20.11.54

หน้าที่ชาวพุทธ

 หน้าที่ชาวพุทธ


ชาวพุทธเป็นคำที่บัญญัติขึ้นมาใหม่  คำเท่าที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า  คือ  พุทธบริษัท ๔  
ได้แก่  ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา คำว่า  พุทธบริษัท  หมายถึง  กลุ่มหรือชมรมบุคคลที่รวมกลุ่มกันในแนวคิดเห็นและมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาร่วมกันเป็นเอกภาพ  ปฏิบัติหน้าที่ในเป้าหมายอันเดียวกัน  คือเพื่อสร้างสรรค์สันติสุขแก่สังคม  ต่อมาได้มีการเรียกพุทธบริษัทในคำบัญญัติใหม่ตามภาษาไทยว่า  พุทธศาสนิกชน  และมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า  ชาวพุทธ  ในเวลาต่อมา
๑.  การเข้าใจกิจของพระภิกษุสงฆ์
      กิจธุระที่สำคัญของพระสงฆ์ มี ๒ ประการ ดังนี้
    ๑.๑  การศึกษาอบรม
           เมื่อบวชเรียน พระภิกษุจะต้องได้รับการศึกษาอบรม ๓ ด้าน เรียกว่า
ไตรสิกขา”  (ศีล สมาธิ ปัญญา)  โดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ได้แก่
           ๑.  ด้านศีล  การศึกษาอบรมด้านศีล  คือ  การควบคุมกายและวาจาให้เป็นระเบียบเรียบร้อยหรือปกติ ศีลของพระภิกษุสงฆ์ มี ๒ ประเภท  คือ

               ๑.๑  ศีลในปาติโมกข์  คือ  ศีลของพระภิกษุ ๒๒๗ ข้อและศีลของภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ
               ๑.๒  ศีลนอกปาติโมกข์  คือ  ข้อบัญญัติเกี่ยวกับมารยาทต่าง ๆ  ที่พระภิกษุและ
ภิกษุณีพึงต้องปฏิบัติ  นอกเหนือจากศีลที่กล่าวมาข้างต้น                       
           ๒.  ด้านสมาธิ  คือ  การฝึกพัฒนาจิตให้มีคุณภาพ จิตที่ผ่านการฝึกฝนอบรมแล้วจะ
มีสุขภาพจิตดี และมีความเข้มแข็งอดทน การฝึกจิตให้มีคุณภาพ ทำได้ ๒ วิธี  คือ
สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
               ๒.๑  การฝึกสมถภาวนา  คือ  การตั้งสติเพื่อให้จิตหยุดนิ่งหรือสงบ โดยวิธี
ต่าง ๆ (มีถึง ๔๐ วิธี)  จนจิตเกิดสมาธิ  เมื่อจิตสงบแล้วก็สามารถกำจัดกิเลสสิ่งมัวหมอง
บางอย่างในจิตใจออกไปได้ เป้าหมายคือการฝึกจิตให้สงบ และกำจัดกิเลสได้เป็นครั้งคราว
               ๒.๒  การฝึกวิปัสสนาภาวนา  เป็นขั้นที่ทำต่อจากสมถภาวนา  เมื่อจิตเกิดสมาธิ
แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ  ทั้งหลายในโลกให้เห็นความจริง  คือ  ความไม่เที่ยง การมีทุกข์
และไม่ใช่ของเราจนจิตเกิดการปล่อยวาง  ไม่ยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้น  จิตจึงหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้
เป้าหมายของการฝึกวิปัสสนาภาวนา  คือ  การใช้ปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งและกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด
          ๓.  ด้านปัญญา  พระสงฆ์จะต้องศึกษาอบรมให้เป็นผู้มีปัญญา  เพื่อให้เป็นที่
เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน  ในฐานะที่เป็นผู้นำทางปัญญาของชาวบ้าน ปัญญาในที่นี้มี ๒ ระดับ คือ
              ๓.๑  ปัญญาระดับสุตะ  เป็นความรู้ทางโลกทั่ว ๆ  ไป  พระสงฆ์ได้รับความรู้จาก
การฟังและการอ่าน  เพื่อให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านได้ เช่น ความรู้ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ
และการประกอบวิชาชีพพื้นฐานต่าง ๆ  เป็นต้น
              ๓.๒  ปัญญาระดับญาณ  คือ  ความสามารถหยั่งรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
โดยได้มาจากการฝึกสมาธิวิปัสสนา

๑.๒  การปฏิบัติธรรมและเป็นนักบวชที่ดี
          เมื่อศึกษาอบรมด้านศีล สมาธิ และปัญญาอย่างถ่องแท้แล้วพระภิกษุจะต้องนำความรู้
ที่ได้รับไปปฏิบัติ  โดยเผยแพร่หลักธรรมคำสอนให้แก่ชาวพุทธ กิจของสงฆ์ในข้อนี้ คือ
          ๑.  ทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี  และสร้างศรัทธาความเลื่อมใสให้เกิดแก่
พุทธศาสนิกชน โดยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ  และรักษาศีลวินัยโดยเคร่งครัด  ทำให้เกิดความประทับใจ
แก่ผู้ได้พบเห็น
          ๒.  อธิบายให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา  เมื่อเกิดการเข้าใจ
ผิด หรือคลาดเคลื่อนในการตีความหมายในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ
ให้ถูกต้อง
          ๓.  สอนให้ละเว้นความชั่ว  กลัวบาป  และหมั่นทำแต่กรรมดี  ทั้งนี้  หลักธรรมที่
นำมาเผยแพร่ต้องให้เหมาะสมกับระดับความรู้และพื้นฐานของแต่ละบุคคลด้วย  ได้แก่
              ๓.๑  ระดับพื้นฐาน  เน้นที่ความสำเร็จในการดำเนินชีวิต  พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ
และมีความสุขแบบชาวโลก เช่น มีความครัวที่ดี ขยันในการประกอบอาชีพ และเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นต้น
              ๓.๒  ระดับกลาง  เน้นให้มีคุณธรรม และจริยธรรม
              ๓.๓  ระดับสูง  เน้นที่การกำจัดกิเลสทั้งปวง จนเข้าสู่ภาวะนิพพาน
๔.  สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพไว้สืบทอดพระพุทธศาสนา พระสงฆ์จะต้องสร้าง
ทายาทไว้ทำหน้าที่สืบทอดกิจการพระศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป โดยพิจารณาจากผู้มีความรู้
ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี  มีความประพฤติดี และมีความสามารถในการถ่ายทอด  เป็นต้น
๒.  คุณสมบัติของทายกและปฏิคาหก
     ทายก  หมายถึง  ผู้ให้ทาน    ปฏิคาหก  หมายถึง  ผู้รับทาน
     ในพระพุทธศาสนา  ทานหรือการให้เป็นวิธีการทำบุญวิธีหนึ่ง
การให้นั้นนอกจากเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว  ยังเป็นการช่วยขัดเกลาจิตใจผู้ให้ให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ด้วย
การให้แบ่งเป็น    ประเภท  ดังนี้
     ๑.  ให้วัตถุสิ่งของ  เช่น  เงิน  อาหาร  เสื้อผ้า  รวมถึงการออกแรงกายช่วยเหลือผู้อื่นด้วย
     ๒.  ให้ความรู้  เช่น  ช่วยทบทวนวิชาที่เพื่อนขาดเรียนเพราะเหตุจำเป็น  ช่วยเตือนสติ
ช่วยให้ข้อมูลต่าง ๆ  เป็นต้น
     ๓.  ให้อภัย  คือ  ระงับความโกรธ ไม่ถือโทษเมื่อผู้ทำผิดโดยมีตั้งใจไม่อาฆาต และความ


ตั้งใจงดเว้นไม่ประพฤติผิดศีล  รักษาศีล    ให้บริสุทธิ์
การให้ที่ดีนั้นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้ให้ (ทายก) และผู้รับ (ปฏิคาหก)  ด้วยดังนี้
     ๑.  ให้ทานแก่บุคคลควรให้
             การให้ทานแก่คนที่ไม่ควรให้นั้น  นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้วยังอาจเป็นโทษด้วย
เช่น  คนที่ดื่มเหล้าจนเมามายแล้วมาขอเงินเราเพื่อไปซื้อมาดื่มอีก  อย่างนี้ไม่ควรให้
เพื่อนที่เล่นการพนันจนติดเป็นนิสัย  มาขอเงินหรือขออาหารเราก็ไม่ควรให้
เพราะประพฤติตนไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  อีกทั้งยังไม่รู้จักประกอบสัมมาอาชีวะ
หรือคนที่มีร่างกายแข็งแรงแต่มีความเกียจคร้าน  วานให้เราช่วยยกของให้  เราก็ไม่ควรทำ  แต่ถ้าเป็นคนเจ็บ
ทุพพลภาพ  คนชรา  สตรีมีครรภ์  อย่างนี้เราควรทำให้  บุคคลเช่นไรที่เราควรให้ทานนั้น
เราต้องใช้เหตุผลไตร่ตรองพินิจพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
     ๒.  ให้ในสิ่งที่ควรให้
             ของที่เราให้ทานนั้นต้องเป็นของบริสุทธิ์  และเราได้มาโดยชอบธรรม  มิใช่ไปลักขโมยหรือฉ้อโกงเขามา
และจะต้องไม่มีพิษมีภัย  มีแต่ประโยชน์แก่ผู้รับ  เช่น  เราไม่ควรให้อาวุธหรือยาเสพติดแก่ใคร
เพราะการให้สิ่งที่เป็นโทษแก่ผู้รับนั้น  ไม่ถือว่าเป็นทาน  แต่เป็นการทำร้ายมากกว่า
     ๓.  ให้ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์
             การให้ที่ดีจะต้องเกิดจากเจตนาที่บริสุทธิ์และเต็มใจให้  กล่าวคือ  ก่อนให้ก็มีความยินดีที่จะให้
และคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ  ขณะที่ให้ก็มีจิตใจผ่องใส  ไม่คิดเสียดายหรือลังเลใจ  และเมื่อให้ไปแล้ว
ก็รู้สึกเบิกบานใจที่ได้ประกอบความดี  ทำคุณประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ การให้ที่ดีจะต้องถึงพร้อมด้วยองค์    ข้างต้น
ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า  “ทานสมบัติ  ”  ได้แก่  เขตสมบัติ  คือ  ผู้รับถึงพร้อม    ไทยสมบัติ
คือ  ของที่ให้ถึงพร้อม    และจิตสมบัติ  คือ  เจตนาถึงพร้อม
๓.  การรักษาศีล 
      การรักษาศีล ๘  หรือการรักษาอุโบสถศีลเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบหรือการประพฤติไม่ดี
ทางกาย  วาจา  ใจ  ชนิดที่เห็นได้ง่าย  ได้ชัด  เกิดแก่คนทั่ว ๆไป  ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะชั้นชนใด
ตามปกติการขจัดขัดเกลากิเลสดังกล่าวสำหรับปุถุชนคนธรรมดาถือว่ารักษาศีล   ก็นับว่าเพียงพอ
แต่สำหรับผู้ที่จะละกิเลสให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็อาจรักษาศีล    ซึ่งเป็นศีลที่ทำให้ละความสะดวกสบาย
ความสวยความงามและความน่าพึงพอใจทางกายต่าง ๆ  อันเป็นการละกามกิเลสเพิ่มขึ้น
บางคนที่เคร่งครัดก็รักษาเป็นปกติ  บางคนที่ยังไม่สะดวกก็ควรตั้งใจรักษาศีล    คราวละ    วัน
วันรับวันหนึ่ง  วันรักษาวันหนึ่ง  และวันส่งอีกวันหนึ่ง  เช่น  จะรักษาในวันพระ    ค่ำ
ก็ต้องเริ่มตั้งแต่วัน    ค่ำ  ไปจนสิ้นวัน    ค่ำ  คือ  รุ่งอรุณของวัน  ๑๐  ค่ำ  โดยทั่วไปมักรักษาศีล 
ในวันพระหรือวันอุโบสถเพียงวันเดียว  คือวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง
     การรักษาศีล    แม้ไม่ใช่นิจศีล  คือ  ศีลที่รักษาเป็นประจำซึ่งได้แก่ศีล    แต่ก็ควรถือเป็นหน้าที่
ของชาวพุทธที่จะหาโอกาสรักษาศีล    บ้าง  อย่างน้อยเพื่อให้มีประสบการณ์ในการรักษาศีลที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติ
อันเป็นการทำให้เราเป็นคนมีศีลเพิ่มขึ้น  ขจัดกิเลสที่ละเอียดมากขึ้นกว่าศีล 
     ๑.  ระเบียบพิธี  กรมการศาสนาได้กำหนดระเบียบพิธีรักษาศีล    ไว้ดังนี้
          ๑.๑  เมื่อตั้งใจจะรักษาศีล    ในวันพระใด พึงตื่นแต่เช้าก่อนรุ่งอรุณ คือ  ๐๖.๐๐  น.   เตรียมตัวอาบน้ำแต่งกายให้สะอาดแล้วบูชาพระเปล่งวาจาอธิษฐานอุโบสถด้วยตัวเองว่า        
อิมํ  อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ  พุทฺธปญฺญตฺตํ  อุโปสถํ  อิมญฺจ  รตฺตึ  อิมญฺจ  ทิวสํ
สมฺมเทว  อภิรกฺขิตุ ํ สมาทิยามิ”  แปลว่า  “ข้าพเจ้าขอสมาทานอุโบสถพุทธบัญญัติ
ประกอบด้วยองค์    ประการนี้  เพื่อจะรักษาไว้ให้ดีมิให้ขาด  มิให้ทำลาย  ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งในเวลาวันนี้”  เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้วจึงไปวัดเพื่อรับสมาทานอุโบสถศีลต่อ
          ๑.๒  อุบาสก อุบาสิกา  พึงร่วมกันทำวัตรเช้าหลังจากภิกษุสามเณรทำวัตรเสร็จแล้ว
          ๑.๓  เมื่อทำวัตรเสร็จ  หัวหน้าอุบาสก อุบาสิกา  พึงคุกเข่าประนมมือประกาศอุโบสถทั้งคำบาลีและคำไทยดังนี้
คำประกาศองค์อุโบสถ  และคำแปล
     อชฺช  โภนฺโต  ปกฺขสฺส  อฏฺมีทิวโส  เอวรูโป  โข  โภนฺโต  ทิวโส
พุทฺเธน  ภควตา   ปญฺญตฺตสฺส  ธมฺมสฺสวนสฺส  เจว   ตทตฺถาย  อุปาสกอุปาสิกานํ
อุโปสถสฺส    กาโล  โหติ  หนฺท  มยํ  โภนฺโต  สพฺเพ  อิธ สมาคตา   ตสฺส  ภควโต
ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติยา  ปูชนตฺถาย  อิมญฺจ  รตฺตึ  อิมญฺจ  ทิวสํ  อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ  อุโปสถํ
อุปวสิสฺสามาติ   กาลปริจฺเฉทํ   กตฺวา ตํ  ตํ  เวรมณึ  อารมฺมณํ  กริตฺวา   อวิกฺขิตฺตจิตฺตา
หุตฺวา  สกฺกจฺจํ  อุโปสถํ  สมาทิเยยฺยาม  อีทิสํ  หิ  อุโปสถํ  สมฺปตฺตานํ  อมฺหากํ  ชีวิตํ มา  นิรตฺถกํ  โหตุ 
               ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะสมาทานรักษาอุโบสถ อันพร้อมไปด้วยองค์แปดประการให้สาธุชน
ที่ได้ตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกัน ก่อนแต่สมาทาน ณ บัดนี้  ด้วยวันนี้เป็น  วันอัฎฐมีดิถีที่แปด
แห่งปักษ์มาถึงแล้วก็แหละวันเช่นนี้ เป็นกาลที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ให้ประชุมฟังธรรม
และเป็นการที่จะรักษาอุโบสถของอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย  เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรมนั้นด้วย
เชิญเถิด  เราทั้งหลายทั้งปวงที่ได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้  พึงกำหนดกาลว่าจะรักษาอุโบสถตลอดกาล
วันหนึ่งกับคืนหนึ่งนี้ แล้วพึงทำความเว้นโทษนั้น ๆ  เป็นอารมณ์ (คือ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒ เว้นจากลักฉ้อสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้
๓ เว้นจากประพฤติกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์   ๔ เว้นจากเจรจาคำเท็จ ล่อลวงผู้อื่น  
๕เว้นจากดื่มสุราเมรัยอันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท
๖ เว้นจากบริโภคอาหารตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์เที่ยงแล้วไปจนถึงเวลาอรุณขึ้นมาใหม่  
๗ เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีต่าง ๆ แต่บรรดาที่เป็นข้าศึกแก่กุศลทั้งสิ้น
และทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม  เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม
ผัดผิวทำกายให้วิจิตรงดงามต่าง ๆ อันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี
๘ เว้นจากนั่งนอนเหนือเตียงตั่งม้าที่มีเท้าสูงเกินประมาณและที่นั่งที่นอนใหญ่ ภายในมีนุ่นและสำลี
เครื่องปูลาดที่วิจิตรด้วยเงินและทองต่าง ๆ )  อย่าให้มีจิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น
พึงสมาทานเอาองค์อุโบสถทั้งแปดประการโดยเคารพ  เพื่อจะบูชาสมเด็จพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้านั้น
ด้วยธรรมานุธรรมปฏิบัติ  อนึ่ง  ชีวิตของเราทั้งหลายที่ได้เป็นอยู่รอดมาถึงวันอุโบสถเช่นนี้
จงอย่าได้ล่วงไปเสียเปล่าจากประโยชน์เลยฯ 
              คำประกาศนี้สำหรับวันพระ ๘ ค่ำ  ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม  ถ้าเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ
เปลี่ยนบาลีเฉพาะคำ อฏฺฐมีทิวโส เป็น ปณฺณรสีทิวโส  และเปลี่ยนคำไทยที่เป็นตัวเอนว่า
วันปัณณรสีดีถีที่สิบห้า” ถ้าเป็นวันพระ ๑๔ ค่ำ  เปลี่ยนบาลีตรงนั้นว่า จาตุทฺทสีทิวโส
และเปลี่ยนคำไทยแห่งเดียวกันว่า “วันจาตุททสีดิถีที่สิบสี่” สำหรับคำไทยภายในวงเล็บจะว่าด้วยก็ได้
ไม่ว่าด้วยก็ได้  แต่มีนิยมอยู่ว่าในวัดใดที่ท่านให้สมาทานอุโบสถ  บอกให้สมาทานทั้งวงเล็บ
เพราะพระท่านจะบอกให้สมาทานเมื่อจบประกาศนี้แล้ว  สำหรับวัดที่ท่านให้สมาทานอุโบสถศีล
แต่เฉพาะคำบาลีเท่านั้นไม่บอกคำแปลด้วย  เวลาประกาศก่อนสมาทานนี้  ควรว่าความในวงเล็บทั้งหมด
          ๑.๔  เมื่อหัวหน้าประกาศจบแล้ว  พระสงฆ์ผู้แสดงธรรมขึ้นนั่งบนธรรมาสน์
อุบาสก อุบาสิกา ทุกคน  พึงนั่งคุกเข่ากราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง  แล้วกล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน ๓ ครั้ง
แล้วกล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน ว่าดังนี้
              มยํ  ภนฺเต  ติสรเณน  สห  อฏฐงฺคสมนฺนาคตํ  อุโปสถํ  ยาจาม (ว่า ๓ จบ)
ต่อนี้ คอยตั้งใจรับสรณคมน์และศีลโดยเคารพ  คือ  ประนมมือ
          ๑.๕  พึงว่าตามคำที่พระสงฆ์บอกเป็นตอน ๆไป  คือ
                        นโม ......................  (๓ จบ)
                        พุทฺธํ  สรณํ  คจฺฉามิ  ฯลฯ
                        ตติยมฺปิ  สงฺฆํ  สรณํ  คจฺฉามิ
เมื่อพระสงฆ์ว่า ติสรณคมนํ  นิฎฺฐิตํพึงรับพร้อมกันว่า อาม  ภนฺเต
แล้วท่านจะให้ศีลต่อไป  คอยรับพร้อมกันตามระยะที่ท่านหยุด  ดังต่อไปนี้
๑.  ปาณาติปาตา  เวรมณี สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
๒.  อทินฺนาทานา  เวรมณี สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
๓.  อพฺรหฺมจริยา  เวรมณี สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
๔.  มุสาวาทา  เวรมณี สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
๕.  สุราเมรยมชฺชปมาทฎฺฐานา  เวรมณี สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
๖.  วิกาลโภชนา  เวรมณี สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
๗.  นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนามาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา
เวรมณี สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
๘.  อุจฺจาสยนมหาสยนา  เวรมณี สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
อิมํ  อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ   พุทฺธปญฺญตฺตํ  อุโปสถํ  อิมญฺจ  รตฺตึ  อิมญฺจ  ทิวสํ
สมฺมเทว อภิรกฺขิตุ ํ  สมาทิยามิ.
หยุดรับเพียงเท่านี้  ในการให้ศีลอุโบสถนี้  ตลอดถึงคำสมาทานท้ายศีล บางวัดให้เฉพาะ คำบาลี  มิได้แปลให้  บางวัดให้คำแปลด้วยทั้งนี้สุดแต่นิยมอย่างใดตามความเหมาะสมของบุคคลและสถานที่นั้น ๆ
ถ้าท่านแปลให้ด้วยก็พึงว่าตามเป็นข้อ ๆ  และคำ ๆ  ไปจนจบต่อนี้พระสงฆ์จะว่า
อิมานิ  อฏฺฐ  สิกฺขาปทานิ  อโปสถวเสน  มนสิกริตฺวา  สาธุกํ  อปฺปมาเทน  รกฺขิตพฺพานิ
พึงรับพร้อมกันว่า  “อาม  ภนฺเต”  แล้วพระสงฆ์จะว่าอานิสงส์ศีลต่อไป  ดังนี้
                สีเลน  สุคตึ  ยนฺติ  สีเลน  โภคสมฺปทา
                สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ  ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเยฯ
พอท่านว่าจบ  พึงกราบพร้อมกัน    ครั้ง  ต่อนี้นั่งราบพับเพียบประนมมือฟังธรรม  ซึ่งท่านจะได้แสดงต่อไป
          ๑.๖  เมื่อพระแสดงธรรมจบแล้ว  ทุกคนพึงให้สาธุการและสวดประกาศตนพร้อมกัน  ดังนี้
สาธุ  สาธุ  สาธุ
      อหํ  พุทฺธญฺจ  ธมฺมญฺจ                    สงฺฆญฺจ  สรณํ  คโต
      อุปาสกตฺตํ  เทเสสึ                          ภิกฺขุสงฺฆสฺส  สมฺมุขา
      เอตํ  เม  สรณํ  เขมํ                        เอตํ  สรณมุตฺตมํ
      เอตํ  สรณมาคมฺม                          สพฺพทุกฺขา  ปมุจฺจเย
      ยถาพลํ  เจรยฺยาหํ                          สมฺมาสมฺพุทฺธสาสนํ
      ทุกฺขนิสฺสรณสฺเสว                           ภาคี  อสฺสํ  อนาคเต 
                        คำสวดประกาศข้างต้นนี้  ถ้าผู้ว่าเป็นหญิงพึงเปลี่ยนคำที่ขีดเส้นใต้ไว้  คือ  คโต
เปลี่ยนเป็นว่า คตา อุปสากตฺตํ เปลี่ยนเป็นว่า อุปาสิกตฺตํ และ ภาคี อสฺสํ  เปลี่ยนเป็นว่า ภาคินิสฺสํ
นอกนั้นว่าเหมือนกัน เมื่อสวดประกาศนี้จบแล้ว  พึงกราบพร้อมกันอีก    ครั้ง  เป็นอันเสร็จพิธีตอนเช้าเพียงเท่านี้
          ๑.๗  ต่อนี้ผู้รักษาอุโบสถพึงยับยั้งอยู่ที่วัด  ด้วยการนั่งสนทนาธรรมกันบ้าง  ภาวนากัมมัฏฐาน
ตามสัปปายะของตนบ้าง  หรือจะท่องบ่นสวดมนต์และอ่านหนังสือธรรมอะไร ๆ ก็ได้  ถึงเวลาพึงรับประทานอาหารเพล
ให้เสร็จทันกาลก่อนเที่ยง  เสร็จแล้วจะพักผ่อนหรือปฏิบัติอะไรที่ปราศจากโทษ   ก็แล้วแต่อัธยาศัย
พอได้เวลาบ่ายหรือเย็นจวนค่ำพึงประชุมกันทำวัตรค่ำตามแบบนิยมของวัดนั้น ๆ ในภาคบ่ายจนถึงเย็นนี้
บางแห่งทางวัดจัดให้มีเทศน์โปรดอีกกัณฑ์หนึ่ง ถ้ามีเทศน์  พระผู้เทศน์จะลงมาเทศน์  เมื่อจบทำวัตรตอนนี้
หัวหน้าพึงนั่งคุกเข่ากราบพระ    ครั้ง  แล้วกล่าวอาราธนาธรรมพิเศษโดยเฉพาะว่าดังนี้
      จาตุทฺทสี  ปณฺณรสี                     ยา    ปกฺขสฺส  อฏฺฐมี
      กาลา  พุทฺเธน  ปญฺญตฺตา            สทฺธมฺมสฺสวนสฺสิเม
      อฏฺฐมี  โข  อยนฺทานิ                  สมฺปตฺตา  อภิลกฺขิตา
      เตนายํ  ปริสา  ธมฺมํ                   โสตุ ํ  อิธ  สมาคตา
      สาธุ  อยฺโย  ภิกฺขุสงฺโฆ                กโรตุ  ธมฺมเทสนํ
      อยญฺจ  ปริสา  สพฺพา                  อฏฺฐิกตฺวา  สุณาตุ  ตนฺติ 
คาถาอาราธนาธรรมนี้  ใช้เฉพาะวันพระ    ค่ำ  ทั้งข้างขึ้นข้างแรม  ถ้าเป็นวันพระ
๑๕  ค่ำ  เปลี่ยนคำที่ขีดเส้นใต้ไว้เป็นว่า  “ปณฺณรสี”  ถ้าเป็นวันพระ  ๑๔  ค่ำ  เปลี่ยนคำนั้นเป็นว่า
จาตุทฺทสี”  นอกนั้นเหมือนกัน
          ๑.๘  เมื่ออาราธนาจบแล้ว  พระจะขึ้นแสดงธรรม  พึงนั่งฟังธรรมโดยเคารพอย่างพิธีตอนเช้า 
พอเทศน์จบ  ทุกคนพึงให้สาธุการและสวดประกาศตนพร้อมกัน  อย่างเดียวกับที่ว่าท้ายเทศน์ในภาคเช้า
และสวดประกาศต่อท้ายติดต่อกันไปอีกว่า
                    กาเยน  วาจาย    เจตสา  วา
                    พุทฺเธ  กุกมฺมํ  ปกตํ  มยา  ยํ
                    พุทฺโธ  ปฏิคฺคณฺหตุ  อจฺจยนฺตํ
                    กาลนฺตเร  สํวริตุ ํ ว  พุทฺเธ 
                    กาเยน  วาจาย    เจตสา  วา
                    ธมฺเม  กุกมฺมํ  ปกตํ  มยา  ยํ
                    ธมฺโม  ปฏิคฺคณฺหตุ  อจฺจยนฺตํ
                    กาลนฺตเร  สํวริตุ ํ    ธมฺเม 
                    กาเยน  วาจาย    เจตสา  วา
                    สงฺเฆ  กุกมฺมํ  ปกตํ  มยา  ยํ
                    สงฺโฆ  ปฏิคฺคณฺหตุ  อจฺจยนฺตํ
                    กาลนุตเร  สํวริตุ ํ    สงฺเฆ 
          ๑.๙  ถ้าไม่มีเทศน์กัณฑ์เย็น  พอทำวัตรจบผู้ประสงค์จะกลับไปพักผ่อนที่บ้าน
พึงขึ้นไปลาหัวหน้าสงฆ์บนกุฏิ  หรือหัวหน้าสงฆ์จะลงมารับในที่ประชุม  ก็แล้วแต่ธรรมเนียมของวัดนั้น ๆ
ส่วนผู้ประสงค์จะค้างที่วัดไม่กลับบ้านก็ไม่ต้องลา  แต่ถ้ามีเทศน์ด้วยดังกล่าวผู้จะกลับบ้านพึงบอกลาต่อพระผู้เทศน์ 
เมื่อสวดประกาศตอนท้ายเทศน์จบลงแล้วลากลับได้ทันที  คำลากลับบ้านพึงว่าดังนี้
                   หนฺททานิ  มยํ  ภนฺเต   อาปุจฺฉาม พหุกิจฺจา  พหุกรณียา.
พระสงฆ์ผู้รับลา  จะเป็นในที่ประชุมฟังเทศน์หรือบนกุฏิก็ตาม  พึงกล่าวคำว่า
ยสฺสทานิ  ตุมฺเห  กาลํ  มญฺญถ”  ผู้ลาพึงรับคำพระพร้อมกันว่า  “สาธุ  ภนฺเต
แล้วกราบพร้อมกัน    ครั้ง  เป็นอันเสร็จพิธี ฯ (กรมการศาสนา, ๒๕๔๕, หน้า ๑๖ ๒๑)
๔.  การเข้าร่วมกิจกรรมและเป็นสมาชิกขององค์กรชาวพุทธ
                องค์กรชาวพุทธ  คือ  หน่วยงาน  กลุ่ม  หรือชมรมชาวพุทธที่รวมตัวกันเพื่อทำงานด้านพระพุทธศาสนา  โดยมีแนวคิดและมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาร่วมกันเป็นเอกภาพ  และปฏิบัติหน้าที่ในเป้าหมายเดียวกัน  คือ  เพื่อสร้างสรรค์สันติสุขแก่สังคม
                ประเภทขององค์กรชาวพุทธ  ปัจจุบันองค์กรชาวพุทธมีหลายองค์กร  มีทั้งองค์กรที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียน  แต่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมเฉพาะกิจหรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอื่นที่มุ่งเน้นความคล่องตัวในการดำเนินงาน  ตัวอย่างองค์กรชาวพุทธเช่น  สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ  ในพระบรมราชูปถัมภ์  ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพุทธศาสนาและสังคมไทย  (คพส.)  กลุ่มวิชาการชาวพุทธ  ชมรมรักพระพุทธศาสนา  เป็นต้น  องค์กรชาวพุทธที่ใหญ่ที่สุด  คือ  องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.)
                ภารกิจหรือหน้าที่หลักขององค์กรชาวพุทธ  คือ  เผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา
                เราฐานะเป็นชาวพุทธ  รักพระพุทธศาสนา  ต้องการให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ต่อไป  ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม หรือเป็นสมาชิกขององค์กรชาวพุทธดังกล่าวตามโอกาสอันสมควร  ทั้งนี้เพราะนอกจากจะช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ได้ผลดีแล้ว  หากมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอันเป็นสาเหตุทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสียและ   มัวหมอง  การดำเนินงานในรูปขององค์กรเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนายังจะช่วยให้เกิดพลังอำนาจและเกิดผลในทางปฏิบัติ  สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังเช่นในกรณีที่มีบาร์แห่งหนึ่งในประเทศเดนมาร์กใช้ชื่อว่า  พุทธบาร์  มีรูปวาดพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่เป็นโลโก้อยู่หน้าร้าน  การกระทำดังกล่าวถือว่ากระทำย่ำยีจิตใจชาวพุทธเป็นอย่างมาก  ชาวพุทธและองค์กรชาวพุทธ  เช่น  สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ  ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา  เป็นต้น  จึงได้ร่วมกันทำหนังสือประท้วงร้องเรียนไปยังสถานทูตเดนมาร์กในฐานะที่เป็นประเทศต้นสังกัดให้แจ้งเจ้าของบาร์ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน  เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระพุทธศาสนาและย่ำยีจิตใจชาวพุทธ  ต่อมาสถานทูตเดนมาร์กได้ทำหนังสือแจ้งมาว่าเจ้าของบาร์ได้แสดงความเสียใจและรื้อป้ายพร้อมโลโก้ดังกล่าวออกแล้ว
                นอกจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้แล้ว  ยังมีเหตุการณ์อีกหลายเหตุการณ์ที่เป็นการดูหมิ่นพระพุทธศาสนา  และกระทำย่ำยีจิตใจของชาวพุทธ  ทั้งที่เกิดจากการกระทำของชาวพุทธเอง  และเกิดจากการกระทำของชาวต่างชาติต่างศาสนา  ดังนั้น  ชาวพุทธทุกคนจึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (จรัส  พยัคฆราชศักดิ์ และกวี  อิศริวรรณ, ๒๕๔๖, หน้า ๑๔๘)
๕.  การปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดีตามหลักทิศเบื้องบนของทิศ 
                ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม  ทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับสถานภาพและบทบาทที่ตนดำรงอยู่  เป็นบิดามารดามีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรให้เจริญเติบโต  เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ  เป็นครูอาจารย์มีหน้าที่สอนและอบรมศีลธรรมจรรยาให้ศิษย์มีความรู้และประพฤติตนเป็นคนดี  เป็นนักเรียนมีหน้าที่เรียนหนังสือ  เชื่อฟังพ่อแม่และครูอาจารย์  มีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรในสังคมก็พยายามปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ ให้ดีที่สุด  ในพระพุทธศาสนาก็ได้กล่าวถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในลักษณะเช่นนี้ไว้เหมือนกัน  โดยพระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ในหลัก  ทิศ 
ในสิงคาลกสูตร  การปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบตามหลักทิศ    ได้ถูกต้อง  ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ดี
                ทิศ    หมายถึง  บุคคลประเภทต่าง ๆ  ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางสังคม  มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงปฏิบัติต่อกัน  ดังนี้
๑.   ทิศเบื้องหน้า  (ปุรัตถิมทิศ)          ได้แก่      บิดามารดา
๒.  ทิศเบื้องขวา   (ทักขิณทิศ)           ได้แก่      ครูอาจารย์
๓.  ทิศเบื้องหลัง  (ปัจฉิมทิศ)            ได้แก่      บุตรภรรยา
๔.  ทิศเบื้องซ้าย   (อุตตรทิศ)             ได้แก่      มิตรสหาย
๕.  ทิศเบื้องล่าง   (เหฏฐิมทิศ)          ได้แก่      ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและลูกจ้าง
๖.  ทิศเบื้องบน     (อุปริมทิศ)            ได้แก่      พระภิกษุสงฆ์
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะทิศเบื้องบน  ได้แก่  พระภิกษุสงฆ์  เท่านั้น
                พระภิกษุสงฆ์  คือ  ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา  เป็นผู้ที่สละความสุขทางโลกและความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน  ยินยอมพร้อมใจจะประพฤติพรหมจรรย์  มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อชาวบ้านตามหลักทิศเบื้องบนในทิศ    ดังนี้
๑.  ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว
๒.  สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
๓.  อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดีและน้ำใจอันดีงาม
๔.  ให้ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง  (หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
๕.  อธิบายสิ่งที่เคยฟังมาแล้วแต่ยังไม่แจ่มแจ้งและสงสัยให้เข้าใจชัดเจน  แจ่มแจ้ง
และหายสงสัย
๖.  แนะนำแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ชาวบ้านปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง  ประพฤติในสิ่งที่ดี
งามเพื่อความสุขในชีวิต
ในส่วนของชาวบ้าน  มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อพระภิกษุสงฆ์ตามหลักทิศ    ดังนี้
๑.  จะทำสิ่งใดต่อพระภิกษุสงฆ์  ก็ทำด้วยเมตตา
๒.  จะพูดสิ่งใดกับพระภิกษุสงฆ์  ก็พูดด้วยเมตตา
๓.  จะคิดสิ่งใดกับพระภิกษุสงฆ์  ก็คิดด้วยเมตตา
๔.  เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาถึงบ้าน  ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๕.  อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ด้วยปัจจัย    ได้แก่  อาหารบิณฑบาต  ยารักษาโรค  เสนาสนะ  (ที่อยู่อาศัย)  และเครื่องนุ่งห่ม  (สบง  จีวร  สังฆาฏิ)  ถ้าชาวพุทธต่างรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตน  และปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบนั้น ๆ  ให้ดีที่สุดก็เรียกได้ว่า  เป็นชาวพุทธที่ดีแล้ว


๖.  การเข้าค่ายพุทธธรรม
     การเข้าค่ายพุทธธรรม  คือ  การสมัครเข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรมระยะสั้นตามที่โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา  หรือหน่วยงานที่ตนสังกัดจัดขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยมากมักเป็น ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน และ ๑๕ วัน เป็นต้น
การเข้าค่ายพุทธธรรม หรือเรียกว่า ค่ายพุทธบุตร  เป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนหรือเยาวชนได้มีโอกาสศึกษา และปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่วัย จะได้พัฒนาตนเองและสร้างสรรค์สังคม โดยรู้ซึ้งถึงหลักธรรม มีความรักความศรัทธา มีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา รวมถึงเพื่อยกระดับจิตใจให้มั่นคงมีคุณธรรม การเข้าค่ายพุทธธรรม เป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ควรส่งเสริม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอน
๑.  กำหนดระดับนักเรียน เยาวชน ระดับใด เช่น อายุ การศึกษา เป็นต้น เพื่อมิให้ผู้เข้าร่วม
ในกิจกรรมค่ายพุทธบุตร  มีความแตกต่างซึ่งยากง่ายต่อการดูแล
๒.  กำหนดเวลา ในการดำเนินกิจกรรมนี้  อาจเป็น ๓ วัน ๒ คืน หรือตามแต่ความ
เหมาะสมของผู้จัดดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าประสงค์
๓.  ติดต่อประสานงานเกี่ยวกับพระวิทยากร สถานที่จัดอบรม อาจเป็นวัด โรงเรียน หรือ
ตามความเหมาะสม ระยะเวลา งบประมาณ เป็นต้น
ระเบียบพิธี
๑.  ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์กล่าวนำคำบูชาพระรัตนตรัย
๒.  ผู้ดำเนินโครงการกล่าวนำ นำเสนอโครงการ ประธานกล่าวเปิดงานและมอบนักเรียน
แก่พระวิทยากร
๓.  พิธีมอบตัวเป็นศิษย์ให้นักเรียนชายนั่งคุกเข่าท่าเทพบุตร นักเรียนหญิงนั่งในท่าเทพธิดา
และให้นักเรียนกล่าวตาม มีผู้กล่าวนำ  “ข้าแต่พระอาจารย์   และครูอาจารย์ที่เคารพ   ข้าพเจ้าทั้งหลาย  จะตั้งใจศึกษาเชื่อฟังคำสั่งสอนและปฏิบัติตาม  ด้วยความเคารพทุกประการ ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจงมีแต่ความสุขความเจริญ ตลอดกาลนานเทอญ
๔.  อาราธนาศีล และสมาทานศีล ๕ ประธานสงฆ์ให้โอวาท
๕.  เข้าสู่กระบวนการอบรมตามที่แต่ละโครงการและสถานที่กำหนดขึ้น
ขอบข่ายการอบรม
๑.  ภาควิชาการพระพุทธศาสนา ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้วิชาการทาง
พระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับช่วงเวลาของการอบรม เช่น พุทธประวัติ ธรรมประยุกต์
คือการแนะนำหลักธรรมเพื่อมาผสานกับการดำเนินชีวิต ศาสนพิธี สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนพิธี มารยาทไทย เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ที่ดีงามของไทย เป็นต้น
๒.  ภาคอบรมจิตใจ มีการทำวัตรสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา เดินจงกรม แผ่เมตตา เป็น
ปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่วัยเป็นการฝึกความแน่วแน่ และความอดทนของจิต อันจะนำมาซึ่ง  การเข้าใจในอารมณ์และจิตใจของตน
๓.  ภาคนันทนาการหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมจริยธรรมและปลูกฝังเจตคติที่ดีสำหรับ
เยาวชน เช่น เกมคุณธรรม  นำความบันเทิงมาผสมกับคุณธรรม สรภัญญะ เป็นบทสวดทำนองส่งเสริมให้เกิดสติปัญญา เกิดความแช่มชื่นแก่จิตใจ การโต้วาทีธรรมะ เป็นต้น
๔.  กิจกรรมพิเศษ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมและทัศนคติที่ดี เช่น แสงเทียนแสงธรรม ที่มีเป้าหมายเพื่อรำลึกถึงพระคุณแม่ กิจกรรมจุดเทียนปัญญา เป็นการสร้างสำนึกให้เด็กรู้จักหน้าที่ และความรับผิดชอบในการกระทำความดี การทอดผ้าป่ากิเลส เป็นการบำเพ็ญสัจจะบารมี ละเลิกความชั่ว และจะตั้งใจทำแต่ความดี  เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับ
๑.  สร้างเจตคติที่ดีให้เยาวชนต่อความเข้าใจหลักการทางพระพุทธศาสนา
๒.  ผู้ที่เข้ารับการอบรมจะได้นำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันให้เป็นชีวิตที่
ดีงาม เป็นการปลูกฝังค่านิยม และพัฒนาจิตสำนึกที่ดีงามในหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม  (นพดล  ขวัญชนะภักดี, ๒๕๔๗, หน้า ๔๖ ๔๗)
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ได้จัดทำโครงการเข้าค่ายปฏิบัติธรรมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔  เป็นประจำทุกปี มีแนวปฏิบัติดังนี้
หลักสูตรในการฝึกอบรมปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ (วัดจุกเฌอ    อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา  ที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ พานักเรียนไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรม มีดังนี้
                หลักสูตรในการฝึกอบรมพัฒนาจิตของศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดฉะเชิงเทรา
อาศัย
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นเครื่องมือสำคัญในการฝึกอบรมเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีสมาธิ มีความอดทน มีความพากเพียร มีปัญญาในการทำงาน สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถดับทุกข์ทางใจได้    สร้างกำลังใจให้มีความอดทน ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามทำนองคลองธรรม นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสมบุญกุศลในระดับโลกิยะเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถรับรู้วิถีจิตของตนก่อนที่จะดับสิ้นชีวิต
การฝึกสมาธิตามแนวสติปัฏฐาน ๔  ซึ่งกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ ใช้ชื่อว่า โครงการพัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้เป็นคน เก่ง คนดี   ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารสถานศึกษาและครูอาจารย์   ในการจัดอบรมบุคลากรของสถานศึกษาหลักสูตรพัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติกระทรวงศึกษาธิการได้ยึดหลักการปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน  ๔   ดังนี้
๑.  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  คือ สติตามพิจารณากายเป็นอารมณ์ ได้แก่ การตั้งสติพิจารณาลมหายใจเข้าออก ดูอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ดูการเคลื่อนไหวหรืออิริยาบถย่อย เช่น เหลียว คู้ เหยียด ถอย ถ่าย การตั้งสติพิจารณาความสกปรกปฏิกูลแห่งร่างกาย การกำหนดดูธาตุ ๔ และการกำหนดดูความเปื่อยเน่าที่เรียกว่าอสุภะ ธรรมะหมวดนี้จะทำลายความเห็นผิดที่เรียกว่า     สุภวิปลาส คือความเห็นว่าด้วยตัวเองสวยงาม น่ารัก  น่าชม ให้กลับเห็นถูกต้องว่าเป็นสิ่งสกปรก โสโครกเต็มไปด้วยสิ่งเน่าเปื่อย น่าเกลียด
๒.  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  คือ  สติตามพิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์ ได้แก่ การตั้งสติพิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติอันได้แก่ สุข ทุกข์ และอุเบกขาเวทนา (เฉย) และต้องกำหนดไปถึงอาการปวด เมื่อย เจ็บ คัน ชา ยอก ฯลฯ ธรรมะหมวดนี้จะทำลายความเห็นผิดที่เรียกว่า        สุขวิปลาส คือ เห็นว่ารูปนามนั้นเป็นสุข ให้เห็นว่ามีเพียงทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป แต่คนที่เรามองไม่เห็นทุกข์ ก็เพราะอิริยาบถปิดบังสัจธรรมนี้ เมื่อทุกข์กายก็ขยับกาย เมื่อทุกข์ใจหงุดหงิดก็ขยับใจ(คิดไปเรื่องอื่น) พอขยับทีก็คิดว่าสุข แต่ความจริงแล้วเป็นการเริ่มทุกข์อันใหม่
๓.  จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  คือ  สติพิจารณาจิตเป็นอารมณ์ ได้แก่ การพิจารณาเฝ้าดูจิตตนในกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ กำหนดอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดูอารมณ์ ดูจิตสงบ ดูจิตฟุ้งซ่าน ดูจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ  เมื่อรู้จิตของตนเอง โดยทันปัจจุบันแล้ว จะสามารถทำลายนิจวิปลาส คือ     การเห็นว่าทุกสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ให้เห็นสัจธรรมว่าเป็นอนิจจัง คือ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
๔.  ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  คือ  สติตามพิจารณาธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ การกำหนดรู้ธรรม๕  คือ นิวรณ์ ๕  ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ และอริยสัจ ๔ ธรรมเหล่านี้จะทำลาย  อัตตวิปลาส คือ ความยึดมั่นในสัตว์ บุคคล ตัวเรา ตัวเขา ให้ได้รู้ภาวะความเป็นจริงของอนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตน
วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
๑.  การเดินจงกรม ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลังมือขาวจับข้อมือซ้ายวางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่ปลายผม กำหนดว่า ยืนหนอ ช้า ๆ ๕ ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงจนครบ ๕ ครั้ง แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกคำว่า ยืน จิตวาดมโนภาพ ร่างกายจากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือลงไปปลายเท้า กำหนดความว่า ยืน จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือขึ้นไปปลายผม กำหนดกลับไปกลับมาจนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย อย่างให้ออกไปนอกกาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้าทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๔ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิม กำหนดว่า ขาว ย่าง หนอ กำหนดในใจ คำว่า ขวาต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อมกัน ย่าง ต้องก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าที่สุดเท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่า หนอ เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า ซ้าย ย่าง หนอ คงปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ ขวา ย่าง หนอ ระยะ ในการก้าวเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน   เงยหน้า หลับตา กำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า กลับหนอ ๔ ครั้ง คำว่า กลับหนอครั้งที่ ๑  ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา ๙๐ องศา ครั้งที่ ๒ ลากเท้าซ้ายมาติดกับเท้าขวา ครั้งที่ ๓ เหมือนครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ ขณะนี้จะอยู่ในทางกลับหลังแล้วต่อไปกำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕  ครั้ง ลืมตาก้มหน้าแล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ต้องการ
๒.  การนั่ง กระทำต่อจากการเดินจงกรมอย่าให้ขาดตอนลงเมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนดยืน หนอ อีก ๕  ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่าปล่อยมือหนอ ช้า ๆ จนกว่าจะลงสุด เวลานั่งค่อย ๆ ย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดตามอาการทำไปจริง ๆ เช่น ย่อตัวหนอ เท้าพื้นหนอ คุกเข่าหนอ นั่งหนอ เป็นต้น
วิธีนั่ง  ให้นั่งขัดสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่สะดือคือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า พอง หนอ ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน      อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบ หนอ ใจนึกกับท้องที่ยุบต้องทันกัน    อย่าให้ก่อนหรือหลังกันข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่ พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้อง    ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาข้างหลังอย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบนท้องยุบลงข้างล่าง  ให้กำหนดเช่นนี้ต่อไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนดเมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติแน่นอนจะต้องมีความอดทนเพื่อเป็นการสร้างขันติบารมีไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้วการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว
ในขณะที่นั่งหรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาความเจ็บปวด เมื่อย คัน เกิดขึ้น ให้หยุดเดินหรือหยุดกำหนดพองยุบ ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า ปวดหนอ เจ็บหนอ เมื่อยหนอ คันหนอ เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว      ก็ให้กำหนดนั่งหรือเดินต่อไป
จิต  เวลานั่งอยู่หรือเดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สิน หรือคิดฟุ้งซ่าน ต่าง ๆ นานา    ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่ พร้อมกับกำหนดจิต คิดหนอ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตละหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ   ก็กำหนดเช่นกันว่า ดีใจหนอ เสียใจหนอ โกรธหนอ เป็นต้น
๓.  เวลานอน เวลานอนค่อย ๆ เอนตัวนอนพร้อมกับกำหนดตามไปว่า นอนหนอ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับอยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติมาจับที่ท้อง แล้วกำหนดว่า พอง หนอ ยุบ หนอ ต่อไปเรื่อย ๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่าจะหลับไป ตอนพอง หรือตอนยุบ
อิริยาบถต่าง ๆ การเดินไปในที่ต่าง ๆ  การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหาร และการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้ปฏิบัติต้องมีสติกำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง คือ มีสติ สัมปชัญญะ เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา   ตารางการอบรมของศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดจุกเฌอ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา (หลักสูตร ๓ วัน ๒ คืน)
วันที่หนึ่ง
เวลา 
๐๘.๐๐ ๐๙.๓๐ น.            รายงานตัว เข้าที่พัก เข้าสู่สถานที่ ประชุม
๐๙.๓๐ ๑๑.๐๐ น.            เปิดการอบรม
๑๑.๐๐ ๑๓.๐๐ น.            รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๑๓.๐๐ ๑๔.๐๐ น.            สมาทานศีล ๘  สมาทานกรรมฐาน
๑๔.๐๐ ๑๖.๐๐ น.            เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๖.๐๐ ๑๘.๐๐ น.            ดื่มน้ำปานะ ทำกิจส่วนตัว พักผ่อน อิริยาบถ
๑๘.๐๐ ๑๙.๐๐ น.           ทำวัตรสวดมนต์เย็น
๑๙.๐๐ ๒๑.๐๐ น.            เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๒๑.๐๐ น                           พักผ่อนอิริยาบถ 
วันที่สอง
เวลา       
๐๔.๓๐ น                          สัญญาณระฆังเตือน ทำกิจส่วนตัว
๐๕.๐๐ ๐๖.๐๐ น            สวดมนต์ทำวัตรเช้า
๐๖.๐๐ ๐๗.๐๐ น            เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๐๗.๐๐ ๐๘.๐๐ น.           รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๐๘.๓๐ ๑๑.๐๐ น.           เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๑.๐๐ –  ๑๓.๐๐ น.          รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๑๓.๐๐ ๑๖.๐๐ น.           เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๖.๐๐ ๑๘.๐๐ น.           ดื่มน้ำปานะ ทำกิจส่วนตัว พักผ่อน อิริยาบถ
๑๘.๐๐ ๑๙.๐๐ น.           ทำวัตรสวดมนต์เย็น
๑๙.๐๐ ๒๑.๐๐ น.           เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๒๑.๐๐ น                          พักผ่อนอิริยาบถ

วันที่สาม 
เวลา       
๐๔.๓๐ น.                           สัญญาณระฆังเตือน ทำกิจส่วนตัว
๐๕.๐๐ ๐๖.๐๐ น              สวดมนต์ทำวัตรเช้า
๐๖.๐๐ ๐๗.๐๐ น              เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๐๗.๐๐ ๐๘.๐๐ น.             รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๐๘.๓๐ ๑๑.๐๐ น.              เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๑.๐๐ ๑๓.๐๐ น.              รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๑๓.๐๐ ๑๕.๐๐ น.             เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๕.๐๐ ๑๖.๐๐ น.             ขอขมา ลาสิกขาบท พิธีปิดการอบรม
๗.  การเข้าร่วมพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
                พิธีกรรมทางศาสนา  หรือที่เรียกว่า  ศาสนพิธี  คือ  แบบอย่างหรือแบบแผนที่ควรปฏิบัติในทางศาสนา  ในทางพระพุทธศาสนา  ผู้ประกอบพิธี  คือ  พระสงฆ์  และผู้ปฏิบัติ  คือ  พุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธ  การประกอบและการปฏิบัติพิธีทางพระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์  คือ  การทำบุญอันเป็นการบำเพ็ญความดี  นำมาซึ่งความสุขและความเจริญ  ศาสนพิธีถือเป็นสื่อสำคัญสำหรับการเผยแผ่ธรรม  มีการสืบสานต่อกันมาตั้งแต่เกิดจนตาย
                ศาสนพิธีหรือพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนามีมากมาย  ได้มีการจัดแบ่งไว้เป็นหมวดหมู่ (รายละเอียดของแต่ละหมวดหมู่จะได้ศึกษาในหัวข้อศาสนพิธี)  การเข้าร่วมพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาแต่ละหมวดหมู่นั้นจะมีขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของพิธีนั้น ๆ
                อย่างไรก็ตาม  เมื่อกล่าวโดยภาพรวม  การเข้าร่วมพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวพุทธมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติดังนี้
                ๑.  ในพิธีที่มีพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบและเป็นประธานในพิธี  ชาวพุทธควรแสดงกิริยามารยาททางกาย  วาจา  และใจ  ให้สุภาพเรียบร้อย  ถูกต้องเหมาะสม  อันแสดงออกถึงความเคารพและความศรัทธาเลื่อมใส  ควรมีการจัดเตรียมและถวายเครื่องสักการะบูชาใส่ภาชนะที่เหมาะสม
                ๒.  ในขณะสมาทานศีล  กล่าวคำอาราธนาและคำถวายต่าง ๆ  ควรกล่าวด้วยเสียงดัง  ฟังชัด  กิริยาอาการต่าง ๆ  อยู่ในอาการสงบ
                ๓.  ในขณะฟังพระสวดรับพรพระหรือฟังเทศน์  ควรประนมมือ  สำรวมกาย  เมื่อพระสวดจบ  แต่ละบทหรือเทศน์จบควรยกมือขึ้นไหว้ทุกครั้งเฉพาะขณะที่พระสวด หากจะสวดบทนั้นตามไปด้วยก็ได้




                ๔.  ถ้าในพิธีการประเคนของถวายพระภิกษุสงฆ์  ก่อนถวายและหลังถวายควรน้อมไหว้    ครั้ง  การประเคนจะต้องครบองค์ประกอบการประเคน  ผู้ชายสามารถประเคนกับมือท่านได้  สำหรับผู้หญิงต้องวางของไว้บนผ้ารับประเคนที่ท่านถือไว้
                ๕.  การไปร่วมพิธีสวดพระอภิธรรม  เมื่อทักทายเจ้าภาพแล้ว  ก่อนจะทำความเคารพศพ  จะต้องกราบพระพุทธรูปเสียก่อนแล้วจึงทำความเคารพศพ  ก่อนกลับก็เช่นเดียวกัน  ต้องกราบลาพระพุทธรูปก่อนแล้วจึงกราบศพ  หากศพนั้นเป็นศพพระภิกษุจะต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์    ครั้ง
                ๖.  ในกรณีต้องนั่งเก้าอี้แถวเดียวกับพระภิกษุสงฆ์ที่มาร่วมพิธี  ผู้ชายสามารถนั่งเก้าอี้ติดกับท่านได้  แต่ผู้หญิงจะต้องนั่งห่างออกไป  หรืออาจมีผู้ชายนั่งคั่นกลาง  การจัดที่นั่งสำหรับ   พระภิกษุสงฆ์ต้องจัดไว้แถวหน้าหรือจัดแยกไว้ต่างหาก  และไม่ควรนั่งเก้าอี้ที่สูงกว่าเก้าอี้ของพระภิกษุสงฆ์
                ๗.  หากได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรในงานพิธี  ก่อนและหลังอาราธนาศีล  อาราธนาธรรม  อาราธนาพระปริตร  และกล่าวคำถวายต่าง ๆ  จะต้องกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์    ครั้งทุกครั้ง
                การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา  เราควรเตรียมตัวดังนี้
               ๑.  ชำระร่างกายและแต่งกายสุภาพเรียบร้อย  ไม่ควรใส่สีฉูดฉาด
               ๒.  ไปถึงที่ทำพิธีก่อนเวลา  โดยเฉพาะเมื่อจะช่วยจัดพิธี  ต้องไปเตรียมการก่อนเพื่อให้เสร็จทันพิธี
               ๓.  สำรวมกิริยาวาจาทั้งในขณะที่ยังไม่ได้ทำพิธี  ระหว่างทำพิธีและเสร็จพิธีแล้ว
               ๔.  ปฏิสันถารกับผู้เป็นประธานในพิธี  ผู้ที่ไปร่วมพิธีแสดงความเคารพนับถือด้วยกาย  วาจา  ใจ  ตามวัยวุฒิ  และคุณวุฒิ
               ๕.  รักษามารยาทอย่างไทย  เช่น  การค้อมตัว  เมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่  ไม่ส่งเสียงเอะอะเฮฮา
               ๖.  ทำความเคารพพระสงฆ์ที่มาทำพิธี
               ๗.  ร่วมพิธีโดยตลอด
               ๘.  เมื่อเสร็จพิธีแล้วลาเจ้าภาพหรือประธานในพิธี
               การเข้าร่วมพิธีกรรมไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมใด ๆ  ชาวพุทธจะต้องมีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนวิธีการปฏิบัติ  ตลอดจนความหมาย  เหตุผล  และความดีงามที่เกิดจากการปฏิบัติพิธีกรรมนั้น ๆ  การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การปฏิบัติและการประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย  ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

OK