม หรือพระศากยมุนี
3. มีพระพุทธเจ้าหลายองค์ องค์เดิมคือ อาทิพุทธ (กายสีน้ำเงิน) เมื่อท่านบำเพ็ญญาณ เมื่อท่านบำเพ็ญฌาณก็เกิดพระฌานิพุทธอีกมาก เป็นต้นว่า พระไวโรจนพุทธะ อักโขภัยพุทธะ รัตนสมภพพุทธะ ไภสัชชคุรุ โอฆสิทธิ และอมิตาภา เฉพาะองค์นี้มีที่มาในร่างคนเป็น (มานุษีพุทธะ) คือ พระศากยมุนี

4. มีความพ้นจากิเลส ชาติภพ เป็นอัตดัตถจริยแล้วบำเพ็ญ ประโยชน์แก่ผู้อื่นเป็นโลกัตถจริยเป็นความมุ่งหมายสำคัญ
4. มีความเป็นพระโพธิสัตว์ หรือพุทธภูมิ เพื่อบำเพ็ญโลกัตจริยา ได้เต็มที่ เป็นความมุ่งหมายของพระโพธิสัตว์ หลายองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวร มัญชุลี วัชรปาณี กษิติครร๓ สมันตภัทร อริยเมตไตร เป็นต้น

5. มีบารมี 10 ประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขาอันให้ถงความ เป็นพระพุทธเจ้า
5. มีบารมี 6 ประการ คือ ทาน ศีล วินัย ขันติ ฌาน ปัญญาอันให้ถึง ความสำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์ และเป็นปฏิปทาของพระโพธิสัตว์











สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา
เนื่องจากคำสอนของพระพุทธศาสนาได้เน้นหลักที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาจึงต้องเป็นสิ่งที่สื่อความหมายถึงอริยมรรคมีองค์ 8 นั้นได้ ที่ใช้กันมากและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ รูปธรรมจักร อันหมายถึง วงล้อ คือ พระธรรม ที่หมุนไปยังที่ต่าง ๆ เหมือนธรรมะที่นำไปสอนในที่ต่าง ๆ แล้วยังความสันติสุขให้เกิดขึ้นในที่นั้น ๆ ในธรรมจักรนั้น ประกอบด้วยซี่ล้อ 8 ซึ่ง แต่ละซี่มีความหมายถึงองค์ของอริยมรรคแต่ละองค์ วงล้อที่จะหมุนเวียนและกระแทกกระทั้นกับพื้นนั้นหมายถึง ทุกข์และสมุทัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเกิดมาแล้วจะต้องประสบ ดุมที่เป็นศูนย์กลางและสงบนิ่งไม่หมุน หมายถึง จุดหมายสูงสุด คือ นิโรธหรือนิพพาน
 ในพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาก็จะมีการประดับธงธรรมจักรตามสถานสำคัญต่าง ๆ ส่วนในประเทศลังกาใช้สัญลักษณ์ คือ ธงฉัพพรรณรังสี คำว่า "ฉัพพรรณรังสี" แปลว่ารัสมี 6 สี ซึ่งกล่าวกันว่าแผ่ออกจากพระกายของพระพุทธเจ้า คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีแสด และสีเหลื่อมประภัสสร (คือ สีทั้ง 5 ข้างต้นรวมกันเหลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก) ในธงเมื่อถึงช่วงแบ่งของสีที่ 6 ก็จะนำเอาสีทั้ง 5 สีข้างต้นมาเรียงแบ่งกันให้ได้รวมทั้ง 5 สี เป็นสีที่ 6 "ฉัพพรรณรังสี" หรือ "รัสมี 6 สี" นั้น ย่อมแสดงถึงความที่พระพุทธศาสนิกชนยกย่อง
พระพุทธเจ้าบรมศาสดาว่า "เป็นผู้ประทานความสว่างในทิศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเสด็จไปในที่ไหนก็ทำปัญญาจักษุดวงตา คือ ปัญญาของมหาชนในที่นั้น ๆ ให้เกิดให้สว่างไหว ไม่มืดมนหลงผิดเพราะตกเป็นทาสของอวิชชา ตัณหา และ อุปาทาน
Professor Carl Gustav Jung
     "Buddha is the more complete human being. He is a historical personality and therefore easier for men to understand. Christ is at once a historical man and god, and therefore more difficult to comprehend."
     “พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มาก. พระองค์เป็นบุคคลที่มีตัวจริงทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้น จึงเป็นการง่ายที่คนทั้งหลายจะเข้าใจ. พระคริสต์เป็นบุคคลที่มีตัวจริงทางประวัติศาสตร์ และเป็นเทวดาในขณะเดียวกัน ฉะนั้น จึงยากมากที่จะเข้าใจได้
ศาสตราจารย์คาร์ล กุสตาฟ จุง (๑๘๗๕-๑๙๖๑) นักจิตวิทยา ชาวสวิส

บรรณานุกรม
http://www.snr.ac.th/sakyaputto/bu_feature.htm: (เข้าถึง 11/1/2554 )
(เข้าถึง 11/1/2554 )
http://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสนาพุทธ (เข้าถึง 11/1/2554 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

OK