20.11.54

วิธีดับทุกข์

วิธีดับทุกข์ เพราะ...บุญ

          เมื่อเห็นหัวเรื่องนี้ หลายท่านคงจะเกิดความสงสัยขึ้นมาตะหงิด ๆ ละสิว่า มีด้วยหรือทุกข์เพราะบุญ ? ขอตอบว่า มี และมีอยู่ทั่วไปเสียด้วย
          เอ๊ะ ....ก็ไหนว่าบุญเป็นชื่อของความดี หรือความสุข ไฉนการทำบุญจึงต้องมีความทุกข์ด้วบเล่า ? เอ...ชักจะเขียนเลอะเทอะเสียแล้ว กระมัง ? ไม่หรอก ! ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เกิดจาการ เราทำไม่ถูกบุญ และไม่ถึงบุญด้วยมันจึงเกิดความทุกข์ขึ้น เช่น
          - อยากสร้างพระพุทธรูป สร้างศาลา สร้างกุฏิ สร้างพระไตรปิฎก สร้าง..แต่ท่านสมภารไม่ต้องการ จะเป็นเพราะมีมากแล้วหรือเหตุใดก็ตาม
          - อยากไปทำบุญวัดนี้ แต่ไม่ชอบหน้าท่านสมภาร หรือพระลูกวัดบางรูป จะไปทำวัดอื่นก็ไม่มี หรือมีแต่อยู่ไกล
          - อยากให้วัดข้างบ้านมีการศึกษาและปฏิบัติธรรมและนำมาสอนชาวบ้านบ้าง แต่ก็ไม่มีตามต้องการ
          - อยากให้พระท่านต่อชะตา ต่ออายุ เป่าหัวให้โชกดี ผูกดวงให้ท่านก็ไม่ทำให้
          - อยากไปวัด แต่ก็เบื่อการรีดไถ การก่อสร้าง หรือการเรี่ยไรบอกบุญทั้งปีของวัด
          - อยากทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็ทำไม่ได้ เพราะยากจน ต้องไปทำงานทุกวัน อยาก ฯลฯ
          ความอยากอะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้สนองความอยาก มันก็เป็นความทุกข์ชนิดหนึ่ง ท่าน พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ ท่านว่าเป็น "ความทุกข์ของนักบุญ" คือทุกข์เพราะอยากทำดี แล้วไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้
          ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เกิดจากความไม่เข้าใจ ในเรื่องของการทำบุญนั่นเอง ถ้ารู้จัก "ตัวบุญ" อย่างถูกต้องและแท้จริงแล้ว การทำบุญก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายดายยิ่งกว่าการพลิกฝ่ามือคว่ำหรือหงาย ไม่ต้องใช้เงินและใช้เวลา หรือแรงงานเสียด้วยสิ
ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร (๒๒/๒๑๕) พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องการทำบุญไว้ ๓ ประการคือ
          ๑. บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยทาน
          ๒. บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยศีล
          ๓. บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยภาวนา
ส่วนในอรรถกถา ท่านได้ขยาออกไปอีก ๗ ประการ คือ
          ๔. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการ ประพฤติอ่อนน้อม)
          ๕. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการ ขวนขวายรับใช้)
          ๖. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการ ให้ความดีแก่ผู้อื่น)
          ๗. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการ ยินดีบุญของผู้อื่น)
          ๘. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการ ฟัง-อ่านธรรมะ)
          ๙. ธัมมัสเทสนามัย (ทำบุญด้วยการ สั่งสอนธรรมะ)
          ๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการ ทำความเห็นให้ตรง)
หลักการทำความดีในพุทธศาสนา ทั้งหมดมีอยู่ ๓ พวกใหญ่ๆ คือทาน ศีล และภาวะนา แม้จะขยายออกไปอีก ๗ ข้อ ก็ไม่มีทาน คือ ไม่ต้องใช้วัตถุสิ่งของหรือเงินเลย
          ผู้ที่อยากทำโน่นทำนี่ แล้วไม่ได้ทำนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของทาน ถ้าเป้นการทำบุญด้วยศีล ด้วยภาวนาและต่อไปอีก ๗ ข้อแล้ว ก็เกือบไม่ต้องใช้เงินเลย เช่น
          การรักษาศีล ทำที่ไหนก็ได้ ทำวันไหนก็ได้ รักษาศีล ๘ ไม่ได้ ก็เอาแต่ศีล ๕ ไปก่อน ก็ดีมากแล้วสำหรับชาวบ้าน ไปรับกับพระที่วัดไม่ได้ ก็ตั้งใจเจตนางดเว้นเอาเอง หรือรับทางวิทยุอยุ่กับบ้านก็ได้
          - การเจริญภาวนา ด้วยการทำสมาธิ- วิปัสสนา ศึกษาวิธีการและความหมายให้เข้าใจ แล้วจะทำที่ไหนก็ได้ จะนั่งทำ เดินทำยืนทำหรือนอนทำ
          - อีก ๗ ข้อต่อไป ไม่ไปวัดไม่ต้องหยุดงานก็ทำได้ ไม่มีอะไรขัดข้อง ถ้าเราตั้งในจริงที่จะทำ
          ชาวพุทธส่วนมากมักจะติดอยู่แต่ทานเห็นคนอื่นเขาทำกันโครม ๆ ก็อยากจะทำตามเขาบ้าง แต่วัตถุมันไม่อำนวยก็เลยมีความทุกข์ใจ น้อยใจในวาสนาของตน
          การทำบุญหรือทำความดี ในทางพุทธศาสนานั้น จะต้องไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน จึงจะถือว่าเป็นบุญด้วยการรักษาศีล และเจริญภาวนาก็ได้ แถมเป็นบุญที่สูงกว่า และประเสริฐกว่า ชนิดเทียบกันไม่ได้เลยเพราะสามารถตัดเวรภัย ทำให้หมดภพชาติ และดับทุกข์สิ้นเชิงได้ด้วย
          ดังนั้น ชาวพุทธที่ดี จึงไม่ควรที่จะติดอยู่ในขั้นใดขั้นหนึ่ง ไม่ว่า ใน ๓ ขั้นหรืออีก ๗ ขั้นก็ตาม การอ้างว่าไม่มีเงินไม่มีเวลา แล้วไม่ไปทำบุญ เป็นการอ้างของคนปัญญานิ่ม ไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง หรืออย่างถูกต้อง
           แต่ว่าก็ว่าเถอะ คนที่ชอบอ้างที่ว่านี้ส่วนมากก็เป็นคนไม่ชอบไปวัดไปว่า ไม่สนใจธรรมะธัมโมอยู่แล้ว แต่ยังเกรงคนอื่นเขาจะไม่มีศาสนาก็เลยยกเอางานและเงิน มาเป็นกำแพงกั้นแบบ "ขายผ้าเอาหน้ารอด"ไว้ก่อน
ทางแก้
          ๑. หลักใหญ่ของคำสอนทางพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ขั้น คือ ทาน ศีล ภาวนา ควรทำให้ครบทั้ง ๓ ขั้น ถ้าขั้นไหนทำไม่ได้ทำไม่สะดวกก็ควรจะเลื่อนไปทำในขั้นต่อไป ไม่ควรย่ำเท้าอยู่กับที่ เพราะจะไม่ได้พบสิ่งสูงสุดในพุทธศาสนา
          ๒. พุทธศาสนาให้อิสระเสรีในการทำความดี ไม่มีขีดขั้น พอใจทำก็จงทำ ไม่พอใจหรือไม่นับถือ ก็ไม่ต้องทำ ไม่ตอ้งนับถืออย่าเอาข้ออ้างมาเป็นฉาก
          ๓. การทำความดีหรอืทำบุญ ควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่าเห็นแก่หน้าหรือค่านิยม จะได้บุญแรง
          ๔. ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ทำงาน ถ้ารู้จักตัวบุญแล้ว จะทำบุญได้ทุกที่ทุกเวลา
          ๕. บุญยอดบุญ คือ การทำให้จิตใจสงมและเย็น ด้วยการเจริญสติสมาธิและวิปัสสนา
วิธีดับทุกข์ เพราะ...กลัวตาย

          ตาย คือ การหมดลมหายใจ ร่างกายกับจิตใจ หรือรูปกับนางแยกออกจากกัน ที่เรียกว่า "ศพ" หรือ "ผี" ซึ่งสิ่งที่มีชีวิต เมื่อมีการเกิดแล้วก็มีการตายเสมอกันหมด ไม่มีการยกเว้น ต่างแต่ว่าเร็วหรือช้ากว่ากันเท่านั้น
กลัวตาย เป็นธรรมดาของปุถุชน ที่หนาด้วยกิเลสและตัณหาที่ปรารถนาความสุขเกลียดความทุกข์ จึงต้องกลัวตายเพราะการตายหมายถึงความสูญสิ้นแล้วทุกสิ่ง แม้แต่ร่างกาย ของตนเอง ก็ต้องสูญสลาย
แม้ว่าใครจะกลัวตายหรือไม่กลัว ทั้งคนและสัตว์ที่เกิดมาแล้วก็ต้องตายเหมือนกันหมด
คนที่ไม่กลัวความตาย มีอยู่ ๓ พวก คือ พระอรหันต์ ผู้ไม่ประมาท และผู้มีกิเลสหนาตัณหาจัด
     พระอรหันต์
 เป็นผู้หมดกิเลสแล้ว ความกลัวตายจึงไม่มีแก่ท่าน 
     ผู้ไม่ประมาท
 เป็นผู้ที่เตรียมตัวเตรียมใจไว้พร้อมแล้ว ทำความดีไว้พร้อมแล้ว มั่นใจในตัวเองว่า ได้ทำที่พึ่งไว้ดีแล้ว ถ้ามีการเกิดอีก ก็เชื่อว่าต้องเกิดในที่ดีแน่ ๆ
     ผู้มีกิเลสหนาตัณหาจัด
 เช่น โลภจัดกำหนัดกล้า โทสะกำลังแรง หลงจัด คนที่ตกอยู่ในสภาพนี้ จะเกิดอาการ "บ้าบิ่น" หรือ "บ้าระห่ำ" ก็ไม่กลัวตาย แต่เมื่อกิเสสตัณหาลดลง ก็กลัวตายเช่นกัน
การกลัวตาย เป็นสิ่งที่ดี ทำให้เกิดการแสวงหาที่พึ่งที่ดีกว่าประเสริฐกว่า พึงดูเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ทรงกลัวความตายเหมือนกัน แต่เป็นการกลัวที่ถูก
การกลัวตายที่ไม่ถูก คือ เมื่อรู้ว่าจะต้องตาย ก็รีบหาความสุขทางเนื้อหนังด้วยการเบียดเบียน และคดโกงผู้อื่น ถือว่าตายแล้วก็เลิกกัน ตามหลักพุทธศาสนา หาได้ถือว่าตายแล้วเลิกกันไม่ ถ้าตราบใดที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ตาย แล้วก็ต้องเกิดอีกอยู่ร่าไป
ถ้าทำความชั่วไว้ ความชั่วก็ต้องสนอง ทำความดีไว้ ความดีก็ต้องสนอง ไม่มีใครจะหลบหลีกพ้น
การได้เกิดมาเป็นคน และมีอวัยวะสมบูรณ์ เป็นผลจากความดีควรจะทำความดีต่อเอาไว้ ชาติต่อไปก็จะได้เกิด ในกำเนิดที่ดียิ่งขึ้นไป
ถ้าทำความชั่ว ก็ต้องไปเกิดในกำเนิดที่ต่ำ เช่น สัตว์ เปรตนรกเป็นต้น หรืออาจมาเกิดเป็นคน (เพราะเศษบุญ)ก็จะพิการ บ้า ใบ้ ปัญญาอ่อน เป็นต้น
เขียนมาถึงตอนนี้แล้ว บางคนอาจยังมีการกลัวตายอยู่อีก ก็เห็นจะต้องตั้งต้น "ทำใจ" ปรับความคิดกันใหม่
เราคิดดูด้วยใจเป็นกลาง เราจะกลัวหรือไม่กลัว เราก็ต้องตายหมดทุกคน ไม่ว่าคนดีหรือชั่ว รวยหรือจน ตระกูลสูงหรือต่ำ ล้วนต้องตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
ตายแล้ว อะไร ๆ ในโลกนี้ ที่เคยยึดเคยหวงทุกสิ่ง มันก็อยู่ของมันในโลกนี้ ไม่มีมีใครเอาไปได้ นอกจากความดีและความชั่วเท่านั้นที่ต้องติดตามเราไปทุกหนทุกแห่ง เราจะเอาหรือไม่เอา มันก็ต้องตามเราไป สนองดุจเงา
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงไม่ควรประมาท รีบสะสมและกอบโกยเอาแต่ความดี หลีกหนีความชั่วมีผลเป็นความทุกข์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การระลึกถึงความตาย จึงมีประโยชน์ ที่ช่วยเหนึ่ยวรั้งไม่ให้คนเราถลำทำชั่ว และกลัวตัวทำความดี เพื่อจะได้พบกับความสุขที่แท้จริงคือสุขที่ไม่เบียดเบียน ทั้งตนเองและผู้อื่น
พระพุทธองค์จึงทรงให้ทุกคน หมั่นระลึกถึงความตาย มิใช่จะช่วยแช่งให้ตาย มิใช่จะช่วยแช่งให้ตายเร็ว ๆ หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะคนเราจะตาย มิใช่จะช่วยแช่งให้ตายเร็ว ๆ หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะคนเราจะตายช้าหรือเร็ว มิได้เกิดจาการแช่งหรือคำให้พรของใครแต่ขึ้นอยู่กับกรรม คือ การกระทำของตนเองทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นเครื่องบ่งชี้ยุติธรรมยิ่ง
เมื่อพูดถึงความตาย คนที่ใจห่างธรรมะและกายห่างวัดก็มักจะไม่อยากได้ยิน ถ้าห้ามได้ก็จะห้ามพูด หนีได้ก็จะหนีไปเลย เพราะยังไม่อยากตาย เมื่อยังไม่อยากตาย ก็พลอยไม่อยากได้ยินเรื่องตาย ๆ ไปด้วย
ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องทีแปลกประหลาด หรือมหัศจรรย์ อะไรหรอกขึ้นชื่อว่าปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสตัณหา มันก็กลัวตายด้วยกันทุกคน แม่แต่ผู้เขียนเองก็เคยกลัว และกลัวเอามาก ๆ เสียด้วย
ก็เพราะเหตุที่กลัวนี่แหละ จึงต้องรีบตั้งหน้าทำแต่ความดี กลัวว่าชาติหน้ามันจะไปเกิดเลวกว่านี้ จะรอเอาไว้ให้แก่หง่อมมาก ๆ ก่อนแล้วค่อยมาบวชมาปฏิบัติ ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันที่ให้ความมั่นใจได้ว่ามันจะไม่เท่งทึง ไปเสียก่อนแก่
เพราะเจ้าความตายนี่ มันไม่มีใครเรียงคิวตายเสียด้วย มันอาจจะตายพรุ่งนี้ วันนี้ เดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีมครบอกได้ จึงคิดว่าเพื่อความไม่ประมาทรีบบวชมาปฏิบัติ ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันที่ให้ความมั่นใจได้ว่ามันจะไม่เท่งทึงไปเสียก่อนแก่
เพราะเจ้าความตายนี่ มันไม่มีใครเรียงคิวตายเสียด้วย มันอาจจะตายพรุ่งนี้ วันนี้ เดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีใครบอกได้ จึงคิดว่าเพื่อความไม่ประมาทรีบบวชทำความดีอะไร ๆ ไว้ก่อนดีกว่า ถ้ามันเกิดลัดคิวตาย เราก็พร้อมที่จะไป เพราะมีทุนอยู่บ้างแล้ว
ถ้ามันเกิดเรียงคิวตาย คือตายเมื่อแก่มาก ๆ หรือตายตามอายุขัยเราก็ถือว่าได้กำไร เพราะได้ทำความดีไว้มากแล้ว คิดและทำอย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก แต่ผลที่ได้และเห็นกันชัด ๆ ก็คือ ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีเผลอสติก็ไม่กลัวตาย บางครั้งแถมอยากให้ตายเร็ว ๆ เสียด้วย
ทั้งนี้ด้วยพิจารณาเห็น โดยปราศจากความสงสัยใด ๆ ว่า เพราะมีร่างกายนี่แหละ ทุกข์ โทษ ภัย โรคสารพัดจึงเกิดมี ถ้าไม่เกิดเสียอย่างเดียว ปัญหาทั้งหลายก็สิ้นสุด
จากการที่ได้เจริญมรณัสสติ ตามหลักมรณัสสติสูตร (๒๒/๓๑๕) มาเป็นเวลา ๖ ปี จึงได้พบภาวะเช่นนี้ และยังทำให้โรคเส้นประสาทหายไปได้อย่างเด็ดขาดด้วย (ท่านที่สนใจจะอ่านมรณัสสติสูตร เชิญอ่านได้จากหนักสือ "พระไตรปิฎก ฉบับปฎิบัติ" โดย ธรรมรักษา)
เอาเป็นว่า ผู้ที่เจริญมรณัสสติให้ถูกต้องและติดต่อกัน เพียงระยะไม่นานนัก (แล้วแต่บารมี) ก็จะเกิดการไม่กลัวตายและมีกำลังใจในการทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป และทำได้ดีเสียด้วย เพราะทำแล้วไม่เอาความดีคือไม่มีตัวตนเข้าไปหุ้น มีแต่สติคอยเตือนอยู่เสมอ ๆ ว่า "ใกล้จะตายแล้ว ๆ ๆ"
โบราณ "เสือดุ ให้เข้าใกล้เสือ" แล้วมันจะหายกลัวเสือไปเองได้ฟังมาแต่เล็ก ๆ ก็ไม่เชื่อ มีอย่างที่ไหนกัน เสือดุน่าจะให้อยู่ห่างๆ มันกลับไปสอนให้เข้าใกล้มัน ?
เมื่อมาเจริญมรณัสสติเข้ากลับเห็นจริง โดยปราศจากข้อกังขาใด ๆ ทั้งสิ้น นี่แหละเขาว่า "โง่แล้วอยากอวดฉลาด" แต่ก่อนเคยกลัว แม้แต่ภาพถ่ายของคนตายก็ไม่อยากเห็น ไม่อยากดู ไม่อยากแม้แต่จะเก็บเอาไว้
แต่เดี๋ยวนี้ กลับตรงกันข้าม อยากเห็นอยากดู ยิ่งศพสด ๆ หรือเปื่อยเน่า ก็ยิ่งอยากดูมากขึ้น ตอนก่อนดูรู้สึกว่าตัวมันหนัก คือมันหนาแน่นไปด้วยด้วยกิเลสตัณหานานาชนิด หลังจากดูแล้วเที่ยวกลับตัวเบาหวิวอย่างไรชอบกล ราคะ โลภะ โทสะ และโมหะ ไม่รู้ว่ามันหายหัวไปไหนกันหมด แปลกประหลาดจริ ๆ
เมื่อมาอยู่ถ้ำสติใหม่ ๆ ได้ไปขอคุณหมอประเวศ วะสี ดูศพที่โรงพยาบารศิริราช คุณหมอได้เอื้อเฟื้อให้ดูหลายแห่ง ภาพศพเหล่านั้นยังประทับติดตาไม่จางเลยจนทุกวันนี้ เมื่อเกิดราคะตัณหารบกวนจิตเมื่อไหร่ ก็น้อมใจเตือนสติ เอาภาพศพเหล่านั้นมาพิจารณา กิเลสตัณหาก็หนีหายไปอย่างรวดเร็ว ขอขอบคุณและขอจารึกพระคุณของนายแพทย์ประเวศ วะสี ไว้ในที่นี้ด้วย
รายละเอียดเห้นจะนำเอามาพูดกันหมดไม่ได้ เพราะจะทำให้หนังสือหนาเกินไป เอาเป็นว่า ท่านที่สนใจอยากเจริญมรณัสสติ แต่ยังมีความกลัวตายอยู่ ขอให้ดูรูปภาพไปก่อน เมื่อเคยชินแล้วควรจะดูศพสด ๆ ที่ตายวันหนึ่งเรื่อยไป จนถึงเน่าเฟะ
ถ้ายังมีความกลัวอยู่ก็ดูเฉพาะกลางวัน และนาน ๆ ดูหนหนึ่งพอความกลัวลดลงก็ดูให้มากขึ้นจนติดตา และน้อมเอาภาพนั้น ๆ มาเทียบตัวเอง ดูตัวเอง ดูให้บ่อย ๆ จนเห็นชัด จนเกิดใจหายและสลดจิตแสดงว่ามีภูมิมรณัสสติค้มกันแล้ว
ขั้นต่อไป ไม่ต้องดูภาพบ่อย ๆ ก็ได้ข้อสำคัญเมื่อระลึกถึงศพจะต้องเห็นชัดเจน ถ้าเป็นภาพศพผ่าท้อง ก็ต้องเห็นตับไตไส้พุงชิ้นส่วนในท้องอย่างชัดเจนจึงจะได้ผล
เมื่อถึงขั้นนี้ความกลัวตายจะหายไปหมดสิ้น ยกเว้นแต่เผลอสติเมื่อไหร่ ความกลัวตายก็จะแทรกเข้ามาได้ สติจึงเป็นด่านหน้าที่จำเป็นต้องฝึกไว้ให้รวดเร็ว มิฉะนั้น ปิยรูปและสาตรูป มันจะดึงเอาไปกินเสียก่อน
การปฏิบัติที่ถือว่าได้ผลนั้น เมื่อมีสติเห็นหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่น่ารัก สามารถมองเห็นทุลุปรุโปร่ง เข้าถึงภายในหมดมีแต่สิ่งปฏิกูล อสุภะเห็นทุกชีวิตมีความเป็นทุกข์แท้ แปรผัน เน่าเหม็น และแตกดับ อยู่ตลอดเวลา
พร้อมกันนั้นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอันตตา ก็ปรากฏผสมกลมกลืน เป้นอันเดียวกันด้วย รับรองว่าราคะ ดลภะ โทสะ หายไปสิ้น (ในขณะนั้น)
ผู้ที่มีราคะจริต ขอเชิญให้ปฏบัติเถิด ได้รับผลแน่ไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับความเพียร บารมี หรือการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง เป็นสำคัญ
ทางแก้
     ๑. อย่าประมาท รับทำความดีไว้ให้มาก ๆ จะเกิดความ "อุ่นใจ" จะไปเมื่อไหร่ก็ได้ พร้อมแล้วและพร้อมอยู่เสมอ
     ๒. หัด "ตายเทียม" คือ เมื่อเห็นคนอื่นตาย ก็ให้น้อมเข้ามาเทียบกับตนเอง ถ้าตนเองเป็นเช่นนั้น จะรู้สึกอย่างไร ? ทุกครั้งที่ไปเผาศพหรือเห็นศพ ให้ทำอุปมาเป็นศพเรา ให้เกิดความเคยชิน ความกลัวตายจะน้อยลง จนถึงอยากตาย
     ๓. พูดถึงความตายบ่อย ๆ ทำพินัยกรรมเตรียมไว้ บอกลาตายเตรียมไว้บังสุสุลตายเตรียมไว้ ทำบุญอุทิศให้ตนเองไว้ก่อน บางคนถึงกับต่อโลงเตรียมไว้ก่อน..
     ๔. เลิกความเชื่อถือผิด ๆ ที่ว่า เมื่อพูดถึงความตายบ่อย ๆ แล้วจะเป็นลางให้ตายเร็ว ไม่เป็นความจริงเด็ดขาด เพราะผู้เขียนได้ทดลองมาแล้วทุกวิธี เช่น นิมนต์พระ ๔ องค์มาฉัน ลาตายกับญาติๆ และคนที่คุ้นเคยกัน บังสุกุลตาย ทำบุญอุทิศให้ตนเอง พิมพ์หนังสืองานศพให้ตนเองอัดเสียงลาตาย ทำมากว่าสิบปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นตายเลย ตรงข้ามกลับทำให้จิตใจสบายยิ่งขึ้น เพราะมองเห็นอะไร ๆ มันก็ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นไปหมด จิตก็เลยว่าง โปร่ง และสงบ
     ๕. เจริญมรณัสสติ เป็นวิธีดีที่สุด คือ มีสติระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทำให้ติดต่อ อุปมาเหมือนไฟไหม้อยู่บนศีรษะ
ถ้าทำถูกวิธีแล้ว โลภะ ราคะ โทสะ โมหะ หรือตัณหา มานะ ทิฐิและอุปาทาน มันจะเบาบาง เหมือนกับหมดไปหรือไม่มีเป็นบางครั้ง เป็นเรื่องแปลกแต่จริง จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่ไม่เคยทำ ได้ลองทำดู ท่านอาจจะพบความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน

ชีวิตมีความตายในที่สุด
(มรณนฺตํ หิ ชีวิตํ)
มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ
 
สามีภรรยาเยี่ยงป่านปอ
 
สามสิ่งใครเว้นได้
พันคอ
หน่วงไว้
รังรัด มือนา
จึงพันสงสาร

ร้อนใจ
สุขใจ
เย็นใจ
สวรรค์อยู่ในอก
นิพพานนั้นไซร้
ไปนรก
ไปสวรรค์
ไปนิพพาน
นรกอยู่ในใจ
อยู่ที่ใจปล่อยวาง
 วิธีดับทุกข์ เพราะ...จน

         สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกฬิยะชื่อว่ากักกรปัตตะ ในครั้งนั้น มีชายคนหนึ่งชื่อทีฆชาณุ หรืออีกนามหนึ่งว่า พยัคฆปัชชะ ได้เข้าไปเฝ้า แล้วกราบทูลว่า
          "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ ยังบริโภคกามอยู่ครองเรือน ยังยินดีทองและเงินอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรม ที่เหมาะแก่ข้าพระองค์อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปีปัจจุบันเพื่อประโยชน์และความสุขในภายหน้าเถิด พระเจ้าข้า"
          พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า
          "พยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ และเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร คือ ๑. อุฏฐานสัมปทา ๒.อารักขสัมปทา ๓.กัลยาณมิตตตา ๔. สมชีวิตา.."
          ลายแทง ๔ ข้อนี้ จัดว่าเป็น
 "หัวใจเศรษฐี" ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่ทีฆชาณุ ที่เราเอามาย่อว่า อุ อา กะ สะ มีคำอธิบายโดยย่อดังนี้
          อุ ย่อมาจาก อุฏฐานสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยความหมั่นคือ ขยันหมั่นเพียร ในการประกอบอาชีพที่สุจริต ว่ากันตรงๆ ก็คือการไม่เกียจคร้านนั่นเอง
          อา ย่อมาจาก อารักขสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายหรือหมดไปในทางที่ไม่เป็นประ โยชน์
          กะ ย่อมาจาก กัลยาณมิตตตา คือ การมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว
          สะ ย่อมาจาก สมชีวิตา คือ การมีความเป็นอยู่ที่พอเหมาะพอดี ได้แก่การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนักและไม่ให้ฟูมฟายนัก
          ขอให้ศึกษาให้เข้าใจความมุ่งหมาย และนำไปปฏิบัติให้จริงจังสม่ำเสมอ ย่อมจะไม่อดอยากยากจนแน่นอน ขอแต่เพียงว่า "อย่าเลือกงาน" ก็แล้วกัน
          ขอให้ระลึกว่า มีคนที่ไหน? งานต้องมีที่นั่น เพราะคนต้องกินต้องใช้ คนขาย คนบริการ และคนซื้อจึงต้องมี เป็นสิ่งที่คู่กัน แม้เงินจะน้อยก็ควรทำไปก่อน เมื่อมีโอกาส จึงค่อยเปลี่ยนแปลงงานต่อไป ก็จะไม่รู้จักกับคำว่า "ตกงาน" เลย
          เมื่อเงินเดือน หรือรายได้ประจำไม่พอใช้จริง ๆ ก็ ควรจะหารายได้เพิ่มเติม เป็นประเภทงานอดิเรก ที่พอจะมีเวลาทำได้ ซึ่งแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน
          นอกจากนี้ แม่บ้านหรือลูก ๆ ทุกคน ก็ควรหัดให้ทำงานในบ้านหรือหารายได้อื่น ๆ ที่พอสมควรแก่กำลัง และความสามารถของเด็กทำให้เด็กมีประสบการณ์ และเป็นการสอนให้เรียนรู้ถึงค่าของเงินด้วย
 
          มะเร็งร้ายในสังคม ปัจจุบัน คือการใช้ของเงินผ่อน หรือใช้สิ่งที่ไม่ควรจะใช้ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แต่เพราะเห็นว่า เพื่อนบ้านเขามีหรือเขาใช้ เกรงว่าจะน้อยหน้าเขา ก็จำจะต้องมีต้องใช้ตามเขาไป
          การประหยัด ก็เป็นสิ่งจำเป็น ที่จะต้องทำให้ได้ และปลูกฝังให้ลูก ๆ เกิดค่านิยมให้ได้ ควรจะแนะนำและทำให้ดูเสียแต่เล็ก ๆ เพราะไม้อ่อนย่อมดัดง่ายอยู่แล้ว
          ผู้เขียน มีความมั่นใจว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องและจริงจัง ย่อมไม่ยากจนถึงขนาดอดอยาก หรือต้องเป็นหนี้สินเขาแน่นอน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีกินมีใช้ ไม่ถึงกับต้องอดอยากปากแห้งแน่
          ทั้งนี้เพราะ ผู้เขียนได้พิสูจน์ จนประสบความสำเร็จมาแล้ว เล่าอย่างไม่อาย เพื่อเป็นบทเรียนแก่หลาน ๆ ว่า
          ผู้เขียนไม่จบ ป.๔ ความรู้อื่นใดก็ไม่มี ทำเป็นแต่อย่างเดียว เมื่อเข้ามาอยู่ในกรุง ก็ไม่พ้นการเป็นกุลี หรือกรรมกรขายแรงงาน
          แต่ก็นับว่าเป็นบุญตัว ที่ได้มีโอกาสบวชเมื่ออายุครบ จึงได้อานิสงฆ์จาการเรียนนักธรรม สึกออกมาจึงได้เข้าทำงานไปรษณีย์ (ตอนนั้นยังเป็นราชการอยู่)
          แต่เงินเดือน ๆ ละ ๔๕๐ บาท มีเมีย ๑ ลูก ๑ มันจะพอกินอะไรจึงต้องขับสามล้อบ้าง ตระเวนตัดผมเด็กในกะที่ไม่พูกเวรบ้าง แม่บ้านก็ออกช่วยอีกแรงหนึ่ง
          ชั่วเวลาไม่ถึง ๑๐ ปี โดยไม่มีทุนหรือมรดกเลย จาการเช่าบ้านและย้ายจนนับไม่ถ้วน ก็มีโอกาสปลูกบ้านเล้ก ๆ อยู่เอง และได้มีที่ดินแปลงเล็ก ๆ เป็นกรรมสิทธิ์ด้วย
          จากการปฏิบัติตามพุทธวจนะ ด้วยการเว้นอบายมุขทุกชนิดไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า เราก็พอมีกินมีใช้ ไม่ต้องเป็นหนึ้ใคร
          ทุกวันนี้สินค้า "ส่วนเกิน" ของชีวิตมีมาก ถ้าไม่ควบคุมตัณหาตาก็จะหันไปซื้อเอามาไว้เต็มบ้าน กลายเป็น "ทาสวัตถุ" ไปจนตลอดชีวิต ชนิด "ถมไม่รู้จักเต็ม" สักที
          อยากจะขอถาม ผู้ที่ตกอยู่ในฐานะ "ชักหน้า ไม่ถึงหลัง" หรือ "ชักหลัง ไม่ถึงหน้า" ว่า ท่านมีสิ่งเหล่านี้หรือไม่? ถ้ามีอยู่น้อยก็พอจะ "ลืมตาอ้าปาก" ได้บ้าง แต่ถ้ามีอยู่มาก ก็อย่าหวังเลยที่จะ "พอกินพอใช้" หรือ "เหลือกิน เหลือใช้" คือ
          ๑. ดื่มน้ำนรก หรือน้ำเปลี่ยนนิสัย เป็นประจำหรือเปล่า ?
          ๒. หมกมุ่นอยู่กับผีการพนัน เป็นประจำหรือเปล่า?
          ๓. สันหลังยาวคือขี้เกียจหรือเปล่า ?
          ๔. เป็นคนมือห่างตีนห่าง หรือประหยัดหรือเปล่า ?
          ๕. หางานอดิเรกทำ เพื่อเพื่มรายได้หรือเปล่า ?
          ๖. เป็นคน "รสนิยมสูง แต่รายได้ต่ำ" หรือเปล่า ?
          ๗. ติดค่านิยม "สินค้าผ่อนส่ง" หรือเปล่า?
          ๘. เป็นคน "จมไม่ลง" ใน "วัตถุส่วนเกิน" หรือเปล่า?
          ๙. เป็นคน "ซื้อง่ายจ่ายคล่อง" คือ "ซื้อก่อนคิด" หรือเปล่า ?
          ๑๐. มีความคิดว่า "งานสุจริยทุกชนิด เป็นงานมีเกียรติ" หรือเปล่า ?
          ๑๑. มีความกระตือรือร้น ที่จะยกระดับฐานะของตนบ้างหรือไม่ ?
           ประการสุดท้าย ที่ถือว่า เป็นสิ่งชั่วร้ายที่สุด ในบรรดาความจนทั้งหลาย คือ "จนใจ" หรือ "จนความคิด" อันเป็นเหตุให้ "จนปัญญา" ตามมาด้วย
          ดังนั้น จงหมั่น "เคาะความคิด" คือ ใช้ความคิดว่า ที่เรายากจนหรือรายได้ไม่พอรายจ่ายนั้น เกิดจากอะไร ? คนที่มีรายได้เท่ากับเราเขาจนอย่างเราทุกคนหรือ ?
          ในโลกนี้มีงานต่าง ๆ จนนับไม่ถ้วน เราจะไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือหารายได้พิเศษ จากงานเหล่านั้นบ้างเลยหรือ ?
          ถ้าคนเรา "จนความคิด" หรือ "จนใจ" เสียเพียงอย่างเดียว แม้แต่งานที่ทำอยู่ ก็จะไม่ก้าวหน้า อย่างเก่งก็จะ "ย่ำเท้าอยู่กับที่" และกำลังรอคอยวันที่จะถอยหลัง
          แต่ถ้าไม่จนใจเพียงประการเดียว ก็อาจสามารถที่จะสร้างงานขึ้นมาใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำกับคนอื่น หรืองานอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วด้วย
          จงรีบสร้าง "ความคิด" เสียก่อนเถิด แล้วงานมันจะมารอให้ท่านทำเอง ยังเกรงอยู่แต่ว่า ท่านจะทำไม่ไหว หรือทำไม่ทันเท่านั้นแหละ ?
วิธีดับทุกข์ เพราะ.. พ่อแม่

          พ่อ-แม่ จัดว่าเป็น "ปูชนียบุคคล" ของลูกทุกคน พระพุทธเจ้าทรงเทียบฐานะของพ่อแม่ เท่ากับเป็น "พระ" ของลูก แม้บวชอยู่ถึงจะบิณฑบาต มาเลี้ยง ก็ยังไม่มีโทษ แถมยังได้รับการยกย่องสรรเสริญ จากพระพุทธองค์อีกด้วย
          ด้วยเหตุที่พ่อแม่ เป็นผู้มีพระคุณมากล้นเช่นนี้ ผู้ที่ปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างถูกต้อง จึงมีแต่ "สิริมงคล" เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนดีโดยทั่วไป..ในทางตรงกันข้าม
          ถ้าปฏิบัติกับพ่อแม่ไม่พูกต้อง ก็ย่อมจะเกิด "อัปมงคล" หา ความเจริญทางจิตใจมิได้ และจะได้รับกรรมอันนี้สนองในชาตินี้เป็นส่วนมาก กล่าวคือลูกของเรา ก็จะทำต่อเราเช่นนี้เหมือนกัน
          ดังนั้น ในฐานะลูกที่ดี จึงควรมีความกตัญญูและกตเวทีต่อพ่อแม่ของตน สนองคุณด้วยการเลี้ยงดูตามธรรม อย่าให้ท่านได้รับความทุกข์ทั้งกายและใจ และผลแห่งกุศลกรรมนี้ ก็ย่อมจะสนองเราทันตาเห็นเช่นเดียวกัน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม
          วิธีดับทุกข์ เพราะพ่อแม่เป็นเหตุนี้ หมายเอาเฉพาะพ่อแม่ที่ขาดศีลและธรรม เป็นมิจฉาทิฐิ ตกเป็นทาสของสุรา การพนัน นารีหรืออบายมุขประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
          อันเป็นผลพวงที่ลูก ๆ พลอยเดือดร้อนไปด้วย ลูกๆ ที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้จะต้อง "ทำใจ" ให้ถูกต้อง และปฏิบัติตนให้สมกับเป็นลูกที่ดีอย่าได้เอา "น้ำเน่าไปล้างน้ำเน่า" เป็นอันขาด มิฉะนั้นจะได้ชื่อว่า "ลูกอกตัญญู" หรือ "ลูกเนรคุณ" ไป จะมีแต่เสนียดจัญไร เมื่อตายก็ไปนรกแน่นอน
          หลักความจริงมีอยู่ว่า ในชาตินี้เราไม่อาจจะเลือกเกิดเป็นลูกของคนนั้นคนนี้ได้ เพราะมันได้เกิดมาเสียแล้ว แต่เราก็สามารถเลือกเกิดในอนาคตได้
          การที่ทุกคนได้เกิดมาแล้ว เป็นผลจากกรรมเก่า ที่เราได้ทำเอาไว้เองก่อน ส่งผลให้มาเกิดในฐานะเช่นนี้ เราควรยินดี และพอใจในพ่อแม่ของตน แม้จะอยู่ในภาวะเช่นใดก็ตาม
          ถ้าเราไม่ยินดี ไม่พอใจพ่อแม่ ผู่ให้กำเนิดเรา เราก็ไม่อาจจะเลือกได้ การไม่ยินดีไม่พอใจ จึงเป็นความทุกข์ประการหนึ่ง
          นอกจากนั้น การคิดนึกเช่นนี้ ย่อมจะเป็น "เชื่อ" ให้เกิด "อกตัญญู" และเมื่อออกตัญญูเกิด อกตเวที และ "เนรคุณ" ก็อาจจะตามมาอีกด้วย จึงควรรับกำจัดความคิดเช่นนี้เสียโดยเร็ว
          แม้ว่าพ่อแม่ จะเป็นคนแสนเลวประการใด โหดร้ายเพียงใดก็จะต้องถือว่าเป็น "บุคคลต้องห้าม" สำหรับลูก ที่จะเข้าไปแตะต้องด้วยผิดก็เกิดโทษมหันต์
          พ่อแม่เปรียบประดุจพระอรหันต์ของลูก เพราะรักลูกด้วยความบริสุทธิ์ใจ ลูกทีมีสัมมาทิฐิ ต้องให้ความเคารพนับถือ เชื่อฟัง และตอบแทนคุณถ้าไม่ปฏิบัติก็จะเกิดมลทินไปชั่วชีวิต
          การที่พ่อแม่ทำผิดทำชั่ว อันเป็นผลพวงที่ตกมาถึงเรา ก็เป็นเพราะอกุศลกรรมของเรา ดลจิตใจให้ท่านทำเช่นนั้น เราอย่าได้เอาความชั่ว ไปตอบแทนพระคุณที่ท่านให้กำเนิดแก่เรา
          การที่เราได้มาเกิดเป็นลูกของท่าน ก็เป็นผลแห่งบาปกรรมที่เราทำเอาไว้เองให้เป็นไป ถ้าเราไม่ต้องการมาเกิดเช่นนี้อีก ก็ควรเร่งทำความดีให้มากขึ้น ในชาติต่อไป เราก็ย่อมพ้นสภาพเช่นนี้
          มีสีกาคนหนึ่ง บ้านอยู่ห่างถ้ำสติ มาเที่ยวแล้วถามว่ามีพ่อขี้เหล้ามักด่าและตบตีเป็นประจำ ส่วนแม่ก็เอาแต่เล่นไพ่ เล่นได้ก็หน้าบานใจดี วันไหนเล่นเสีย ก็พาลด่าจนเข้าหน้าไม่ติด
          เขาได้แนะนำให้พ่อเลิกเหล้า ให้แม่เลิกเล่นไพ่ ก็ถูกด่าเปิงแถมจะลงมือลงไม้เอาด้วย หาว่าอวดดีมาสอนพ่อแม่ มึงเป็นลูกอย่าเสือกมาสอนกู กูไม่ดีก็เลี้ยงมึงมาไม่ได้ ขอให้หลวงตาช่วยแนะนำ จะทำอย่างไร พ่อแม่จึงจะเลิกอบายมุขได้ ? ได้ให้คำแนะนำเขาไปว่า
          การที่ลูกจะแนะนำพ่อแม่ได้ พ่อแม่นั้นจะต้องมีความนับถือหรือเกรงใจลูกอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้ว การสอนพ่อแม่ เป็นเรื่องทำได้ยากทั้งนี้เพราะ
          พ่อแม่มีสำนึกอยู่ว่า "กูเป็นพ่อ กูเป็นแม่ กูอาบน้ำร้อนมาก่อน มีหน้าที่ต้องสอนลูก เลี้ยงลูก ลูกมีหน้าที่เชื่อฟัง และทำตามอย่างเดียว จะมาสอนพ่อแม่ไม่ได้ แม้พ่อแม่จะทำผิดทำชั่วก็ตาม"
          คำแนะนำของลูกที่ต้อง จึงไม่มีน้ำหนักที่จะเรียกร้องให้ยอมรับฟังหรือทำตามได้ ยกเว้นแต่พ่อแม่ที่มีสัมมาทิฐิ แต่ได้หลงผิดไปชั่วคราวอาจยอมรับและกลับได้ง่าย
          ถ้าเป็นเช่นนี้ ทางปฏิบัติก็มีอยู่ ๒ ประการ คือวางอุเบกขาปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของท่านเอง หรือหาผู้ที่พ่อแม่เคารพนับถือ ช่วยแนะนำตักเตือนให้ อาจจะเลิกได้ถ้าหมดเร ขอแต่ว่าให้เราพยายามทำหน้าที่ของลูกให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ถ้าท่านไม่รีบตายจากเราไปเสียก่อนหมดเวรกรรมท่านก็ต้องเลิกเอง
ทางแก้
          ๑. ศึกษาเรื่องกฏแห่งกรรม ให้เห็นความจริงว่า ที่เรามาเกิดกับพ่อแม่ที่ไม่ดีนั้น "เป็นผลของอกุศลกรรมของเราเอง" ถ้าไม่อยากมาเกิดกับพ่อแม่แช่นนี้ ก็ต้องเร่งทำความดีให้มาก ชาติหน้าก็ไม่มาพบกันอีก
          ๒. ต้องปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างลูกกับพ่อแม่ให้ถูกต้อง คือมีความกตัญญูและกตเวที พยายามให้พ่อแม่มีศีลธรรมให้ได้ อย่าได้เอาความชั่วไปต่อความชั่ว มิฉะนั้นในชาติหน้า เราจะต้องไปเกิดและชดใช้บาปกรรมร่วมกันอีก
          ๓. การทำให้พ่อแม่ทุกข์กายและใจ บ่น ด่า ทุบตี หรือ ฆ่าเป็นการปิดทางสวรรค์และนิพพานของลูกพร้อมกันนั้นก็เปิดทางอบายทุคติ วินิบาต และนรกไว้รอด้วย
          ๔. การที่เราอยู่กับพ่อแม่ ที่ขี้บ่นหรือด่านั้น ถ้าเจาะให้ลึกถึง "ก้นบึ้งหัวใจ" ก็จะพบความจริงว่า เกิดจากความ "หวังดี" คืออยากให้ลูกดี
          ถ้าท่านไม่รักเราจริง ท่านจะบ่นจะด่าทำไม? ให้มันเมื่อยปาก? ปล่อยให้เรา "ขึ้นช้าง-ลงม้า" คอหักพรอันประเสริฐ ที่ลูกควรรับฟัง และพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง คือ
          ก. ถ้าท่านด่าหรือบ่น โดยเราไม่ผิดหรือไม่จริง ก็อย่าได้สวนขึ้นในขณะนั้น รอให้ท่านอารมณ์ดี แล้วค่อยชี้แจงเหตุผลให้ฟังภายหลัง
          ข. ถ้าท่านด่าหรือบ่น โดยเราเป็นฝ่ายผิด ก็ต้องรีบแก้ไขปรับปรุงตน อย่าได้ทำเช่นนั้นอีก ท่านก็จะเลิกบ่นไปเอง
          ค. ถ้าท่านบ่นหรือด่า โดยหาสาระมิได้ ก็ควรสงบใจ วางอุเบกขาเสีย มันเป็นการระบายอารมณ์ ของคนที่มีภาระมาก และวางไม่ลง ได้บ่นหรือด่าใครนิดหน่อย อารมณ์ก็จะดีขึ้น เป็นธรรมดาของคนที่ห่างวัดขาดธรรมะ จะต้องเป็น "เช่นนั้นเอง"
          ๕. คำบ่นหรือด่าพ่อแม่ไม่มีพิษภัยเท่ากับคำเยินยอของหนุ่มสาว ถ้าเราทนได้ ปล่อยวางอุเบกขาได้ ก็เป็นการบำเพ็ญ "ขันติบารมี" ไปในตัว ควรหัดทำให้ได้
พระในบ้าน
               เมื่อล้มกลิ้ง ใครหนอวิ่ง เข้ามาช่วย
          แล้วปลอบด้วย นิทาน กล่อมขวัญให้
          ทั้งจูบที่ เจ็บชะมัด ปัดเป่าไป
          ผู้นั้นไซร้ ที่แท้ แม่ฉันเอง
          ยามมีกิจ หวังให้เจ้า เฝ้ารับใช้
          ยามป่วยไข้ หวังให้เจ้า เผ้ารักษา
          ยามถึงคราว ล่วงลับ ดับชีวา
          หวังให้เจ้า ปิดตา เวลาตาย..
          นิมิตฺตํ สาธุรูปาน กตญูกจเวทิตา
          ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี
 วิธีดับทุกข์ เพราะ...เพื่อน

          สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชาวศักยะ ในแคว้นสักกะ ครั้งนั้นท่านพระอานนท์ ได้เข้าเฝ้าแล้วกราบทูลพระพุทธองค์ว่า
          "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี และมีเพื่อนที่ดีนั้น นับว่าเป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ทีเดียวนะ พระเจ้าข้า"
          พระพุทธองค์ ได้ตรัสค้านขึ้นว่า
          "อานนท์ ! เธออย่าได้พูดอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น ก้ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี และมีเพื่อนดีนั้น นับว่าเป็นพรหมจรรย์หมดทั้งสิ้นที่เดียว
          อานนท์ ! อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี และมีเพื่อนที่ดีก็เป็นอันหวังได้แน่นอนว่า จะได้เจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จะกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘"
          ได้ยกเอาพระสูตรสำคัญที่สุด ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสคัดค้านพระอานนท์ ที่กราบทูลว่า การมีเพื่อนที่ดี เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์เท่านั้น แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นทั้งหมดทีเดียว
          ข้อนี้เป็นที่รับรองของท่านผู้รู้ อย่างชนิดใต้องสงสัยเลยเพราะมีสุภาษิตรับรองอยู่ทั่วไป เช่น คบคนใด ย่อมเป็นคนเช่นคนนั้น คบคนเลวก็ย่อมเลวตาม และคบคนดีย่อมดีขึ้นในทันที เป็นต้น
          ในมงคล ๓๘ ท่านจึงได้วางหรือจัดเรื่องการไม่คบคนพาลไว้เป็นข้อแรก และจัดเรื่องการคบกับบัณฑิตไว้เป็นข้อที่ ๒ ทั้งนี้ก็เพราะ การคบเพื่อนเหมือนกับการเริ่มต้น ของการเดินทาง การคบเพื่อนที่ไม่ดีก็เหมือนการเดินทางผิด ยิ่งเดินก็ยิ่งผิด ทางที่ถูกก็คือ ต้องตั้งต้น เดินใหม่ นั่นคือการเลือกคบแต่คนดี
          ปัญหามีต่อไปว่า เราจะไม่ได้อย่างไรว่า เพื่อนคนไหนดีหรือไม่ดี ? การคบกันใหม่ ๆ ย่อมจะดูยาก ไม่เหมือนการดูสัตว์บางประเภท เช่น เสือมันก็ยังมีลายหรือสีที่ขนพอให้แยกได ว่าเป็นเสือหรือประเภทอะไร เป็นต้น

           การดูคนดีหรือชั่ว เรามีจุดที่จะดูอยู่ ๓ จุด คือ ที่กายวาจา และที่ใจของเขา โดยมีศีลธรรม เป็นมาตรวัดดังนี้
          ทางกาย ๔
 คือ ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดและ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
          ทางใจ ๓
 คือ ไม่โลภ อยากได้ในทางที่ผิด มีจิตเมตตาไม่ปองร้ายหรือพยาบาท และ มีความเห็นชอบและถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
          มีข้อที่ดูยากก็คือทางใจ แต่ก็พอจะดูได้ เพราะเมื่อใจคิดแล้วมันก็ต้องพูดหรือทำ ไม่ช้าก็เร็วออกมาจนได้ การคบกันนาน ๆ จึงจะรู้ธาตุแท้หรือสันดานของคนได้แม้จริง
          ในอกิตติชาดก (๒๗/๓๓๗) ท่านแนะให้ดูคนพาล หรือคนชั่วที่ ๕ จุดนับว่าเข้าทีและเป็นไปได้ คือ
          - คนพาลชอบชักและนำในทางที่ผิด
          - คนพาลมักชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระหน้าที่ของตน
          - คนพาลมักจะเห็นผิดเป็นชอบ
          - คนพาลแม้หรือใคร ๆ พูดดี ๆ ก็โกรธ
          - คนพาลไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัยหรือกฎหมาย
           เป็นอันว่า เราได้ทั้งหลัก และแนวทางของการดูคน ว่าดีหรือชั่วแล้ว ที่นี้ก็อยู่ที่ว่า เราจะเลือกคบกับคนดี หรือคนชั่ว ถ้าเราเลือกคบคนดี และนึกรังเกียจคนชั่ว ก็แสดงว่าพื้นจิตของเรามีสัมมาทิฐิ
          แต่ถ้าจิตของเราเกิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว คือเห็นผิดเป็นชอบ รังเกียจคนดี แส่เที่ยวหาคบแต่คนชั่ว ก็แสดงว่าพื้นจิตของเราเป็นมิจฉาทิฐิ นับว่าเป็นอันตรายมาก ควรรีบแก้ไขเสียโดยด่วน ถ้าขืนปล่อยไปตามนั้นอนาคตที่มองเห็นก็คือ ไม่ตายตอนแก่แน่ ๆ ขนาดเบาก็มีคุกเป็นบ้านถาวร
          คนเราเป็นสัตว์สังคม จึงจำเป็นต้องคบหาเพื่อนฝูง ไม่มีเพื่อนมากก็ต้องมีน้อย เพราะไม่มีใครจะอยู่คนเดียวในโลกได้
          การคบเพื่อนที่ดี ย่อมจะนำแต่ความสุข และความเจริญมาให้ในทางตรงข้า ถ้าคบเพื่อนชั่วหรือพาล ย่อมจะนำความทุกข์เดือดร้อนและความเสื่อมนานาประการมาให้
          ดังนั้นใครมีเพื่อนที่ดีอยู่แล้ว ก็ควรจะถนอมน้ำใจด้วยการปฏิบัติตาม "สังคหวัตถุ ๔" อย่างสม่ำเสมอ ก็ย่อมจะผูกน้ำใจเพื่อนที่ดีไว้ได้ ตลอดกาล
          ถ้ามีเพื่อนเป็นคนชั่ว ก็ควรเร่งถอนตัว ตีจากเสียให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันทุกข์ภัย ที่จะมีในปัจจุบัน และในอนาคต
ทางแก้
          ๑. พิจารณาให้เห็นโทษ ของการคบกับคนชั่ว และคุณของการคบกับคนดี อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน และต้องตัดใจเลิกคบกับคนชั่วให้ได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
          ก. เลิกคบกันทันทีทันใด ถ้าคิดว่าทำแล้วจะไม่เกิดมีทุกข์หรือภัยตามมาภายหลัง
          ข. ค่อย ๆ แยกหรือปลีกตัวออกมา โดยที่ไม่ให้เขารู้ตัว
          ค. ตัดสายสัมพันธ์ ที่เป็นสื่อเชื่อมโยงออกให้หมด
          ๒. ถ้าอยู่โรงเรียนเดียวกัน หรือทำงานร่วมกันก็อาจขอย้ายห้องย้ายโรงเรียน หรือเปลี่ยนงานใหม่ ก็แล้วแต่กรณี
          ๓. ย้ายบ้าน อย่าอยู่ใกล้ชิดกันอีกต่อไป
          ๔. เลือกคบหาคนดีไว้ทดแทน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมไม่อาจจะอยูโดดเดี่ยวได้
          เป็นธรรมดาอยู่เอง เมื่อเราคบกับคนชั่ว คนดีก็ย่อมรังเกียจไม่คบหาด้วย และเมื่อเราเลิกคบกับคนชั่ว คนดีก็ย่อมคบหาด้วย อย่ากลัวเลยว่า จะหาคนดีคบไม่ได้ ขอแต่ว่าให้เราเป็นคนดีจริง ๆ เถอะ อย่าเป็นคนประเภท "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ" ก็แล้วกัน
          ทุกวันนี้ โลกเราหนาแน่นไปด้วยคนมีความรู้ มีดีกรีสูงแต่ขาดแคลนคนดีหรือบัณฑิต (ผู้มีปัญญา) ยิ่งนัก
 วิธีดับทุกข์ เพราะ...ผัวเมีย

         เรื่องของผัว-เมีย เป็นเรื่องธรรมดา ของผู้ที่ครองเรือนจะต้องมีพระอริยะ ๒ พวกแรก คือ พระโสดาและ พระสกิทาคา ก็ยังอยู่ครองเรือนได้
          ถ้าผัวเมีย ทั่วไปมีกัลยาณศีล และกัลยาณธรรม คือ ศีล ๕ และธรรม ๕ แล้ว ครอบครัวนั้น ก็ย่อมมีความสุขตามโลกีย์วิสัยไม่มีปัญหาให้ผู้เขียนต้องนำมาดับกันในที่นี้
          แต่ที่จะเขียนต่อไปนี้ หมายถึง ผัว เมีย ที่อยู่ด้วยกันแล้วเกิดมีความทุกข์ขึ้น จึงต้องหาทางแก้ และการแก้ในที่นี้ ก็จะแก้ที่กรรมปัจจุบันไม่พูดถึงกรรมในอดีต เพราะแก่ไม่ได้
          ตามธรรมดาปุถุชนเต็มขั้น ย่อมจะต้องมีดีบ้างชั่วบ้างปะปนกันไป มากบ้างน้อยบ้าง การกระทบหรือขัดใจกัน จึงต้องมีเป็นธรรมดาของ "ลิ้นกับฟัน" คำของคนในอดีตจึงว่า
          "อยู่คนเดียว ให้ระวังความคิด..อยู่กับมิตร ให้ระวังวาจา"
          ผัว เมีย ที่จะอยู่ด้วยกัน อย่างมีความสุข หรือมีความทุกข์นั้น ขึ้นอยู่กับเหตุ ๒ ประการ คือ เสน่ห์กับเสนียด
          เสน่ห์ คือมีสื่อที่ทำให้ผัวหรือเมียรัก เช่น พูดจาไพเราะอ่อนหว่าน พูดจริง พูดในสิ่งท่ควรพูด เป็นต้น การแต่งตัวสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ ขยันในการบ้านเรือน หรือหน้าที่ของตน
          ถ้าเป็นหญิง ก็ต้องทำกับข้าว จัดเสื้อผ้า และบ้านเรือนน่าอยู่น่านอน น่านั่ง ไม่หึงหวงจนเกินเหตุ ไม่ทำใจคับแคบ ไม่กีดกันญาติหรือเพื่อนของผัว เคารพ เกรงใจซึ่งกันและกัน ไม่นอกใจผัว รู้จักใช้จ่ายเป็นต้น
          ถ้าเป็นชาย ก็ต้องขยันทำงาน ละสิ่งเสพติดต่าง ๆ ทำตัวเป็นผัวที่ดี เป็นพ่อที่ดีของลูก ไม่นอกใจเมีย เป็นต้น
          ทั้งหญิงและชาย ควรศึกษาจิตใจของกันและกัน และพยายามถนอมน้ำใจกัน เป็นคนมีเหตุผล อย่าตามใจตน ก็ย่อมจะอยู่ด้วยกันยืดยาว และมีความสุขร่วมกัน
          การอยู่ร่วมกันนาน ๆ แต่มีเรื่องขัดใจกัน จะพูดจะทำอะไรก็เอาลูกเป็นสื่อ นอนหันหลังให้กัน หรือแยกกันนอน มันจะมีความสุขได้อย่างไร?
          เสนียด คือ มีแต่จัญไร และอัปมงคล พบกันก็มีแต่บ่นหรือด่า ฝ่ายที่ถูกบ่นหรือด่า ก็ไม่อยากอยู่ใกล้ ไม่อยากเข้าบ้าน ก็ต้องไปหาบ้านอยู่ใหม่ ถ้ามีลูกด้วยกันก็มีปัญหามาก
          ขอให้มั่นใจเถิดว่า เมื่อมีปัญหาหรือความทุกข์เกิดขึ้น จะต้องมีการปฏิบัติผิดกฎของศีลและธรรมเกิดขึ้นแล้วไม่ฝ่ายผัวเมียหรือไม่ก็ทั้งสองฝ่าย
วิธีปฏิบัติ
           ขั้นแรก ควรสำรวจตนเองก่อน ว่าเหตุที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากอะไร ? ใครเป็นคนก่อ ? ถ้าเกิดจากเรา ก็จงยอมรับและรีบตัดสินใจแก้ในทันที
          ถ้าปัญหานั้น เกี่ยวโยงถึงอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ให้ปรึกษาหารือ ให้อยู่บนฐานแห่งความเป็นจริง แล้วร่วมกันแก้ ถ้าแก้ไม่ได้ ก็อาจปรึกษาท่านผู้รู้ต่อไป
          อุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ผัวเมียต้องแตกกัน หรืออยู่ด้วยกันอย่างไร้ความสุข ก็คือ ทิฐิมานะ ดื้อรั้น เห็นแก่ตัวจัดจนขาดเมตตา คือความรักและปรารถนาดีต่อกัน
          อีกประการหนึ่ง คือการขาดความรับผิด จะรับแต่ชอบอย่างเดียวมักจะโทษว่าคนอื่นผิดเสมอ เมื่อตัวทำผิดก็ไม่รับ และปกปิด ถ้าคนอื่นทำผิดแม้เล็กน้อย ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่โต และจะนำมาพูดกระทบ ไม่รู้จักจบสิ้น
          อันปุถุชนเดินดินนั้น ที่จะทำอะไรไม่ผิดเลยนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้นอกจากจะไม่ทำอะไรเลย และการไม่ทำอะไรเลยนั้น ก็เป็นความผิดอีกคือ ผิดที่ไม่ทำ
          อันวิสัยของคนดีนั้น เมื่อทำผิดแล้วก็ต้องยอมรับ และยอมแก้ไขไม่ให้เกิดผิดซ้ำอีก คนที่ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด เป็นคนสุขภาพจิตเสื่อม อยู่ที่ไหน ? กับใครก็เดือดร้อนที่นั่น คือเมื่อเกิดความผิดขึ้นก็จะป้ายไปให้ผู้อื่น เมื่อเกิดความดีก็จะรีบรับเอาเสียเอง ไม่ว่าจะชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม
          คนประเภทนี้ มีอยู่ในครอบครัวใด ครอบครัวนั้นก็หาความสันติสุขได้ยาก
          ดังนั้น ผัวเมียคู่ใด ต้องการความสุข ในการครองเรือนร่วมกัน ควรปลูกฝังคุณธรรม ในการครองเรือน ให้มีด้วยกันทั้งสองฝ่าย ชีวิตสมรสย่อมจะเดินไปตามทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ อย่างแท้จริง
ทางแก้
ควรใช้หลักธรรม ๓ ชุด คือ มีศีล ๕ ละเว้นอบายมุขและมีฆราวาสธรรมอีก ๔ ข้อ คือ
       - ชุดศีล ๕ และธรรม ๕ ควรฝึกทำให้ได้
          ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ (รวมทั้งคนด้วย) และมีเมตตา
          ๒. ไม่ลักทรัพย์ และมีสัมมาชีพ
          ๓. ไม่ผิดผัว-เมียคนอื่น และมีความสันโดษ คือการยินดีและพอในในคู่ครองของตนเท่านั้น หรือมีกามสังวร
          ๔. ไม่พูดเท็จ และมีสัจจะ
          ๕. ไม่ดื่มสุรา และมีสติ ไม่ประมาท
       - ชุดอบายมุข ๖ ต้องเว้นให้ขาด
          ๑. การดื่มน้ำเมา
          ๒.การเป็นคนเจ้าชู้
          ๓.เล่นการพนัน
          ๔.การเที่ยวเตร่
          ๕.การคบคนชั่ว
          ๖.ความเกียจคร้าน
       - ฆราวาสธรรม ๔ ควรมีประจำ
          ๑. สัจจะ สัตย์ซื่อและจริงใจต่อกัน
          ๒.ทมะ ฝึกฝนปรับปรุงตนให้ดีขึ้น
          ๓.ขันติ อดทนและอดกลั้นทุกสิ่ง
          ๔.จาคุแบ่งปันและสละมะเร็งในอารมณ์
ถ้าครอบครัวทั้งผัวเมีย ปฏิบัตธรรมเพียง ๓ ชุดเท่านี้ ขอรับรองว่าต้องมีความสุข ตามวิสัยของกัลยาปุถุชนอย่างแน่นอน
          โปรดลองสำรวจดูสิว่า ท่านปฏิบัติบกพร่อง ในศีลและธรรมะ ๓ ชุดนี้บ้างไหม ? หรือสิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นปัญหาให้ท่านต้องทุกข์ก็ขอผ่านไปยังจุดที่เป็นปัญหาให้เกิดทุกข์ได้อีก คือ
          ๑. การจู้จี้ พูดมาก ขี้บ่น ข้อนี้ส่วนมากเป็นแก่แม่บ้าน ส่วนพ่อบ้านก็มีบ้างแต่น้อย ต้นเหตุเพราะ คนในบ้านไม่ให้ความร่วมมืออะไร ๆ จึงมาตกแก่แม่บ้านหมด ทั้งงานนอกงานใน ขี้เยี่ยวไม่ออกก็แม่บ้านคนเดียว ถ้า "ทำใจ" คือวางและปลงไม่ได้ โรคประสาทก็จะมาเยือนอย่างแน่นอน
          ทางแก้ ทั้งพ่อบ้าน แม่บ้านและลูกบ้าน ควรร่วมมือกัน อะไรพอทำได้ก็ควรช่วยกัน และแม่บ้านที่ฉลาด ก็ไม่ควรจะผูกขาดงานในบ้านเสียคนเดียว ใคร ๆ ทำให้ก็ไม่ถูกใจ ควรฝึกให้ลูก ๆ ขยันและช่วยตัวเองให้มาก
          ๒. การเอาแต่ใจตัว คือชอบทำอะไรเผด็จการ ไม่ปรึกษาหารือกันก่อน ผัวเมียแม้มีสองร่าง (ตัว) แต่ควรมีหัวใจเดียวกัน บ้านจึงจะสันติสุขควรเป็นคนมีเหตุผล อย่าทำอะไรตามทาสของอารมณ์แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะไม่ทำให้ครอบครัวแตกแยกก็จริง แต่ต้องนอนหันหลังให้กัน มันจะมีความสุขทั้งกายและใจได้อย่างไร ?
          ทางแก้ ควรควบคุมอารมณ์ ก่อนทำหรือพูดควรมีสติ และปัญญากำกับด้วย เราไม่ชอบสิ่งใด ก็ไม่ควรทำหรือพูดสิ่งนั้น ควรลด ทิฐิมานะ และอุปาทานให้มาก เอาเหตุผลและความถูกต้องเป็นแนวทาง
          ๓. ควรมีสันโดษ คือ พอใจสิ่งที่มี และยินดีในสิ่งที่ได้ อย่าเทียบฐานะกับคนที่ด้อยกว่า แล้วใจจะเป็นสุข
          ๔. ครอบครัวแสนสุข คือ ทั้งพ่อแม่และลูก ควรอยู่ในศีลธรรมทางศาสนา มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และผู้มีพระคุณ
          ๕. การหย่าร่าง เมื่อมีความจำเป็นต้องแยกกัน ควรระลึกถึงลูก ๆ ให้มาก การมีพ่อแม่ การมีแม่ขาดพ่อ หรือการอยู่กับพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงนั้น ยากนักที่ลูก ๆ จะได้รับความรักและความอบอุ่น มักจะเป็นเด็กที่มีปัญหาแก่สังคม อย่าได้ทิ้งเวรกรรมไว้กับลูกเล็ก ๆ เลย เขายังอ่อนต่อโลกและชีวิตนัก
วิธีดับทุกข์ เพราะ..ลูก

           พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงลูกไว้ในปุตตสูตร (๒๕/๒๕๗) ว่ามีอยู่ ๓ ประเภท คือ อภิชาตบุตร อนุชาตบุตร อวชาตบุตร โดยทรงยกเอาศีล ๕ มาเป็นมาตรวัดไว้ ดังนี้
          อภิชาตบุตร ลูกที่สูงกว่าตระกูล คือ พ่อแม่ไม่มีศีล ๕ แต่ลูกเป็นผู้มีศีล ๕ แต่ลูกเป็นผู้มีศีล ๕ 
          อนุชาตบุตร ลูกที่เสมอกับตระกูล คือ พ่อแม่มีศีล ๕ และลูกก็เป็นผู้มีศีล ๕ ด้วย
          อวชาตบุตร ลูกที่ต่ำกว่าตระกูล คือ พ่อแม่มีศีล ๕ แต่ลูกไม่มีศีล ๕
          ในขัตติยสูตร (๑๕/๑๐) พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
          "ลูกคนใดเป็นลูกที่เชื่อฟัง ลูกคนนั้น นับว่าเป็นลูกที่ประเสริฐสุดกว่าลูกทั้งปวง"
          โดยนัยพระพุทธวจนะ ที่ได้ยกมากล่าวไว้นี้ เป็นเครื่องแสดงว่า พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ดูว่าลูกจะดีหรือชั่ว ที่มีศีล ๕ และการเชื่อฟังพ่อแม่และการกระทำของพ่อแม่ในยุคปัจจุบันเพียงไร พ่อแม่ในยุคปัจจุบันมักมุ่งแต่จุหาเงินไว้ให้ลูก หวังให้ลูกเรียนเก่ง เรียนสูง ทำงานเบา ทำงานมีเกียรติ ได้เงินเดือนสูง ร่ำรวย
          ส่วนมากจะไม่สนใจคุณธรรมในตัวของลูกเลย พ่อแม่ส่วนมากในยุคนี้ ต้องผิดหวังน้ำตาตก เป็นโรคประสาท ทั้งที่มีเงินทองเหลือล้น ต้องกับพุทธภาษิต (นันทิสูตร ๑๕/๙) ว่า
          "คนมีลูก ย่อมเสียใจเพราะลูกคนมีวัว ก็ย่อมเสียใจเพราะวัวเหมือนกัน"
เพราะลูกในยุคปัจจุบัน พากันเป็น "ลูกบังเกิดเกล้า" กันเป็นส่วนมากเสียแล้ว ต้นเหตุ ก็เกิดจาการ "เลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี" นั่นเอง คือมักตามใจลูกในทางผิดๆ เช่น ถนอมลูก ไม่ยอมให้ลูกทำอะไรเลย มีพ่อแม่หรือมีคนรับให้ทำให้เสร็จ ลูกอยากได้อะไรก็ให้ อยากได้เงินเท่าไหร่ก็ตามใจ ประเคนให้ ตามใจลูกทุกสิ่ง ผลหรือ ? ลูกก็เลยกลายเป็นลูกเทวดา ปรารถนาอะไรก็ได้ดั่งใจ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวจัด ใช้เงินเก่งไม่เห็นคุณค่า ของเงินทำอะไรเองก็ไม่เป็น ตีนไม่ติดดิน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
          ทางที่ถูกนั้น ควรมุ่งปลูกฝังคุณธรรม หรือศีลธรรมลงในจิตใจขอลูกที่มีกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ เมื่อระลึกถึงเขา
          แต่ถ้าลูกขาดคุณธรรมแล้ว ถึงจะมีความรู้วิชาชีพสูงก็เอาตัวไม่รอด แม้พ่อแม่จะมีฐานะร่ำรวย ลูกมันก็จะผลาญหมด แต่ถ้าลูกเป็นคนดีถึงฐานะจะยากจน ลูกก็สร้างขึ้นมาได้
          ถ้าไม่รับปลูกฝังศีลธรรม ลงในตัวของลูกไว้แต่เล็ก ๆ แล้วโอกาสที่ลูกจะเป็นเด็กดีค่อนข้างยาก และจะยิ่งยากมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้เพราะวิทยาการทางวัตถุ ยิ่งเจริญมากขึ้นเท่าไรน จิตใจของคนในโลกก็ยิ่งต่ำลงเห็นแก่ตัวมากขึ้น โหดร้ายมากขึ้น
          ต้นเหตุที่สำคัญคือ ทุกคนต้องแข่งขันกันมีวัตถุให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมความสุขทางเนื้อหนัง การเอารัดเอาเปรียบกัน ก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
          พ่อแม่ก็ต้องออกไปหาเงินเพื่อให้พอใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนพลเมือง โอกาสที่จะเลี้ยงลูกเองแบบเก่าจึงไม่มี สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ก็ยิ่งจะห่างไกลออกไปทุกที
          ด้วยเหตุนี้ เพื่อนจึงมีความสำคัญ ที่ลุกมักจะให้ความเชื่อถือมากกว่าพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ที่ดีส่วนมาก มักจะไม่ตามใจลูกในทางที่ผิดเมื่อเห็นลูกทำผิด ก็มักจะตักเตือนหรือดุด่า จนถึงเฆี่ยนตี เป็นต้น
          ตรงกันข้ามกับเพื่อน มีแต่คำหวาน ตามอกตามใจแม้ในสิ่งที่ผิดๆ ลูกจึงมักจะรักเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ คนเราเมื่อรักกันแล้วย่อมจะถนอมน้ำใจกัน ก็มักจะพยายามทำอะไร ๆ ตามที่เพื่อนชอบหรือขอร้อง
          จุดมืดหรือจุดสว่างของลูก จึงอยู่ตรงนี้เอง ถ้าคบกับเพื่อนที่ดีก็เป็นบุญตัว ถ้าคบเพื่อชั่ว ก็พาตัวพินาศเสียอนาคต กว่าจะรู้สึกตัวก็หมดโอกาสเสียแล้ว
          สาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่ลูก ๆ ไม่ให้ความเคารพหรือเชื่อฟังพ่อแม่ก็เกี่ยวกับการประพฤติตัวของพ่อแม่เอง เช่น
          -ไม่ให้ความอบอุ่นกับลูก ถือว่ามีเงินให้ใช้ มีข้าวให้กินอิ่มท้องก็เป็นบุญแล้ว ลืมไปว่าคนเรา มีทั้งกายและใจ การให้อาหารก็ควรให้ให้ครบ คือให้ทั้งอาหารกายและอาหารใจ
          -ทำตัวอย่างที่ไม่ดี เช่น ติดเหล้า ติดการพนัน ติดผู้หญิง (เมียเก็บ-เมียเช่า) โกง หากินทางผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบสังคมฯ
          -ถืออารมณ์มากกว่าเหตุผล เมื่อลูกทำผิดเล็กน้อย ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่โตคอขาดบาดตายใช้อารมณ์ ใช้อำนาจเข้าข่ม ก็จะเอาชนะได้ก็แต่กาย แต่หาได้ชนะจิตใจลูกไม่
          - รักลูกตามอารมณ์ คือ ต้องการให้ลูกทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ เช่น ต้องเรียนวิชานั้น ต้องทำงานอย่างนี้ ทำเหมือนลูกไม่มีหัวใจ เหตุเพียงเพราะพ่อหรือแม่ชอบ เป็นต้น
          - จู้จี้ขี้บ่น ทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ย่อมไม่ชอบคนจู้จี้ขี้บ่นด้วยกันทั้งนั้น คนฟังมักรำคาญ ส่วนคนบ่นมักไม่รำคาญ พ่อแม่ที่อยากให้ลูกๆ อยู่ใกล้ชิด ควรจะระวังนี้ไว้ด้วย
          - เลี้ยงลูกให้ขี้เกียจ คือ กลัวลูกจะเหนื่อยจะลำบาก เลยทำอะไร ๆ แทนเสียหมด ลูกจะทำก็กลัวเสียของ ลูกก็เลยทำอะไรไม่เป็นบางคนโตจนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ซักผ้าของตัวเองก็ไม่เป็น หุงข้าวก็ไม่สุก..ก็เลยกลายเป็น "เลี้ยงลูกไม่ให้โต" ไป
          การหาเงินหรือมีเงิน เป็นของดีควรทำ แต่เงินก็เป็นของกลางเป็นสมบัติกลาง ถ้าคนดีก็ใช้เงินให้เป็นคุณ ถ้าคนชั่วก็จะใช้เงินให้เป็นโทษ
          ดังนั้น พ่อแม่ที่ดี จึงไม่ควรจะงมโข่ง ก้มหน้าหาแต่เงินลูกเดียว จนลืมปลูกฝังคุณธรรมลงในจิตใจลูก เพราะถ้าลูกมันชั่วแล้วเงินร้อยล้านพันล้าน มันก็ผลาญหมดในไม่ช้า แถมพาตัวเขาให้พินาศด้วย
การเลี้ยงลูกที่ดี ควรใช้หลัก ๔ ขั้น คือ แม่น้ำ ลูกยอ กอไผ่ ใส่เตา
          - แม่น้ำ คือ เอาน้ำเย็นเข้าปลอบ พูดจาด้วยภาษาดอกไม้ เชื่อเถอะ ! จิตใจของคนเรามิได้สร้างด้วยหินดอก เมื่อลูกรู้ว่ายังมีคนรักและเมตตาเขาด้วยความจริงใจ ด้วยเหตุผลและความเป็นจริง ไม่ใช้อารมณ์ เขาก็ย่อมจะเชื่อฟังบ้าง
          - ลูกยอ คือ ใช้วิธียกย่องชมเชย ในสิ่งที่ลูกมีและทำได้ ให้กำลังใจในการทำความดี ถ้าถลำทำชั่วก็ขอให้กลับตัวใหม่ อย่าประณามกันรุนแรง คนเราทำผิดกันได้ เมื่อผิดแล้วก็ต้องยอมรับและต้องกลับตัวจึงจะถือว่ามีเชื้อของบัณฑิต
          - กอไผ่ คือ การใช้เรียวไผ่หวดก้น เมื่อใช้ไม้นวมมาสองขั้นไม่สำเร็จ ก็จะต้องใช้ไม่แข็งกันบ้าง แต่ระวัง ต้องตีด้วยเหตุผลและความเป็นจริง อย่าได้เผลอใส่อารมณ์ (โกรธ) บวกเข้าไปเป็นอันขาด ความหวังดีจะกลายเป็นร้ายไปทันที
          - ใส่เตา คือ การเผาหรือฌาปนกิจ เมื่อ ๓ ขั้นไม่สำเร็จ ก็ใช้ไม้สุดท้าย คือคิดว่า "เขาได้ตายจากเราไปแล้ว" ก็ควรจะเผาเขาไปเลยคือต้อง "ทำใจ" ให้ได้ถ้าเขาเป็นลูกล้างลูกผลาญ ก็ขอให้จบกันเท่านี้ เขาจะขึ้นช้างลงม้าเข้าคุก ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของเขาเถิด
          การทำใจในข้อนี้ ถ้าพ่อแม่มีธรรมะในใจต่ำ ก็จะทำไม่ได้ เพราะไม่อาจจะตัดใจได้ แต่ถ้าศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธีแล้ว จะทำได้ง่ายมากนั่นคือ
          ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง จะฝืนกฎแห่งกรรมไปหาได้ไม่ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ทรงอยู่ภายใต้กฏแห่งกรรมเช่นกัน การที่เรามีลูกดี ระลึกถึงแล้วมีแต่ความชื่นใจและสบายใจก็เป็นเพราะผลของกุศลกรรม ที่เราทำไว้ ได้มาสนองเรา เกิดจากผลของกรรมดี
          การที่เรามีลูกไม่ดี เกิดมาล้างพลาญ ก่อแต่ความทุกข์ และนำแต่ความเดือนร้อนมาให้ไม่รุ้จักสิ้นสุดนั้นก็เป็นเพราะ ผลของอกุศลกรรมของเราเองทำไว้ และกำลังให้ผลเราอยู่
          ทางที่ถูก เราไม่ควรจะตีโพยตีพาย ซึ่งจะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย นอกจากจะเป็นโรคประสาทหรือเป็นบ้า ควรจะยอมรับความจริง แล้วปฏิบัติไปตามที่ถูกที่ควร ทำไม่ได้ก็วางอุเบกขา ถือว่า "เป็นกรรมของสัตว์"
          อย่าไปคิดเปรียบเทียบว่า ลูกคนอื่นเขาไม่เหมือนลูกเรา ก็มัน "กรรมใครกรรมมัน" ต่างคนต่างทำ มันจะเหมือนกัน ได้อย่างไร ?ถ้าเลือกได้ทุกคนก็เลือกเกิดเป็นราชา หรือเศรษฐีกันหมด
          ควรจะคิดในแง่ดี และในแง่ของความเป็นจริงว่า เราได้ชดใช้กรรมเก่าเสียแต่ในบัดนี้ก็เป็นการดีแล้ว จะได้หมดเวรหมดกรรมกันไปเสียที ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องไปใช้เขาอีก คิดได้อย่างนี้ เราก็สบายใจ
          เท่าที่เห็นมา มีพ่อแม่เป็นอันมาก เลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี หรือไม่อาจจะเลี้ยงได้ เพราะมีปู่ย่า ตายาย หรือญาติคอยให้ท้ายในทางที่ผิด ๆ ลูกก็เลยเสียนิสัย ตามใจตัวเองและเห็นแก่ตัวจัด จนไม่อาจจะแก้ไขได้ ก็เป็นกรรมของลูกด้วย
ทางแก้
           ๑. ความกตัญญูและกตเวที เป็นพื้นฐานของคนดี ควรอบรมหรือปลูกฝังก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด ติดตามด้วยความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์อดทน เสียสละ และมีระเบียบวินัย เป็นต้น
          ๒. ควรเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล อย่าเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ ตามใจในสิ่งที่ถูก ขัดใจในสิ่งที่ผิด ยกย่องเมื่อเขาทำดี ตำหนิหรือลงโทษ เมื่อเขาทำผิด
          ๓. หัดให้ลูกเป็นคนรับผิดชอบตัวเอง เช่น หน้าที่ การงาน การเงิน เป็นต้น หัดให้เขาใช้ความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ควรชี้แนะไปเสียทุกสิ่ง
          ๔. ควร "เลี้ยงลูกให้โต" อย่าพยายาม "เลี้ยงลูกให้เตี้ย" เพราะเราไม่อาจตามเลี้ยงเขาได้จนตลอดชั่วชีวิต
          ๕. คำพูดที่ว่า "จงทำตามฉันสอน แต่อย่าทำตามฉันทำ" ไม่ควรนำมาใช้กับลูก นั่นคือ พ่อแม่ควรเป็นแบบพิมพ์ที่ดีและถูกต้องถ้าจำเป็นต้องทำชั่ว ก็อย่าให้ลูกรู้หรือเห็น เด็กจะเสียกำลังใจในการทำ ความดี และจะถือเป็นข้ออ้างในการทำความชั่ว แม้แต่เรื่องการดื่มสุราหรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น
          ๖. อย่าห้าม ลูกไม่ให้ทำอะไร ถ้าสิ่งนั้นไม่ผิด หรือไม่เป็นอันตรายเพราะเด็กย่อมอยากรู้และอยากเห็นเป็นทุนอยู่แล้ว ควรให้เขาได้ช่วยงานเรา ตามที่เขาชอบบ้าง
          ๗. ควรรักลูกด้วยพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้ครบทั้ง ๔ ข้อ อย่าแสดงออกให้ลูก ๆ เห็นว่า พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน (อคติ)
          ๘. ควรหาโอกาสพาลูก ๆ ไปวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม ให้ทาน รักษา ศีล เจริญภาวนา ตามสมควร โดยเฉพาะก่อนนอน ควรหัดให้ลูก ๆ ไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตา และกราบระลึกถึงผู้มีพระคุณ ๕ ครั้ง แล้วจึงให้นอนได้
          ๙. อย่าลืมว่า เรามีหน้าที่เลี้ยงลูกให้ดีเท่านั้น ถ้าเขาไม่รักดีก็เป็นกรรมของเขาเอง ทุกคนไม่อาจจะฝืนกฎแห่งกรรมของตนเองได้
วิธีดับทุกข์ เพราะ...ปมด้อย

          คำว่า "ปมด้วย" ในที่นี้ หมายถึงความรุ้สึกที่ "ด้อยกว่า" คนอื่น ในหลาย ๆ อย่าง เช่น ฐานะ รูปร่าง ผิวพรรณ การศึกษา ตระกูลยศศักดิ์ และอาชีพ เป็นต้น
          อันวิสัยปุถุชนนั้น มันอดที่จะนึกคิดในทางเปรียบเทียบเสียมิได้ เมื่อได้พบเห็นสิ่งที่ต่างจากตน และการเปรียบเทียบก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายอะไรเลย ถ้าไม่ทำให้เราเกิดความทุกข์ หรือเดือดร้อน
มองอีกแง่หนึ่ง กลับจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะเมื่อมีการเปรียบเทียบก็จะได้เห็นความแตกต่าง คือสิ่งที่ดีกว่าหรือด้อยกว่า แล้วเราก็พยายามฝึกฝน หรือปรับปรุงตนให้ดีกว่าในสิ่งที่เราสามารถทำได้ ซึ่งบางสิ่งบางอย่างเราก็ทำได้ เช่น ฐานะ การศึกษา หรือ คุณธรรมความดี ต่าง ๆ เป็นต้น บางอย่างเราทำไม่ได้ เราก็พยายามฝึกฝน หรือปรับปรุงตนให้ดีกว่าในสิ่งที่เราสามารถทำได้ ซึ่งบางสิ่งบางอย่างเราก็ทำได้ เช่น มานะ การศึกษา หรือคุณธรรมความดีต่าง ๆ เป็นต้น บางอย่างเราทำไม่ได้ เราก็อย่าไปสนใจมัน เช่น ตระกูล ผิวพรรณ หรือรูปร่าง เป็นต้น
ความคิดทำให้เกิดปัญญา (โยคา เว ชายเต ภูริ-ธรรมบท ๒๕/๔๔) แต่อย่าคิดให้ฟุ้งซ่าน จนเกิดความวุ่นวายหรือเป็นทุกข์ มันก็ไม่เกิดโทษแก่จิตใจตนแต่ประการใด
ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่มีความคิด ปัญญาก็ไม่เกิด เมื่อขาดปัญญาเพียงอย่างเดียว คนเราก็ไม่อาจจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าในทางรูปธรรมหรือนามธรรม
ข้อสำคัญ เมื่อเกิดความคิด (ปัญญา) รู้ว่าสิ่งใดที่เรายังด้อยกว่าเขา แล้วสามารถทำให้เสมอเขา หรือเหนือกว่าเขาได้ ก็ควรรีบทำในทันทีอย่ามัวฝันเฟื่อนกลางวัน ให้กลายเป็นโรคประสาทเสียก่อนก็แล้วกัน
ในทางพระ ท่านถือว่าคนเราไม่อาจแข่งบุญหรือวาสนากันได้ เพราะเป็นเรื่องของอดีต แต่เราก็สามารถที่จะ แข่งกันทำความดีได้ และจะเป็นต้นเหตุให้บุญและวาสนาในอนาคตของเราเทียบเท่า หรือเหนือคนอื่นได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย
มองในแง่ของความจริงอีกแง่หนึ่ง คนที่มีฐานะดี รูปร่างดี ผิวพรรณดีการศึกษาดี ตระกูลดี มียศศักดิ์ และอาชีพที่สูงส่งนั้น มิใช่ว่าเขาจะมีความสุขไปหมดทุกคนดอกนะ บางคนมีความทุกข์มากกว่าคนจนเสียอีก
จากประสบการณ์ ปรากฏว่า คนที่มีฐานะดีนั้นจะหาความสงบและความอิสระได้ยาก เพราะมีภาระที่จะต้องรับผิดชอบและหน้าที่มากมาย ถ้ามองดูแต่ภายนอกจะเห็นว่า เขามีเกียรติมีบริวารมีทรัพย์สินมากมาย
แต่ถ้ามองให้ลึกเข้าไปถึงในบ้าน ในห้องนอนหรือในจิตใจของเขาแท้ ๆ บางคนเราจะพบนรกมากกว่าที่จะพบสวรรค์ ตามที่เราคาดคิดหรือคนทั่วไปเข้าในกันเสียอีก
เรามองเห็นแต่มายาภายนอก ว่าเขามีเงินทองมาก มียศหรือตำแหน่งสูง มีบริวารมากมาย จะไปไหนก็มีคนยกย่อง ล้อมหน้าล้อมหลัง
ถ้าเจาะมองหรือคิดให้ลึก จะเห็นสัจจะของชีวิตว่า สิ่งเหล่านี้ ยิ่งมีมากเท่าไร? จิตใจขอคนเราก็ยิ่งจะห่างไกลจากความสุขสงบมากขึ้นเท่านั้น !
นี่ไม่ใช่คำปลอบใจ ว่าเรามีไม่ได้อย่างเขา ก็เลยปลอบใจเหมาเอาว่า "องุ่นเปรี้ยว" ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ได้เห็นได้รู้มากับตากับหูตนเอง จนนับไม่ถ้วน และในคนทุกระดับ
และนี่ก็เป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจบวช ด้วยเห็นว่า เป็นวิถีทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ได้พบกับความสุขที่สงบและเย็นอย่างแท้จริง และก็ได้พบจริง ๆ เมื่อได้มาอยู่คนเดียวอย่างอิสระที่ถ้ำสตินี้
ผู้เขียนไม่ต้องการขอร้องให้ท่านเชื่อ ตามที่ได้กล่าวมานี้ แต่มีความมั่นใจในสัจจธรรมของพระพุทธองค์ ที่ได้ตรัสไว้แล้ว หนึ่งไม่เป็นสอง คือ ความสุขใด ๆ อันแท้จริงในโลกนี้ จะพบได้ที่จิตสงบเท่านั้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะได้ชี้ให้เห็นสัจจะของชีวิตทุกชีวิตว่ามีอยู่ ๒ ด้าน คือ ส่วนที่เป็นมายา และส่วนที่เป็นสัจจะ จึงไม่ควรทั้งคุณและโทษ ถ้าขาดปัญญาก็แยกไม่ออก หรือแยกออกแต่ไม่ชัดเจน
ทางแก้
           ๑. ควรปรับความคิด ให้จิตมีสันโดษ คือพอใจตามมีและยินดีตามที่ได้ ชีวิตจะประสบความสุข
          ๒. คนเราไม่อาจเลือกที่เกิดได้ก็จริง แต่เราก็สามารถเลือก ทำความดี ได้เท่ากัน
          ๓. ความสุขที่แท้จริงของคน มิใช่อยู่ที่ฐานะ ตระกูล รูปร่าง ผิวพรรณ การศึกษา ยศศักดิ์ หรืออาชีพ แต่อยู่ที่ จิตใจสงบเย็น
          ๔. ในโลกนี้ คนเขามิได้นับถือหรือบูชากันที่รูปร่างหรือตระกูล แต่เขานับถือกันที่คุณธรรมความดีต่าง ๆ
          ๕. คนเราเกิดมาอยู่ในโลกนี้ไม่นานเลย จึงไม่ควรที่จะสนใจฐานะรูปร่าง ผิวพรรณ การศึกษา ตระกูล ยศศักดิ์และอาชีพ ควรสนใจในคุณธรรมดีกว่า เพราะมีสาระกว่า
วิธีดับทุกข์ เพราะ...ฝืนธรรมชาติ

          ธรรมชาติ คือ ของที่เกิดเอง และเป็นเองตามวิสียของโลก เช่นคน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น มันเป็นธรรมดา ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปของมัน "เช่นนั้นเอง"
ขอแยกธรรมชาติออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มีจิตใจ เช่น คนและสัตว์ และฝ่ายที่ไม่มีจิตใจ เช่น ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ฝนตกแดดออก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นต้น
ทุกคนที่เกิดมาอยู่ในโลก ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ มากบ้างน้อยบ้างไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ถ้าปฏิบัติ ให้ถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติก็จะไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ได้ ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้อาจ ก่อคุณให้แก่เรา อย่างสูงสุดจนถึงพระนิพพานได้ ถ้ามีสติและปัญญาพอ
แต่เพราะเหตุที่เราไม่เข้าใจ ในกฎของธรรมชาติหรือชอบ "ฝืนธรรมชาติ" ธรรมชาติจึงก่อความทุกข์ให้เราในหลาย ๆ รูปหลาย ๆ แบบเช่น
ฝ่ายที่มีจิตใจ คือ คนและสัตว์
          - อยากได้สิ่งที่รักก็ไม่ได้ ได้ที่รักมาแล้วก็ไม่อยากให้พลัดพรากจากกันไป ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตายก็ตาม
          - สิ่งที่หวังก็ไม่ได้ดังใจหวัง ครั้นได้แล้วก็ยึดถือและหวงแหนห่วงกังวล วิตกทุกข์ร้อน กลัวจะสูญไป
          - อยากให้ลูกเป็นคนดี เป็นที่ชื่นใจ ก็กลับนำแต่ความเดือดร้อนนานาประการมาให้ อยาก...อยาก...อยาก....
ฝ่ายที่ไม่มีจิตใจ เช่น ฝนตก แดดออก
          - ฝนตกลงมา ทำให้เปียกแฉะ เสียข้าวของ จึงไม่อยากให้ฝนตกครั้นผนไม่ตกก็แห้งแล้ง อยากให้ฝนก็ไม่ตก
          - แดดออกมาทำให้ร้อนมาก ต้นไม้ปลูกใหม่ ๆ ก็ตาย ไม่อยากให้แดดออก ครั้นแดดออก ก็ทำให้ของเสียก็ไม่อยากให้แดดออก อยาก..ไม่อยาก..
อย่าว่าแต่หลายคนหลายความคิด ชนิดนานาจิตตังเลย แม้ในคนเดียวกัน บางวันบางเวลา ก็อยากให้ฝนตก และอยากให้แดดออก ถ้าแดดฝนมีจิตใจ มันคงเป็นบ้าตายไปนานแล้ว เพราะไม่รู้ใจของมนุษย์แม้ในคนเดียวกัน
รวมความว่า ความอยากของคนนี่แหละ ทำให้คนชอบฝืนะรรมชาติ และเมื่อฝืนธรรมชาติ คนที่ฝืนนั่นแหละจะถูกธรรมชาติมัน "ตบหน้า" เอา ถ้าไม่รู้จักเข้ดก้จะต้องถูกมันตบแล้วตบอีก และจะถูกตบอยู่เรื่อย ไป จนกว่าจะปฏิบัติต่อธรรมชาติ อย่างถูกต้องและยุติธรรม
เมื่อนั้น ธรรมชาติ ก็จะประทานพร ให้เรามีความสงบเย็น แม้จะอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า ส่องแสงร้อนแรงเพียงใดก็ตามที
ถ้าเราเอาแต่คร่ำครวญว่า "แหม..แดดจะออกอีกแล้ว..ฝนจะตกอีกแล้ว.." แล้วก็เอาแต่หวุดหวิด รำคาญใจ ทุกข์ใจ แต่ถ้าแดดมันจะออกหรือฝนมันจะตก มันก็เป็นของมันไปตามธรรมชาติใครจะบังคับขอร้องต้องการหรือไม่ต้องการ ถึงคราวออกหรือตก มันก็เป็นของมันไปตามธรรมชาติใครจะบังคับขอรอ้งต้องการหรือไม่ต้องการ ถึงคราวออกหรือตก มันก็เป็นของมันไป
ถ้าเราไปฝืนหรือบังคับ ก็มีแต่จะได้รับ "ความทุกข์กินเปล่า" คือ ทุกข์โดยไม่ได้อะไร ที่เป็นมรรคผลตอบแทนเลยนอกจาก "สุขภาพจิตเสื่อม"
เมื่อเรารู้ว่าธรรมชาติ ทุกสิ่งไม่มีใครฝืนได้เรา "ปรับใจ" ยอมรับกฎของธรรมชาติ แล้วชะรรมชาติให้เป็นประโยชน์ เช่น
"แดดออกก็ดีเหมือนกัน จะได้ตากข้าวตากของ ฝนตกก็ดีเหมือนกัน จะได้มีน้ำกินน้ำใช้ ต้นไม่ชุ่มชื่น อากาศเย็นสบาย.."
โปรดทราบว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไร ที่จะมีคุณหรือโทษเพียงด้านเดียวหรือส่วนเดียว ย่อมมีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้ปัญญาจัดให้ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะมีคุณมากกว่าโทษ
คำว่า "ดีเหมือนกัน" เท่ากับยอมรับธรรมชาติ และปรับตัวให้คล้อยตามธรรมชาติ "ปฏิฆะ" อันมีธรรมชาติเป็นเหตุ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
คนเรามีทั้งความคิดและสติปัญญา เหตุใดจึงไม่เอามาใช้เล่า ? เมื่อฝนตกจำเป็นตอ้งออกจากบ้าน ก็หาร่มกางเข้า หรือไม่จำเป็นมากนักก็เลื่อนไปวันอื่น เป็นต้น
ทางแก้
          ๑. อย่าฝืนโลก อย่าแบกโลก "อะไรมันจะเกิดมันก็เกิด อะไรมันจะดับมันก็ดับ" ไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน หน้าที่ของเรา คือ "ทำเหตุที่ดีและถูกต้อง" เท่านั่นเป็นพอ
          ๒. ธรรมชาติจะไม่โหดร้าย ถ้าเราปรับใจได้ถูกต้อง แถมจะได้รับบทเรียนที่ล้ำค่า จากธรรมชาติ เป็นของขวัญเสียอีกด้วย
          ๓. ถ้าอยากให้ธรรมชาติ ตอบปัญหาถามธรรมชาติดูเถิด แล้วธรรมชาติจะตอบคำถามเอง ถ้าท่านไม่มีเชื้อ "ปทปรมะ" อย่างหนาแน่น ท่านก็จะได้ยินเสียงธรรมชาติตอบปัญหาจนหูแทบพัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

OK